xs
xsm
sm
md
lg

6 ข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย-สบายใจ...เมื่อเดินทางกับเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนะนำวิธีและแนวคิดในการเดินทาง เมื่อต้องมีเด็กเป็นผู้โดยสารในระหว่างที่เราๆท่านๆขับขี่รถยนต์ ทั้งทารกน้อย-ไปจนถึงเด็กกำลังโต เพื่อความปลอดภัยและสบายใจของทุกฝ่าย

1.พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี การรับรู้เรื่องความปลอดภัยสามารถเสริมสร้างได้จากผู้ที่เลี้ยงดูเด็กๆ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมาก แต่เข็มขัดนิรภัยยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่จะช่วยชีวิตให้รอดพ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่จึงควรคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกๆ

2.ตั้งกฎข้อที่ 1 เมื่ออยู่ในรถ พ่อแม่ควรตั้งกฎเมื่ออยู่บนรถและท้องถนน และต้องมั่นใจว่าเด็กๆ จะปฏิบัติตาม สำหรับเด็กที่โตพอที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ พ่อแม่ควรประกาศกฎเกณฑ์ขณะอยู่บนรถให้ชัดเจน เช่น ต้องเอ่ยคำขอก่อนเปิดกระจกหรือหลังคามูนรูฟ หรือเมื่อต้องการเปลี่ยนเพลง

3.ตั้งกฎข้อที่ 2 เมื่ออยู่นอกรถ แม้ว่าจะอยู่นอกรถ เด็กๆ ก็ยังมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากรถยนต์ ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้พวกเขาคลาดสายตาเมื่อมีรถอยู่ใกล้ๆ

“ด้วยขนาดตัวที่เล็กจิ๋วของเด็กๆ อาจทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นเมื่อทำการถอยจอด” ซินเธีย จาง ผู้จัดการด้านกฎระเบียบยานพาหนะ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประเทศจีนกล่าวเตือน ควรพึงระลึกเสมอว่าเด็กๆ ทุกคนต้องจับมือพ่อแม่เมื่ออยู่ในบริเวณที่มีรถยนต์ ไม่ว่ารถคันนั้นจะกำลังขับเคลื่อนหรือจอดอยู่ก็ตาม

4.ดูแลเด็กๆ ให้พวกเขารู้สึกสบาย อย่าลืมนำของเล่นสุดโปรดของลูกติดรถไปด้วย (เลือกของเล่นวัสดุแบบนิ่มจะปลอดภัยกว่า) รวมถึงหนังสือเพื่อให้พวกเขาเพลิดเพลินอยู่เสมอ ทั้งยังช่วยให้ผู้ขับขี่มีสมาธิขณะขับรถด้วย อาหารและเครื่องดื่มก็สามารถช่วยให้พวกเขาอารมณ์เสียน้อยลงได้และอย่าลืมหยุดแวะพักเข้าห้องน้ำเพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้เด็กๆ หงุดหงิดอาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกร้อนหรือหนาวเกินไป ดังนั้นพ่อแม่ควรคอยเช็คอุณหภูมิบริเวณเบาะหลังอยู่เสมอ

“เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ควรปล่อยลูกๆ ของคุณไว้ตามลำพังบนรถ การอยู่ในรถภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่ร้อนระอุเพียงระยะสั้นๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเสียชีวิตหรือบาดเจ็บขั้นรุนแรงจากความร้อนได้ รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อสมองด้วย”

5.เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ “เข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้โดยสารที่มีความสูงมากกว่า 145 เซนติเมตรและมีน้ำหนักมากกว่า 36 กิโลกรัม ดังนั้นเด็กทารกและเด็กเล็กควรมีเบาะนั่งด้านหลังโดยเฉพาะซึ่งออกแบบมาให้เหมาะสมกับอายุและน้ำหนักของพวกเขา

แม้ว่าพ่อแม่บางคนอาจอยากอุ้มเด็กไว้กับตัวบริเวณหน้ารถ แต่การกระทำเช่นนี้ไม่ปลอดภัย ในกรณีที่มีการเบรคกะทันหัน แรงปะทะที่เกิดจากการชนจะสูงกว่าปกติถึง 4 เท่า ดังนั้นการอุ้มเด็กไว้กับตัวจึงไม่ปลอดภัย แม้ว่าเบาะนั่งสำหรับเด็กจะเป็นข้อบังคับในบางเมืองและบางประเทศเท่านั้น แต่คาดว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นข้อบังคับสำหรับประเทศจีนและเมืองอื่นๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จางกล่าวสริม “เด็กๆ ควรฝึกใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กตั้งแต่ครั้งแรกที่ขึ้นรถ เพื่อช่วยให้พวกเขาตระหนักได้ว่านี่เป็นที่นั่งของเขาเมื่อต้องเดินทางโดยรถยนต์”

6.ใส่ใจวิธีการติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การหาซื้อเบาะนั่งนิรภัยในรถยนต์ที่เหมาะสมเป็นแค่ความปลอดภัยเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น การติดตั้งเบาะอย่างถูกวิธีนั้นสำคัญกว่าเพราะจะช่วยให้เบาะนั่งนิรภัยทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการอ้างอิงของสำนักงานรักษาความปลอดภัยบนถนนของสหรัฐอเมริกา (US National Highway Traffic Safety Administration) พบว่า กว่าร้อยละ 95 ติดตั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กผิดวิธี และถุงลมนิรภัยอาจทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่ควรวางเบาะที่นั่งสำหรับเด็กหันหลังชนกับตำแหน่งถุงลมนิรภัย โดยปกติแล้ว เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กจะมาพร้อมเข็มขัดนิรภัยแบบมาตรฐาน แต่เพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้น ควรใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่ติดตั้งจุดยึด ISOFIX ซึ่งจะแตกต่างจากเบาะที่นั่งสำหรับเด็กแบบอื่นๆ ที่จะติดตั้งยาก โดยเบาะนั่งนิรภัยที่มีจุดยึด ISOFIX จะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับจุดเฉพาะต่างๆ ของรถยนต์ได้อย่างลงตัว

....ถึงแม้ว่าคุณจะทำตามข้อแนะนำเบื้องต้นทั้งหมด เด็กๆ อาจจะยังโยเย แต่นั่นก็เป็นธรรมชาติของพวกเขา หน้าที่ของคุณคือทำให้พวกเขานั่งอยู่กับที่ให้สบาย หากคราวหน้าเมื่อลูกเริ่มงอแง คุณก็เพียงแค่สงบอารมณ์และหาจุดจอดที่ปลอดภัย เตือนตัวเองให้เป็นผู้ขับขี่ที่ระมัดระวังอยู่เสมอและทุกครั้งที่มีเด็กอยู่บนรถ คุณก็ควรพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด

ที่มา : ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี

กำลังโหลดความคิดเห็น