มาสด้าเปิดตลาดครั้งใหม่กับตัวลุยรุ่นใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางในตลาดระหว่างรุ่น CX-3 กับ CX-5 โดยจะใช้ชื่อว่า CX-30 ซึ่งในเมืองไทยจะเริ่มทำตลาดด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบ 2,000 ซีซี เพื่อสร้างความแตกต่างที่ชัดเจนจากเอสยูวีที่มีอยู่ในตลาดแล้ว
CX-30 ได้รับการพัฒนาบนพื้นฐานเดียวกับมาสด้า 3 รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งเป็นเจนเนอเรชันที่ 4 ซึ่งจากการเปิดเผยของ Naohito Saga หัวหน้าทีมพัฒนารถยนต์รุ่นนี้เปิดเผยว่า CX-30 จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างจาก CX-5 โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นชายหนุ่ม โสด หรือเพิ่งแต่งงาน แต่ยังไม่มีลูก และมีความต้องการรถยนต์ที่สะท้อนถึงตัวที่ชัดเจนในการใช้ชีวิต ส่วนชื่อรุ่นนั้น การใช้ชื่อ CX-30 ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดจาก CX-4 ซึ่งเป็นเอสยูวีอีกรุ่นที่มีขายอยู่เฉพาะในเมืองจีนเท่านั้น โดยการผลิตในปัจจุบันนอกจากเมืองไทยแล้ว CX-30 จะผลิตที่ญี่ปุ่น และเม็กซิโกเพื่อส่งขายในตลาดอเมริกาเหนือ
สิ่งหนึ่งที่อาจจะดูแล้วเหนื่อยในการแยกแยะผลผลิตที่เป็นเอสยูวีแต่ละรุ่นของมาสด้า คือ ดีไซน์ตามแนวคิด KODO ที่ทำให้หน้าตาของรถยนต์ในกลุ่มเอสยูวีของพวกเขานั้นค่อนข้างดูแล้วเหมือนกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะรูปทรงของไฟหน้า กระจังหน้า และไฟท้าย ซึ่งถือเป็นจุดหลักในการสร้างความแตกต่างของรถยนต์ส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของขนาดตัวถังนั้นจะมีความแตกต่างในเชิงตัวเลขอย่างชัดเจน
CX-30 มากับตัวถังแบบ 5 ประตูพร้อมความยาว 4,395 มิลลิเมตร (สั้นกว่า CX-5 อยู่ที่ 155 มิลลิเมตร) กว้าง 1,795 มิลลิเมตร (-47 มิลลิเมตร) สูง 1,540 มิลลิเมตร (-140 มิลลิเมตร) ส่วนระยะฐานล้อนั้นจะอยู่ที่ 2,655 มิลลิเมตร (-43 มิลลิเมตร) โดยตัวรถจะมาในแบบเบาะนั่ง 2 แถว พร้อมความจุในการบรรทุกสัมภาระ 430 ลิตรเมื่อยังไม่พับเบาะหลังลง
โครงสร้างตัวถังใหม่ล่าสุดที่มาสด้าคิดค้นและพัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อ SKYACTIV VEHICLE ARCHITECTURE จากปรัชญาที่ยึดหลักมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา หรือ Human Centricity และนำมาเป็นองค์ประกอบหลักในการพัฒนา ALL NEW MAZDA CX-30 รุ่นใหม่จะส่งให้สมรรถนะ ความปลอดภัย และความสนุกในการขับขี่ นอกจากนั้นเหล็กที่ใช้ในการผลิตตัวถังยังมีความทนทานและแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากเหล็กทั่วไปอีก 30% แต่มีน้ำหนักเบาขึ้น นอกจากนั้นโครงสร้างของตัวเบาะนั่งยังได้รับการออกแบบใหม่ที่จะช่วยตอบสนองในเรื่องของความสะดวกสบายในการนั่งพร้อมกับสอดรับกับแนวของสรีระมนุษย์ที่เป็นแบบ S-Shape ในการวางตัวของแนวหลังขณะที่กำลังนั่ง และมีการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมในการขับในตลาดโลก
CX-30 จะมีทางเลือกของเครื่องยนต์ที่หลากหลายทั้งเบนซิน 2,000 และ 2,500 ซีซี ตามด้วยเทอร์โบดีเซล 1,800 ซีซี ซึ่งในรุ่นที่จะจำหน่ายที่เมืองไทยนั้นจะมากับเบนซิน 4 สูบ 2,000 ซีซี SKYACTIV-G แบบเดียวกับที่อยู่ใน มาสด้า 3 รุ่นที่ขายอยู่ในปัจจุบัน มีกำลังอยู่ในระดับ 155 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 20.4 กก.-ม. ที่ 4,600 รอบ/นาที
แต่ที่น่าสนใจคือตลาดเมืองนอกนั้น ในกลุ่มเครื่องยนต์เบนซิน 2,000 ซีซี ยังมีอีก 2 บล็อกใหม่ให้เลือก คือ รุ่น 122 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 21.7 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที ซึ่งได้รับการออกแบบรูปทรงของพอร์ตไอดี และลูกสูบใหม่ รวมถึงมีการติดตั้งระบบลดการทำงานของกระบอกสูบลงเมื่อเครื่องยนต์ไม่มีโหลดเพื่อความประหยัดน้ำมันและลดมลพิษ โดยเมื่อขับด้วยความเร็วคงที่ เครื่องยนต์จะทำงานเพียงแค่ 2 สูบเท่านั้น
ส่วนอีกรุ่นคือเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ที่มากับเครื่องยนต์แบบ SPCCI หรือ Spark Controlled Compression Ignition มีการปรับอัตราส่วนอากาศ-น้ำมันใหม่ในแบบ Lean Burn พร้อมการจุดระเบิดจากกำลังอัดที่ควบคุมด้วยประกายไฟเพื่อช่วยเพิ่มความประหยัดน้ำมันประมาณ 20-30% เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์แบบเดิมๆ มีกำลังสูงสุด 180 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 22.8 กก.-ม. ซึ่งต้องรอดูกันว่ามาสด้า Mazda จะนำทางเลือกไหนเข้ามาขายในบ้านเรา
ระบบขับเคลื่อนนั้น ในตลาดโลกจะมีทั้งแบบขับเคลื่อนล้อหน้า และ 4 ล้อตลอดเวลา ส่วนบ้านเราคงต้องดูว่า มาสด้าจะส่งทางเลือกไหนลงสู่ตลาดบ้าง แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีแค่ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเพียงอย่างเดียว
อดใจรอกันอีกหน่อยสำหรับการเตรียมเปิดตัว CX-30 ซึ่งในบ้านเราคาดว่าจะเปิดตัวต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยอาจจะเปิดตัวก่อนงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2020 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้