xs
xsm
sm
md
lg

สมรภูมิเดือด ตลาดรถบินได้ คือเป้าหมายต่อไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะที่เทรนด์ของการเดินทางในยุคที่กำลังมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ การใช้รถยนต์แบบไร้คนขับหรือ Autonomous Car แต่ทว่ามีการวิเคราะห์ว่า โลกแห่งยานยนต์ส่วนตัวของเราอาจจะก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ และไปที่ตลาดกลุ่มใหม่ที่มีชื่อว่า Flying Car หรือรถยนต์บินได้แทนก็ได้




ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นผลผลิตใหม่ๆ จากไอเดียของแบรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังบุกเข้าสู่ตลาดรถยนต์บินได้กันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาพที่ติดตาจากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือนิยายวิทยาศาสตร์ที่เล่าถึงโลกแห่งอนาคตนั้นกำลังเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป


จริงๆ แล้วไอเดียในการผลิตรถยนต์บินได้นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และผู้ที่ถือว่าเป็นคนจุดประกายขึ้นมาคือ Henry Ford เมื่อเขาเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบที่ชื่อว่า Sky Flivver เมื่อปี 1926 แต่สุดท้ายก็ต้องล้มโครงการไปหลังจากประสบความล้มเหลวในการทดสอบ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 หลายต่อหลายฝ่ายต่างพยายามพัฒนารถยนต์บินได้ขึ้นมา แต่ดูเหมือนว่าด้วยเทคโนโลยี และ Know How ที่มีอยู่ในตอนนั้นถือเป็นเรื่องยากที่จะทำฝันให้กลายเป็นจริง จนกระทั่งแนวความคิดนี้ถูกลืมไปในช่วงปลายศตวรรษ


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่โลกยานยนต์มีความตื่นตัวในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเดินทางรูปแบบใหม่ที่ข้ามข้อจำกัดในด้านกายภาพของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนเมือง ภาพของรถยนต์บินได้จึงถูกฉายขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2010


นอกจากนั้น นับจากการเข้ามาของ Drone สำหรับการใช้งานทางอากาศในด้านต่างๆ ทำให้แนวคิดในการพัฒนาของ Flying Car มีหน้าตาที่เปลี่ยนไป จากเดิมเหมือนกับเครื่องบินเล็กติดล้อ กลายมาเป็นเหมือนกับโดรนขนาดใหญ่แบบมีที่นั่งแทน และบางรุ่นแทบจะวิ่งบนถนนไม่ได้ แต่แม้ว่าหน้าตาจะเปลี่ยนไป ในวงการก็ยังใช้คำว่า Flying Car ในการแทนที่อากาศยานสำหรับเดินทางไปไหนมาไหนเช่นเดิม ขณะที่บางคนก็เรียกอากาศยานประเภทนี้ว่า Multicopter


จนถึงตอนนี้ว่ากันว่ามีมากถึง 7 บริษัท เช่น Uber, Ehang, Volocopter ที่ทุ่มเททั้งงบประมาณและการวิจัยอย่างหนักหน่วงเพื่อเป็นรายแรกของโลกแห่งรถยนต์บินได้ และที่น่าสนใจคือ บางบริษัทได้รับการสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์ หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่เราคุ้นชื่อกันดี เช่น Sky Diver ของบริษัท Cartivator ที่มี Toyota เป็นแบ็กอัพให้ หรือ Kitty Hawk Flyer ที่มีทาง Boeing และ Wisk Aero LLC ถือหุ้นผ่านทางบริษัทในเครือ รวมถึง Terrafugia ที่เป็นแบรนด์รถยนต์บินได้รายแรกๆ ซึ่งมีทาง Geely แห่งจีนที่เป็นเจ้าของ Volvo Lotus ถือหุ้นใหญ่อยู่ หรือแม้แต่ทาง Airbus และ Hyundai เองก็มีไอเดียในการลงมือทำเอง เช่นเดียวกับ Porsche และ Audi โดยได้เปิดเผยแผนงานในการเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งรถยนต์บินได้


ทำไมหลายบริษัทถึงสนใจและทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา?


แน่นอนว่าโลกของเราหมุนเร็วขึ้นทุกวัน และความเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นและเข้ามาทดแทนในชั่วข้ามคืน รถยนต์บินได้ถูกมองว่าเป็นแบบเดียวกัน และด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ด้านของพื้นที่เมือง และกายภาพของถนน รวมถึงเส้นทางต่างๆ นานา ทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องการความรวดเร็วในการเดินทางที่ไม่มีความซับซ้อนวุ่นวาย และสามารถพาพวกเขาไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว โดยที่ไม่ยุ่งยากเหมือนกับอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น แนวคิดรถยนต์บินได้จึงถูกปัดฝุ่นและถูกนำมากลับมาพิจารณาอีกครั้ง




