1920 เป็นปีสำคัญของมาสด้า (Mazda) เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของพวกเขา จากบริษัท โตโย คอร์ก โคเกียว จำกัด ที่ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เวลาผ่านไป พวกเขาได้เติบโตขึ้น และกลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกรายหนึ่ง แน่นอนว่าในปี 2020 คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของชาว มาสด้า เพราะนี่คือวาระของการครบรอบ 1 ศตวรรษหรือ 100 ปีของมาสด้า
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะกลายมาเป็น มาสด้า อย่างที่เป็นอยู่ในปัจุบัน พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย โดยเริ่มแรกในปี 1920 โตโย คอร์ก โคเกียว ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตจุกคอร์กก่อนที่อีก 7 ปีต่อมาจะถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อ โตโย โคเกียว เพื่อผลิตเครื่องมือเครื่องจักรสำหรับใช้อุตสาหกรรมหนัก ก่อนที่จะเริ่มหันมาสนใจในอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 1931
โตโย โคเกียว เปิดตัวยานยนต์รุ่นแรกออกมาโดยใช้ชื่อมาสด้า-โก ซึ่งเป็นปิกอัพแบบ 3 ล้อ และมีส่งออกไปขายในตลาดจีนเมื่อปี 1932 อีกด้วย เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกับผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นซึ่งจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งให้กับกองทัพ และในช่วงก่อนที่สงครามโลกจะยุติลง โรงงานของโตโย โคเกียว ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากระเบิดปรมาณู ซึ่งถูกทิ้งลงมาที่เมืองฮิโรชิมา
แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็ได้รับการฟื้นฟู และบริษัทสามารถผลิตยานยนต์ออกขายได้อีกครั้ง โดยมีการส่งออกปิกอัพแบบ 3 ล้อออกไปขายในประเทศอินเดียเมื่อปี 1949 และมีการผลิตปิกอัพแบบ 4 ล้อในชื่อ Romper เมื่อปี 1958 จนกระทั่งการเริ่มรุกตลาดรถยนต์นั่งอย่างจริงจังในปี 1960
ในปีนั้น มาสด้า เปิดตัวรุ่น R360 ซึ่งมากับตัวถังคูเป้ 2 ประตู 2 ที่นั่ง เครื่องยนต์วางด้านท้าย พร้อมกับจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญครั้งหนึ่งของบริษัทคือ การเซ็นสัญญาความร่วมมือกับทาง NSU และ Wankel ในการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ในปี 1961
1962 มาสด้า เปิดตลาดเก๋ง 4 ประตูเป็นครั้งแรกด้วยรุ่นแคโรล (Carol) หรือ P360/P600 เครื่องยนต์ 4 สูบ OHV 586 ซีซี พร้อมตั้งไลน์ผลิตในประเทศเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในปีนี้ ก่อนที่ในปีต่อมา มาสด้าจะขยายไลน์ผลิตของตัวเองออกไปยังแอฟริกาใต้ และสามารถทำยอดการผลิตยานยนต์ทุกแบบครบ 1 ล้านคันแรก
ช่วงปี 1963-1966 มาสด้าเปิดตัวผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น เช่น Familia Van (1963), E2000 (1964), Familia 800/1000 (1964) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์รถยนต์คอมแพ็กต์ Familia หรือ 323, Proceed (1965) ตามด้วย Bongo รถตู้ขนาดเล็กและ Luce ซีดานขนาดกลางในปี 1966 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โรงงานผลิตรถยนต์นั่งแห่งแรกใน Ujina เมืองฮิโรชิมาเสร็จสิ้นการก่อสร้าง
1967 ถือเป็นอีกปีที่มีความสำคัญ เพราะมาสด้า เริ่มรุกตลาดยุโรปเป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการเปิดตัวรถสปอร์ตที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขุมพลังโรตารี่อย่าง Cosmo Sports (110S) ซึ่งทำตลาดในช่วงปี 1967-1972 เป็นสปอร์ตเครื่องยนต์โรตารี่แบบ 2 โรเตอร์ 982 ซีซี 110 แรงม้า ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นโรตารี่รุ่นที่ 2 ซึ่งมีการผลิตกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 128 แรงม้า
มาสด้า เชื่อมั่นกับเครื่องยนต์โรตารี่อย่างมาก เพราะมีการเปิดตัวรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ประเภทนี้ออกสู่ตลาดหลายรุ่น แต่สุดท้ายทุกอย่างก็เริ่มส่งปัญหาเพราะความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้มงวดด้านมาตรฐานไอเสียของสหรัฐอเมริกา และ Oil Crisis ที่เริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970
