xs
xsm
sm
md
lg

Mirai การกลับสู่สมรภูมิไฮโดรเจนอีกครั้งของโตโยต้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้ายังจำกันได้ ฮอนด้าและโตโยต้าเคยเป็นคู่กัดกันอย่างจริงจังทั้งในตลาดไฮบริด และ Fuel Cell ที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง ถึงขนาดแย่งกันเคลมว่าเป็นรายแรกที่ผลิตรถยนต์ประเภทนี้ขึ้นมาให้บริการ แม้จะเป็นการเช่าใช้สำหรับหน่วยงานราชการก็ตาม

นั่นเป็นปี 2002 และตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ฮอนด้าแล่นฉิวกับการผลิตรถยนต์ Fuel Cell ออกมาให้เช่าใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ณ ปัจจุบันคนทั่วไปสามารถเช่าใช้ฮอนด้า FCX Clarity กันได้แล้ว ขณะที่โตโยต้าเองกลับเงียบสนิท และไม่มี Fuel Cell Car ที่เป็นการพัฒนาขึ้นมาใหม่ออกมาสร้างสีสันเลย จะมีก็แค่ FCHV ซึ่งเป็นการนำไฮแลนเดอร์มาปรับแต่งและออกแล่นโชว์เป็นครั้งคราว...จนกระทั่งถึงตอนนี้

ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะตลาด Fuel Cell เริ่มมีแนวโน้มที่ดีเพราะสามารถแก้ไขข้อจำกัดของการใช้งาน เช่น จำนวนสถานีเติม และการสตาร์ทได้ในเมืองที่หนาวจัดๆ ก็เลยทำให้โตโยต้ากระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่น ที่ค่อนข้างซีเรียสกับการทำตลาดอีกราย และรถยนต์ที่เปิดตัวใหม่ก็ไม่ใช่เป็นการนำของที่มีอยู่แล้ว มาปรับโน่นนิดนี่หน่อยเหมือนกับที่ผ่านมา แต่เป็นของใหม่ทั้งคันเลย และใช้ชื่อในการทำตลาดว่า Mirai หรือแปลว่า อนาคตในภาษาญี่ปุ่น

ที่สำคัญคือ Mirai ผลิตมาเพื่อขายไม่ใช้เช่าใช้ โดยจะผลิตต่อปีอยู่ที่ 700 คันสำหรับขายในปี 2015 และเน้นไปที่ญี่ปุ่นซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 400 คัน และ 200 คันสำหรับสหรัฐอเมริกา ส่วนที่เหลือกระจายทั่วโลก โดยเน้นไปที่ยุโรป เรียกว่าเป็นการชิงผลิตแบบ Mass-Production ตัดหน้าฮอนด้า ซึ่งบอกว่าจะผลิต FCX Clartity ใหม่ในแบบ Mass production ในปี 2018

Mirai เป็นผลผลิตที่พัฒนามาจากต้นแบบ FCV ที่เปิดตัวในปี 2013 และเกิดมาเพื่อแข่งกับ FCX Clarity ของค่ายฮอนด้าอย่างชัดเจน เพราะไม่ใช่แค่เป็นรถยนต์ Fuel Cell เหมือนกัน แต่มีตัวถังในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยถ้าจะให้นับคลาสแล้วก็น่าจะอยู่กลุ่มเดียวกับพวก D-Segment อย่างโตโยต้า คัมรี่ และฮอนด้า แอคคอร์ด ด้วยความยาว 4,890 มิลลิเมตร กว้าง 1,815 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,780 มิลลิเมตร

ส่วนประกอบของระบบจะมาทั้งแผงเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Stack ที่ผลิตกำลังสูงสุด 114 กิโลวัตต์ เพื่อส่งให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 152 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 34.1 กก.-ม. -ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวรถ อีกทั้งยังมีแบตเตอรี่แบบนิเกิลเมทัลไฮดรายขนาด 1.6 kWh ทำหน้าที่เก็บกระแสไฟฟ้าที่ถูกชาร์จเข้ามาในระบบ จากการที่ตัวรถลดความเร็วหรือเบรก ซึ่งมีแนวคิดการทำงานคล้ายกับระบบในรถยนต์ไฮบริด ส่วนถังเก็บไฮโดรเจนเหลว เป็นถังแรงดันสูงมีโครงสร้าง 3 ชั้นที่ผลิตด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ สามารถเก็บไฮโดรเจนเหลวได้ 70 Mpa และตัวถังมีน้ำหนัก 87.5 กิโลกรัม

สมรรถนะในการขับเคลื่อนถือว่าใช้ได้ด้วยอัตราเร่ง 0-96กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 9 วินาที และไฮโดรเจน 1 ถังแล่นได้ 480 กิโลเมตรโดยประมาณ และใช้เวลาเพียง 3-5 นาทีเท่านั้นในการเติมไฮโดรเจน 1 ถัง ไม่ต้องรอนานเหมือนเมื่อก่อน ส่วนน้ำซึ่งเป็นสิ่งที่หลงเหลือจากการปฏิกริยาของไฮโดรเจนกับแผงเซลล์เชื้อเพลิง จะถูกปล่อยออกทางด้านท้ายของรถในอัตรา 240 ซีซี

ในญี่ปุ่น Mirai จะเริ่มวางขายในวันที่ 15 ธันวาคม 2014 กับราคา 6.7 ล้านเยน หรือ 2 ล้านกว่าบาท แต่จะได้รับการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นการใช้งานอีก 2 ล้านเยน เท่ากับว่าราคาขายอยู่ที่ 4.7 ล้านเยน หรือ 1.55 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งภาครัฐช่วยสนับสนุนในส่วนของการลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น สถานีบริการให้อีกด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น