ในช่วงแรกของการเปิดโลกใหม่เกี่ยวกับการเดินทางนั้น ว่ากันว่าจะไปอยู่ที่ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น แท็กซี่มากกว่า เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการควบคุมและการกำหนดกติกาที่มีความชัดเจนกว่าการเป็นรถยนต์นั่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเมืองดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ก็ประกาศวิสัยทัศน์ในการนำรถยนต์บินได้แบบไร้คนขับ หรือ Autonomous Aerial Vehicle (AAV) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ และได้มีการบินทดสอบอย่างเป็นทางการไปแล้ว


ขณะที่ทางฝั่งญี่ปุ่น กลุ่ม Cartivator ที่มี โตโยต้า เป็นแบ็กอัพนั้น ก็ประกาศความสำเร็จในการทดสอบรถยนต์บินได้รุ่นแรกของพวกเขาอย่างรุ่น SD-03 ที่สนามทดสอบของโตโยต้าในญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และถือว่าการทุ่มทุนอย่างหนักหน่วงสอดคล้องกับแผนพัฒนาชาติของญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ Flying Car เกิดขึ้นจริงในประเทศภายในปี 2023




‘เรามีความตื่นเต้นอย่างมากที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบรถยนต์บินได้ที่มีมนุษย์ควบคุม ซึ่งเป็นความสำเร็จที่รวดเร็วมาก เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้นนับตั้งแต่เราก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว’ Tomohiro FUkuzawa CEO ของ Cartivator กล่าว ‘เราต้องการสื่อให้เห็นว่าอนาคตแห่งการเดินทางของคนนั้นจะต้องมีรถยนต์บินได้เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากความสะดวกสบาย และการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก เพียงแต่จำเป็นที่จะต้องสร้างประสบการณ์ให้แก่คนทั่วไปในเรื่องของความปลอดภัยในระหว่างการใช้งาน’


สำหรับ SD-03 นั้นเป็นรถยนต์บินได้ขนาดเล็กที่ใช้พื้นที่ในการจอดประมาณ 2 ช่องจอดปกติของรถยนต์ โดยในการทดสอบที่ผ่านมาคือ การบินขึ้นและลงในแนวดิ่ง ซึ่งสามารถทำได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยหากเกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้นมานั้น ทาง Skydrive บอกว่าในตัวรถจะมีมอเตอร์ถึง 8 ตัวในการสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ในขณะที่กำลังบินอยู่ และคาดว่าในปี 2023 น่าจะมีการเปิดตัวรถยนต์บินได้รุ่นแรกของค่ายนี้ออกมาให้เห็นอย่างแน่นอน





ในแง่ของราคานั้น ต้องยอมรับว่าต้นทุนในการพัฒนาและการผลิตยังเป็นปัญหาสำหรับรถยนต์บินได้ ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะอย่างตัวเลขที่ Cartivator จะใช้ในการทำตลาดจริงนั้น ราคาต่อคันจะตกอยู่ที่ 300,000-500,000 เหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับรถสปอร์ตระดับ Limited Edition คันหนึ่งเลยก็ว่าได้ ก่อนที่ราคาจะหล่นลงมาในอีกสัก 7-8 ปีข้างหน้า ซึ่งเท่ากับว่าหลังปี 2030 เป็นต้นไป จากสถานะที่อาจจะเป็นแค่ของเล่นคนรวยหรือคนบางกลุ่ม ก็อาจจะกลายเป็นของที่ทุกคนจับต้องได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลาย และก็รวมถึงรถยนต์พลังไฟฟ้าด้วยโดยทาง Cartivator ตั้งเป้าผลิตขายให้ได้ภายในปี 2028 โดยในช่วงแรกจะโกยยอดขายประมาณ 100 คัน









แน่นอนว่า 2023 คือ ปีที่หลายค่ายปักธงในการนำเสนอผลงานของตัวเอง เช่น Uber เองก็จะเปิดตัวรถยนต์บินได้ของตัวเองในปีนี้ หลังจากที่ทดสอบกับเมืองใหญ่ๆ ทั้ง ลอสแองจลิส ดัลลัส และดูไบมาตั้งแต่ปี 2016 โดยคาดว่า Uber จะใช้สิ่งที่ตัวเองทำอยู่นี้เป็นพื้นฐานในการเจาะเข้าสู่ตลาดรถยนต์สาธารณะเพื่อให้บริการกับลูกค้าตามเมืองใหญ่ๆ เป็นหลัก ซึ่ง Morgan Stanley เคยคาดการณ์เอาไว้ว่าตลาด Flying Car และ Multicopter น่าจะมีการเติบโตอย่างมาก และภายในปี 2040 น่าจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ





ตรงนี้น่าจะสัญญาณแรกที่บอกได้ว่าโลกแห่งรถยนต์บินได้ไม่ใช่เรื่องแห่งความฝันหรือเจอได้เฉพาะในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อีกต่อไป ลองดูกันว่าหลังจากปี 2023 แล้ว ทิศทางของตลาดประเภทนี้จะมีภาพที่ชัดเจนขึ้นมากน้อยแค่ไหน






กำลังโหลดความคิดเห็น