xs
xsm
sm
md
lg

เฉลยจากผู้สร้าง Honda CBR1000RR-R รหัสต่อท้ายอ่านว่า?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ยูซูรุ อิชิกาว่า ผู้สร้าง Honda CBR1000RR-R

คุยกับเจ้าของโปรเจกต์ Honda CBR1000RR-R ซูเปอร์สปอร์ตไบค์รุ่นล่าสุดจากค่ายปีกนก เปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกในงาน EICMA 2019 กับหลากหลายประเด็นที่สาวกนักบิดอยากรู้ โดยเฉพาะรหัสต่อท้าย RR-R จริงๆ แล้วต้องอ่านว่าอย่างไร...เรียกว่า ทริปเปิลอาร์! ได้หรือไม่




เพิ่งรูดม่านปิดฉากไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับงานแสดงรถจักรยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก EICMA 2019 (Esposizione Internazionale Ciclo Motociclo e Accessori 2019) จัดขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา


สำหรับงานใหญ่ครั้งนี้มีโมเดลใหม่ที่ได้รับความสนใจจากสิงห์นักบิดทั่วโลกอย่างมากมาย โดยหนึ่งในพระเอกต้องยกให้ Honda CBR1000RR-R ซึ่งสร้างความฮือฮาครั้งใหญ่ ด้วยการยึดเวทีแดนมักโรนีประกาศเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลก ด้านรายละเอียดต่างๆ เชื่อว่าหลายคนคงพอรับทราบจากสื่อออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลหรือสเป็กตัวรถกันไปพอสังเขปแล้ว


ชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร เอ.พี.ฮอนด้า และ ยูซูรุ อิชิกาว่า Large Project Leader All New CBR1000RR-R
อย่างไรก็ตาม เพื่อเจาะลึกให้ถึงใจแฟนคลับค่ายปีกนก เอ.พี.ฮอนด้า นอกจากยกทัพสื่อมวลชนจากประเทศไทย บินลัดฟ้าถึงเมืองมิลาน รายงานข่าวโมเดลใหม่ของฮอนด้าตามที่เรานำเสนอไปก่อนหน้า (คลิ๊กอ่าน Honda CBR1000RR-R นำทัพโมเดลใหม่ฮอนด้าเขย่าเวที EICMA 2019) งานนี้ยังเปิดห้องสัมภาษณ์ มร.ยูซูรุ อิชิกาว่า หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาหรือ Large Project Leader ผู้ดูแลโปรเจกต์ All New CBR1000RR-R อย่างใกล้ชิดอีกด้วย



-รหัส R ตัวที่สาม มีความหมายอย่างไร?


จากเดิม ฮอนด้า CBR1000RR เป็นซูเปอร์สปอร์ตไบค์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ให้การตอบสนองครอบคลุมทั้งการใช้งานบนท้องถนนและการขับขี่ในสนาม


ขณะที่ CBR1000RR-R รุ่นใหม่นี้ เราต้องการยกระดับพัฒนาให้เหนือไปอีกขั้น ด้วยการชูคอนเซปต์ “เกิดมาเพื่อการแข่งขัน” (Born to Race) เน้นการวิ่งในสนามแข่งขันเป็นหลัก ดังนั้น การเซตติ้งระบบต่างๆ ของตัวรถ จึงถูกออกแบบมาเพื่อกลุ่มลูกค้าสายสปอร์ตเรซซิ่งโดยตรง


สรุปให้กระชับ ตัวอักษร “อาร์” (R) ตัวที่สาม หมายถึง เรซซิ่ง เวอร์ชั่น นั่นเอง




-สิ่งที่ผู้ขับขี่ CBR1000RR-R จะสัมผัสได้อย่างชัดเจนคืออะไร?


ทุกองค์ประกอบของโมเดลใหม่นี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการวิ่งในสนามแข่งขันเป็นหลักตามที่กล่าวไปแล้ว การขับขี่ในรอบเครื่องยนต์สูงจะสัมผัสได้ถึงพลังความแรงที่เพิ่มมากขึ้นชัดเจน ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าการขับขี่ในรอบต่ำอาจควบคุมยากขึ้น หรือกำลังในรอบต่ำจะลดลง




-การออกแบบวิงเล็ตที่ติดตั้งมาให้ มีความสำคัญอย่างไร?


ปีกด้านข้างแฟริ่งหรือที่เรียกว่าวิงเล็ต (Winglet) มีไว้เพื่อสร้างแรงกดขณะเร่งความเร็ว ส่วนที่เห็นว่ามีความแตกต่างจากรถแข่ง คือ เราเพิ่มครีบย่อยภายในอีก 3 แผ่น เพื่อลดแรงลมที่เข้ามาปะทะไม่ให้กระจายออก อธิบายเพิ่มเติมนอกจากสร้างแรงกดให้ตัวรถแล้ว เรายังควบคุมแรงลมปะทะให้มีความสมูทด้วย




-การให้กุญแจคีย์เลสในคลาสสปอร์ต 1 ลิตร มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ?


เหตุผลนอกจากเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ขับขี่แล้ว เหนืออื่นใดทั้งหมด เราต้องการตัดพื้นที่ช่องเสียบกุญแจออกไป สืบเนื่องมาจากการย้ายช่องแรมแอร์มาตรงกลางตามแบบฉบับรถแข่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดเหมือนกับที่ใช้ในตัวแข่ง RC213V ในการแข่งขันโมโตจีพี ถ้ายังมีช่องเสียบกุญแจอยู่จะไปขวางทางช่องแรมแอร์ดังกล่าว




-ฮอนด้าเรียกชื่อ RR-R รหัสต่อท้ายนี้ว่าอะไร? (เรียกว่า ทริปเปิลอาร์ ได้หรือไม่)


นั่นอาจเป็นความเข้าใจของลูกค้า แต่สำหรับฮอนด้า เราอยากให้เรียกว่า “ดับเบิลอาร์ อาร์” เพราะอาร์ตัวหลัง มาจากการพัฒนาภายใต้คอนเซปต์ Born to Race เกิดมาเพื่อการแข่งขัน ซึ่งหมายถึง เรซซิ่ง เวอร์ชั่น.











กำลังโหลดความคิดเห็น