xs
xsm
sm
md
lg

ฮอนด้า ทุ่ม17,150 ล้านบาท เปิดโรงงานแห่งที่ 2 ผลิตซีวิค ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฮอนด้า เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวังปราจีนบุรี โดยมีพื้นทีรวมกว่า 1,600 ไร่ หรือประมาณ 2.56 ล้านตารางเมตร และแบ่งใช้เป็นอาคารสำนักงานและอาคารโรงงาน 134 ไร่ หรือประมาณ 214,000 ตารางเมตร โดยโรงงานแห่งนี้มีเทคโนโลยีการผลิตประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต และการส่งมอบยานยนต์คุณภาพให้กับลูกค้าในประเทศไทย และส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรีได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด "ส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ด้วยสมดุลที่เหมาะสมของทักษะฝีมือการผลิต และเทคโนโลยีอันทันสมัย" โรงงานแห่งนี้จึงมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ได้รับการติดตั้งในสายการผลิตเป็นครั้งแรกของฮอนด้า ซึ่งรวมถึงนวัตกรรมสายการประกอบรถยนต์รูปแบบใหม่ ARC Line (Assembly Revolution Cell) ที่ฮอนด้าพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ที่โรงงานแห่งนี้เป็นแห่งแรกของโลก* ซึ่งมีสายการผลิตหลักทำงานร่วมกับระบบการผลิตแบบเซลล์ และยังมีการนำนวัตกรรมการผลิตอันทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโรงงานผลิตรถยนต์ที่โยริอิ ประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้อีกด้วย

สำหรับรถรุ่นแรกที่จะผลิตคือ ฮอนด้า ซีวิค และได้เริ่มเดินสายการผลิตไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยก่อนหน้านี้ ได้เริ่มเดินสายการผลิตในสายงานการฉีดขึ้นรูปพลาสติกเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ตามด้วยสายงานการผลิตเครื่องยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และในอนาคต โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรียังมีแผนที่จะผลิตรถยนต์ระดับคอมแพคท์ และซับคอมแพคท์ เซ็กเมนต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สำหรับตลาดประเทศไทย และตลาดส่งออกอีกด้วย มีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี

ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ฮอนด้าส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญ ด้วยการนำเทคโนโลยีอันทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้ ตอกย้ำจุดยืนของประเทศในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกได้เป็นอย่างดี”

นาย ทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ และผู้แทนกรรมการ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยได้ทวีบทบาทการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของฮอนด้าเพื่อป้อนผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนให้กับทั้งตลาดในประเทศ และทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนับเป็นภูมิภาคที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของยอดขายของฮอนด้าทั่วโลก ในวันนี้ จากการเริ่มเดินสายการผลิต ณ โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรีแห่งใหม่ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัย จึงมีส่วนส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

นาย โนริอากิ อาเบะ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี ที่มีเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนของฮอนด้า และในอนาคต เรายังมีแผนที่จะผลิตรถยนต์ในระดับคอมแพคท์ และซับคอมแพคท์ เซ็กเมนต์ ที่โรงงานฮอนด้าปราจีนบุรีแห่งนี้ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สำหรับตลาดในประเทศไทย และตลาดส่งออก ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

นาย กาคุ นาคานิชิ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงของโรงงานแห่งนี้ ฮอนด้ามุ่งสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับรถยนต์ และชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย”

เทคโนโลยีการผลิตในโรงงานฮอนด้าปราจีนบุรี

เพิ่มประสิทธิภาพในสายการผลิต

- สายงานการประกอบรถยนต์ (Assembly Line):
มีการนำเทคโนโลยี ARC Line (Assembly Revolution Cell) มาประยุกต์ใช้เป็นครั้งแรกของโลก
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสายการผลิตแบบเดิม

-สายงานการขึ้นรูปชิ้นส่วน (Stamping Line):
เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขึ้นรูปชิ้นส่วน 25% เมื่อเทียบกับสายการผลิตแบบเดิม ด้วยเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนด้วยความเร็วสูง

-สายงานการเชื่อมประกอบโครงสร้างตัวถังรถยนต์ (Welding Line):
มีการใช้เครื่องจักรประกอบตัวถังหลัก ซึ่งเป็นหุ่นยนต์จับชิ้นงาน (Welding Jig) ขนาดเล็ก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมประกอบขึ้น 40%

เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อคนทำงาน และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

-สายงานการเชื่อมประกอบโครงสร้างตัวถังรถยนต์ (Welding Line):
มีระบบสายพานลำเลียงชิ้นส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยพลังน้ำ (Water Conveyor) มาใช้ในการลำเลียงชิ้นส่วนตัวถัง

-การจัดการภายในโรงงาน (Facility Management):
หลังคาโปร่งแสง (Skylight Roof) ช่วยให้แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาในอาคารได้ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าส่องสว่าง



กำลังโหลดความคิดเห็น