xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์เซอร์กิตสานฝัน “โมโตจีพี” จากสนามบ้านนอกสู่โปรเจกต์หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชื่อว่าแฟนมอเตอร์สปอร์ตชาวไทยคงตื่นเต้นและดีใจกันทั้งประเทศ หลังรับทราบข่าวการมอบสิทธิ์จากผู้จัดการแข่งขัน “โมโตจีพี” ที่ยินดีให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

สำหรับโปรเจกต์ใหญ่ระดับโลกครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ความนิยมกีฬาดวลความเร็วสองล้อในบ้านเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หนึ่งในคำตอบที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จดังกล่าว และอาจเป็นเบื้องหลังที่หลายคนยังไม่เคยรู้ เผยรายละเอียดอยู่ที่นี่แล้ว
แท่น-ไกรทส วงษ์สวรรค์
“ถ้าไม่มีสนามบ้านนอกอย่างไทยแลนด์เซอร์กิต รับรองงานแข่งโมโตจีพีในไทยไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน”

เป็นคำกล่าวของกูรูผู้คร่ำหวอดในวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทย “แท่น-ไกรทส วงษ์สวรรค์” อุปนายกสมาคมกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย และเจ้าของสนามไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี ที่เริ่มต้นบทสนทนาเกี่ยวกับประเด็นความเป็นมา และพัฒนาการของกีฬาชิงเจ้าความเร็วสองล้อในบ้านเรา

“ผมบอกอย่างนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิด แค่ต้องการบอกว่าถ้าไม่มีสนามที่ใช้เป็นสถานที่จุดประกายความนิยมกีฬาแข่งรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นความตั้งใจของผมที่ลงทุนลงแรง พยายามผลักดันให้กีฬาชนิดนี้แจ้งเกิดในบ้านเรามาเกือบ 30 ปีแล้ว จนมาถึงวันนี้ที่ประเทศไทยมีชื่อเตรียมลุ้นจัดโมโตจีพี สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกัน” (ให้สัมภาษณ์ก่อนที่การกีฬาแห่งประเทศไทย จะประกาศผลการเจรจาล่าสุดว่าได้รับสิทธิ์การจัดแข่งขันเรียบร้อยแล้ว)
ไทยแลนด์ เซอร์กิต-ชีวิตนักแข่งเริ่มต้นที่นี่
“หากจำกันได้เรามีรายการแข่งขันเอลฟ์มิดเดย์เรซซิ่ง ถ่ายทอดสดทางช่อง 7 วันพุธ ในยุคที่สนามยังยาว 1.4 กิโลเมตร ก่อนที่จะขยับขยายเป็น 2.5 กิโลเมตร เมื่อปี 2532และคงรูปแบบผังสนามเรื่อยมาอย่างที่เห็นทุกวันนี้”

จากเกมชิงแชมป์รถตลาดหรือรุ่นอันเดอร์โบนสู่รถสปอร์ตขนาดเล็ก จนในที่สุดเข้าสู่ยุคบิ๊กไบค์อย่างเต็มตัว สำหรับรายการ R2M THAILAND SUPERBIKES ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการใหญ่ของศึกชิงแชมป์ประเทศไทยอย่าง FMSCT ALL THAILAND SUPERBIKES CHAMPIONSHIP ผ่านการเก็บคะแนนสะสมบน 3 สังเวียนหลัก ได้แก่ ไทยแลนด์ เซอร์กิต, พีระ เซอร์กิต และช้างฯ เซอร์กิต
บรรยากาศงานแข่ง R2M คึกคักทุกสนาม
“10 ปีที่แล้ว ช่วงที่เราเริ่มจัดแข่งรายการ R2M ครั้งแรกเมื่อปี 2550 ผมมองอนาคตว่าจะต้องมีนักแข่งไทยไปชิงแชมป์เอเชียหรือก้าวไกลบนเวทีระดับโลก ตอนนั้นทุกคนหัวเราะเยาะ ขำกันสนุก สุดท้ายวันนี้เป็นไง”