วิกฤตการณ์น้ำมันทำให้ผู้บริโภคหันมามองรถยนต์ที่มีความประหยัดน้ำมันกันมากขึ้น และถือว่าเครื่องยนต์โรตารี่มาแจ้งเกิดในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนัก เพราะจากเรื่องตรงนี้ทำให้มาสด้าประสบปัญหาในด้านยอดขายกับตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป
จากเดิมที่โรตารี่มีวางอยู่ในรถยนต์หลายรุ่น แต่ในเมื่อสภาพเปลี่ยนไปทำให้มาสด้าต้องหันมาผลิตเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงออกมาทดแทน และแม้ว่าเครื่องยนต์โรตารี่จะกินน้ำมันและไม่เหมาะสมกับบรรยากาศโดยรวมมากนัก แต่ทางมาสด้าก็ยังกัดฟันผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 1975 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เริ่มผลิตรถยนต์ในเมืองไทย มาสด้าก็เปิดตัวเจนเนอเรชันที่ 2 ของ Cosmo ซึ่งมีทั้งแบบเครื่องยนต์ 4 สูบและโรตารี่ให้เลือก
อีก 3 ปีต่อมาในปี 1978 ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองยอดผลิตเครื่องยนต์โรตารี่ครบ 1 ล้านบล็อกทางมาสด้าก็เปิดตัวสปอร์ตโรตารี่รุ่นใหม่ออกมาแบบไม่เกรงกลัวราคาน้ำมัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์ RX-7 Savanna โดยในปัจจุบันมาสด้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวที่มีการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ในการทำตลาด และเพิ่งฉลองครบรอบ 40 ปีของการทำตลาดเมื่อปี 2007 ซึ่งต่อจาก RX-7 แล้ว รถสปอร์ตแบบ 4 ประตูของมาสด้าอย่างรุ่น RX-8 คือตัวแทนที่สานต่อตำนานเครื่องยนต์โรตารี่ก่อนที่เครื่องยนต์ประเภทนี้จะหายไปจากตลาดพร้อมกับการเลิกรุกตลาดรถสปอร์ต
RX-7 ซึ่งมีการทำตลาดอยู่ 3 เจนเนอเนอเรชั่นนับจากปี 1978-2002 ถือเป็นการยืนยันถึงความแน่วแน่ของมาสด้าในการนำเสนอสิ่งที่แตกต่างในการขับเคลื่อน และถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวในโลกที่ใช้เครื่องยนต์ประเภทนี้ในการทำตลาดอย่างต่อเนื่องจนแทบจะเรียกได้ว่า เมื่อพูดถึงมาสด้าสิ่งแรกที่นึกถึงคือ เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยมหมุน
อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตลาดรถสปอร์ตและถือเป็นตำนานอีกบทของมาสด้า คือ การเปิดตัวสปอร์ตเปิดประทุน 2 ที่นั่งขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่า Roadster ออกมาทำตลาด โดยในญี่ปุ่นเปิดตัวเมื่อปี 1989 ด้วยรูปทรงที่สวยแบบเรียบๆ แต่โฉบเฉี่ยว และตอบสนองการขับขี่ที่สนุกสนานเร้าใจในบ้านตัวเองมาสด้าขายด้วยชื่อโรดสเตอร์ แต่สำหรับตลาดโลกจะเปลี่ยนมาเป็น MX-5 ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Miata ซึ่งรุ่นแรกในรหัส NA เป็นรถสปอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในช่วง 10 ปีที่อยู่ในตลาดระหว่าง 1989-1997 ทำยอดขายได้มากกว่า 400,000 คันทั่วโลกสำหรับรุ่นปัจจุบันเป็นรหัส NC เปิดตัวขายมาตั้งแต่ปี 2005
ความนิยมที่มีต่อ MX-5 ของลูกค้าทั่วโลกดูได้จากยอดขายซึ่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1992 มาสด้าทำยอดผลิตของ MX-5 รวม 250,000 คันโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นนับตั้งแต่เปิดตัว และขยับเป็น 500,000 คันในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1999 ตามด้วย 750,000 คันในเดือนมีนาคม 2004 และล่าสุด 800,000 คันในเดือนมกราคม 2007 และคาดว่าตัวเลขในการผลิตจนถึง ณ ปัจจุบันทะลุ 1 ล้านคันแล้ว
สำหรับตลาดรถยนต์นั่งมาสด้า มีผลผลิตมากมายที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทั้งในกลุ่มคอมแพ็กต์ที่มีรุ่น Familia หรือ 323 ในปี 1980 Familia เจนเนอเรชันที่ 5 กลายเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่สามารถคว้ารางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมแห่งปีของญี่ปุ่น หรือ JCOTY 1980-1981 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ Capella หรือ 626 ก็ครองส่วนแบ่งในตลาดของรถยนต์ครอบครัวระดับเดียวกับ Honda Accord และ Toyota Camry โดยจุดพลิกผันที่ถือว่ามีความสำคัญสำหรับตลาดรถยนต์นั่งของพวกเขาเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 2000 เมื่อมีการรื้อไลน์อัพและการตั้งชื่อรุ่นใหม่หมดเพื่อความชัดเจนในระดับตลาด
