xs
xsm
sm
md
lg

BMW i Hydrogen Next : มาแน่ปี 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์







ถ้ายังจำกันได้บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) มุ่งการพัฒนาการขับเคลื่อนโดยใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 และมีต้นแบบที่สามารถแล่นได้จริงมาอวดโฉมแล้ว แต่จนแล้วจนรอด เทคโนโลยีนี้ก็ยังไม่ได้นำมาผลิตเพื่อขายจริง จนกระทั่งในปี 2020 ซึ่งมีการยืนยันแล้วว่าบีเอ็มดับเบิลยู จะผลิต i Hydrogen Next รุ่นจำหน่ายจริงออกขายในตลาดปี 2022 โดยจะมาในรูปแบบ Fuel Cell ไม่ใช่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน











บีเอ็มดับเบิลยู เคยเสนอไอเดียในการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับทดแทนการใช้น้ำมันจนคาดคิดว่านี่คือทางออกแห่งความยั่งยืน แต่สุดท้ายแนวคิดนี้ก็ไม่ได้มีการนำมาใช้แต่อย่างไร เป็นแค่ Showcase สำหรับแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเท่านั้น จนกระทั่งในงานแฟรงค์เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2019 จากความร่วมมือของบีเอ็มดับเบิลยูและโตโยต้า ในหลายด้าน ทำให้บีเอ็มดับเบิลยูพัฒนารถยนต์ต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell ออกมาจัดแสดงในชื่อบีเอ็มดับเบิลยู i Hydrogen Next พร้อมกับคำถามที่ชวนสงสัยว่า เทคโนโลยีโบราณอย่าง Fuel Cell ยังมีอนาคตในตลาดรถยนต์อีกหรือ ?


คำตอบ คือ ยังมีอนาคตอยู่ และบีเอ็มดับเบิลยู ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่างโตโยต้า ในการผลักดันให้ต้นแบบคันนี้มีการผลิตออกขายจริงภายในปี 2020 ชนิดที่เรียกว่าสวนกระแสตลาดรถยนต์ EV ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเทคโนโลยี BEV หรืออาศัยกระแสไฟฟ้าที่มาจากการชาร์จเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่เท่านั้น













สำหรับตัวรถเชื่อว่าจะยังเป็น X5 ในการผลิตออกขาย ซึ่งทางผู้บริหารของบีเอ็มดับเบิลยูกล่าวว่า เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงยังเป็นอะไรที่น่าสนใจและถือเป็นหนึ่งในแนวคิดของ i Concept อยู่ และถ้าไปได้ดี จะนำมาใช้กับรถยนต์ระดับหรูในสไตล์ออฟโรดอย่างพวก X เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอดูผลตอบรับที่ได้รับจาก i Hydrogen Next รุ่นจำหน่ายจริงก่อน


ในแง่รายละเอียดเชิงเทคนิคของรุ่นจำหน่ายจริงนั้นยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่ถ้าดูจากรุ่นต้นแบบที่เปิดตัวในปี 2019 แล้ว i Hydrogen Next จะมากับมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังมากถึง 369 แรงม้า และชุดเซลล์เชื้อเพลิงที่สามารถผลิตกำลังออกมาได้ 125 กิโลวัตต์ โดยที่ถังเก็บไฮโดรเจนเหลวมีแรงดันสูงถึง 700 บาร์ และใช้เวลาในการเติมไฮโดรเจนที่รวดเร็ว เพียงแค่ 3-4 นาทีเท่านั้น ซึ่งตรงนี้สามารถช่วยลดข้อจำกัดที่เคยเกิดขึ้นกับรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงรุ่นเก่าๆ













สำหรับการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงนั้นคือการใช้ไฮโดรเจนเข้ามาทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่อยู่ในอากาศผ่านทางแผงเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Stack เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งไปให้กับแบตเตอรี่ใช้ในการส่งต่อให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับการขับเคลื่อน ซึ่งแนวคิดนี้ทั้งฮอนด้า และโตโยต้า เคยพัฒนาและนำมาใช้แล้วตั้งแต่ปลายปี 2002 แต่ด้วยความยุ่งยากในการเติม และความแพร่หลายของสถานีบริการไฮโดรเจนที่มีไม่มากนัก เช่นเดียวกับการแพ้ภัยต่อความหนาวของระบบ ทำให้ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับรถยนต์แบบไฮบริด


งานนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่าเมื่อผลิตขายจริงแล้ว ทิศทางของ Fuel Cell Vehicle จะสามารถแจ้งเกิดสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลหรือไม่









กำลังโหลดความคิดเห็น