ปัจจุบันชื่อของเหล่านักบิดชาวไทย “ชิพ-นครินทร์ อธิรัฐภูวิภัทร์” สังกัดเอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ในศึกโมโตจีพี รุ่นโมโต 3, “ก้อง-สมเกียรติ จันทรา” และ “แสตมป์-อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์” สองดาวรุ่งจากฮอนด้าและยามาฮ่า ในศึกชิงแชมป์นักบิดหน้าใหม่บนเวทียุโรป รุ่นโมโต 3 จูเนียร์ เวิล์ด แชมป์เปียนชิพ รวมถึง “ฟิล์ม-รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ ” อดีตนักบิดขวัญใจคนไทยในศึกเวิล์ดกรังซ์ปรีด์ ต่างเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการแข่งขันสองล้อในเมืองไทย หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศก็ตาม
รุ่น Power Girls ดวลเดือดเฉพาะนักบิดสาว
“อนาคตหลังจากนี้อีก 10 ปี หรือปี 2560 เป็นต้นไป เราวางนโยบายไว้ว่า ประเทศไทยต้องอยู่แถวหน้าของโลก แถวหน้าในที่นี้คือ ทั้งตัวนักแข่งต้องมีฝีมือและการจัดรายการแข่งขันต้องเป็นที่ยอมรับ โดยจะต้องอยู่อับดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาและทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน” อุปนายกสมาคมกีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เผยเป้าหมายระยะยาว พร้อมเล่ารายละเอียดต่อว่า

“อันดับแรกผมวางแผนให้นักแข่งไทยต้องมีโอกาสไปสัมผัสสนามแข่งระดับโลกมากขึ้น นอกจากสนามช้างฯ ที่นับรวมคะแนนสะสมประจำปีอยู่แล้ว ล่าสุด ผมได้คุยกับทางสมาพันธ์รถจักรยานยนต์ญี่ปุ่น ในปีหน้าคงเห็นรายการ R2M ไปเยือนที่นั่นแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สรุปว่าจะเป็นสนามอะไร เบื้องต้นมี 3 ตัวเลือก ได้แก่ ซูซูก้า โมเตกิ และซูโก้”
เห็นหน้าสวยๆ แบบนี้ แต่ลีลาการขี่โหดไม่เบานะจ๊ะ
“ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมการสร้างนักแข่งรุ่นใหม่ๆ ด้วย โดยไทยแลนด์ เซอร์กิต เหมือนเป็นโรงเรียนให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ ตรงตามสโลแกน ชีวิตนักแข่งเริ่มต้นที่นี่ ซึ่งตอนนี้มีคอร์สอคาเดมี่เข้ามาเปิดหลักสูตรการสอนมากมาย ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น และเร็วๆ นี้ก็จะเพิ่มการฝึกสอนเฉพาะนักบิดสุภาพสตรีด้วย”

ด้านความเปลี่ยนแปลงของสถานที่สำหรับใช้เริ่มต้นชีวิตนักแข่งหลังจากนี้ ไกรทส เผยว่า กำลังอยู่ในช่วงปรับปรุงแบบค่อยเป็นค่อยไป ในการก้าวเข้าสู่เป้าหมายให้เป็นมอเตอร์สปอร์ต คอมเพล็กซ์ อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต

“ภายในสิ้นปีนี้น่าจะได้เห็นภาพบางส่วนที่เราลงทุนเพิ่มประมาณ 5 ล้านบาท หวังให้เป็นคอมมูนิตี้มอล์ของชาวสองล้อ อันนี้เฉพาะในส่วนทางเรียบ ส่วนในโซนทางฝุ่น โมโตครอส พาร์ค ลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อปรับพื้นที่ใช้รองรับการจัดรายการแข่งขัน MXGP หรือโมโตครอสชิงแชมป์โลก ซึ่งผมเคยดึงมาจัดแข่งในบ้านเราก่อนหน้านี้แล้ว”
ได้รับความนิยมจากแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตและมีสื่อมวลชนร่วมทำข่าวทุกสนาม
สำหรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศหรือในแง่เศรษฐกิจการท่องเที่ยว ไม่ว่าจำนวนมากหรือน้อย ทั้งหมดคงประเมินเป็นตัวเลขที่ระบุชัดเจนลำบาก เจ้าของสนามไทยแลนด์ เซอร์กิต นครชัยศรี เพียงกล่าวสรุปสั้นๆ ว่า

“ครั้งที่น้ำท่วมสนามเมื่อปี 2554 เอฟไอเอ็มหรือสมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ ส่งเงินมาช่วย 2 ล้านบาท เพราะเขามองว่าที่นี่เป็นสถานที่ช่วยพัฒนานักแข่งและวงการมอเตอร์สปอร์ต เขาเห็นเหมือนที่ผมเห็น”

ส่วนคนอื่นจะเห็นหรือไม่ เขาไม่ได้กล่าวต่อ.
“ชิพ-นครินทร์ อธิรัฐภูวิภัทร์” สังกัดเอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ในศึกโมโตจีพี รุ่นโมโต 3
ก้อง-สมเกียรติ จันทรา
แสตมป์-อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์

กำลังโหลดความคิดเห็น