มาสด้า 6 หรือ Atenza สำหรับตลาดญี่ปุ่นคือระลอกแรก ตามด้วย 3 หรือ Axela คือ การเปลี่ยนแปลงต่อมา ตามด้วยกลุ่มซับคอมแพ็กต์ที่ใช้ชื่อ Demio หรือ 2 สำหรับตลาดต่างแดน และมาสด้า ก็ยึดแนวทางนี้ในการทำตลาดมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนในกลุ่ม SUV นั้น แม้ว่ามาสด้า จะเริ่มรุกตลาดนี้อย่างจริงจังในกับการเปิดตัวรุ่น Tribute แต่ความชัดเจนในเรื่องการพัฒนายังมีไม่มาก เพราะด้วยสมัยนั้น มาสด้าเป็นบริษัทในเครือฟอร์ดทำให้พื้นฐานทุกอย่างถูกแชร์ร่วมกัน และรุ่นที่ถือว่าเป็นการเปิดตลาดครั้งใหม่ให้กับมาสด้า ในตลาดประเภทนี้คือ CX-5 ที่เปิดตัวรุ่นแรกในปี 2012 และเป็นช่วงเวลาที่มาสด้าปลดตัวเองออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของฟอร์ด และถือเป็นบริษัทรถยนต์อิสระที่ไม่ได้อยู่ในเครือใด และจากนั้นเมื่อตลาดรถยนต์ SUV ได้รับความนิยมมากขึ้นมาสด้า ก็ผลิตทางเลือกใหม่ๆ ออกมาตอบสนองตลาดทั้ง CX-3 และรุ่นใหญ่อย่าง CX-8
นอกจากเรื่องของทางเลือกรถยนต์แล้ว มาสด้าเองยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวคิดของ SKYACTIV ที่ถือว่าเป็นการบูรณาการการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวรถยนต์ให้สอดประสานการทำงานอย่างสอดคล้องกันเพื่อถ่ายทอดการขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์แบบ หรือการรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่มาสด้า เองเปิดตัวออกมาเมื่องานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 ที่ผ่านมากับรุ่น MX-30 ซึ่งถือว่าเป็นอีก ที่มาของชื่อ
ชื่อรถยนต์ของมาสด้ามาจากคำว่า อะฮูระ มาสด้า ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งอารยะธรรมยุคดั้งเดิมแห่งดินแดนเอเชียตะวันตก อะฮูระ มาสด้า ถือเป็นเทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ความฉลาดเฉลียว และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นเดียวกับที่เป็นสัญลักษณ์ของต้นกำเนิดอารยะธรรมตะวันออกและตะวันตก อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมการผลิตรถยนต์อีกด้วย คำดังกล่าวยังสื่อถึงความสงบสุขของมวลมนุษยชาติและการพัฒนาอุตสาหกรรมการ ผลิตรถยนต์ของโลก อีกทั้งยังพ้องเสียงกับชื่อของ นาย จูจิโร่ มัทซึด้า ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทมาสด้าอีกด้วย
สำหรับปีที่ 100 มาสด้าวางแผนเพื่อจะถ่ายทอดความรู้สึกขอบคุณนี้ตลอดทั้งปี 2020 โดยเริ่มการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ในงาน เจนีวา อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนมีนาคม และต่อด้วยกิจกรรม “Mazda Open Day 2020” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของมาสด้า ในระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2563
พิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี จะถูกจัดขึ้นในวันนี้ที่หอประชุมใหญ่ ณ สำนักงานใหญ่ ของมาสด้า ในเมืองฮิโรชิมา ภายในงานมาสด้าขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมในการสนันสนุนองค์กร และยืนยันที่จะยึดมั่นในปณิธานในอีก 100 ปีข้างหน้า โดยมีผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้องจากบริษัทในเครือ เข้าร่วมพิธีประมาณ 460 คน
สำหรับมาสด้าในประเทศไทยนั้น เริ่มนำรถยนต์เข้ามาจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2494 ภายใต้ชื่อ “มาสด้าสุโกศล” จนถึงวันนี้ก็เกือบ 70 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นแบรนด์รถยนต์ที่เก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจ และก่อตั้ง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2542 จวบจนปัจจุบันก็ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21