xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจแถวอุตฯยานยนต์ไทย พร้อมแค่ไหนเข้าสู่ “เออีซี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) ได้จัดงานสัมมนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ AEC” โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก จรวย ขันมณี (กลาง) ประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน BIG Motor Sale 2014 เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย วัชระ ธรรมศรี นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย และคณะวิทยากรพิเศษ นำโดย ทัศนา พิริยพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์, ธานี สืบฤกษ์ผู้อำนวยการ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก, องอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.), อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ณ ห้องแกรนด์ฮอล์ ไบเทค บางนา

โดย ทัศนา พิริยพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้เริ่มต้นการเสวนาด้วยการเปิดเผยถึงความพร้อมในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของกลุ่มประเทศอาเซียน “ขณะนี้ทุกประเทศในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ต้องการเชิญชวนให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเป็นการแสดงศักยภาพทางเทคโนโลยี เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้ซื้อ ประเทศต่างๆพยายามแย่งชิงการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม ทุกประเทศพยายามพูดถึงโครงการรถยนต์สีเขียวหรือรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อม มาเลเซียเพิ่งประกาศสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรืออีอีวี”

“ส่วนอินโดนีเซียมองไปยังกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ จึงได้ประกาศโครงการ “โลว์ คอสต์ กรีน คาร์” โดยกำหนดสเปคใกล้เคียงกับรถอีโคคาร์ของประเทศไทย เพราะเห็นว่าไทยประกาศโครงการอีโคคาร์เฟส 2 หลังจากประสบความสำเร็จในการเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตันมาแล้ว ขณะนี้มีค่ายรถ 10 ราย ให้ความสนใจ โดยจะเริ่มผลิตรถยนต์อีโคคาร์เฟส 2 ในปี 2559 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ”

“สำหรับประเทศเวียดนามเดิมทีปะกาศสนับสนุนการผลิตรถปิกอัพในประเทศเช่นกัน แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์วางเป้าหมายจะผลิตให้ได้ปีละประมาณ 3 ล้านกว่าคัน ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้ปีละประมาณ 2 ล้านกว่าคัน”

 ที่ผ่านมาในปี 2006 ประเทศในอาเซียนผลิตรถยนต์รวมกันได้ประมาณ 2 ล้านกว่าคัน ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการผลิตประมาณ 59% ล่าสุดเมื่อปี 2013 ผลิตได้รวม 4 ล้านกว่าคัน คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 14% ส่วนแบ่งการผลิตของไทยปรับลดเหลือประมาณ 55% ดูตัวแล้วเหมือนกับไม่น่าเป็นห่วง แต่หากดูตัวเลขส่วนแบ่งของอินโดนีเซียเพิ่มจาก 14% เป็น 17% โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 15% ส่วนไทยประมาณ 10%ถือว่าประมาทไม่ได้  สำหรับประเทศอื่นยังเติบโตไม่มากประมาณ 3-4%
จรวย ขันมณี
 ปีที่แล้วอินโดนีเซียเริ่มส่งออกรถยนต์ปีละเกือบ 2 แสนคัน ส่วนหนึ่งส่งมาขายยังประเทศไทย ทำให้หลายคนกังวลว่าอินโดนีเซียกำลังหายใจรดต้นคอประเทศไทยหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญไทยยังมีแต้มต่อจากการดำเนินนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์มานาน มีความแข็งแกร่งของผู้ผลิตชิ้นส่วน มีกำลังการผลิตสูง ปีที่แล้วผลิตประมาณ 2.8 ล้านคัน ส่วนอินโดนีเซียประมาณ 1.6 ล้านคัน คาดว่านโยบายการผลิตรถยนต์โลว์คอสต์ของอินโดนีเซียจะทำให้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 ล้านคัน ส่วนมาเลเซียมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8 แสนคัน เวียดนาม 8 หมื่นคัน  

ปัจจุบันนี้ต้องถือว่าประเทศไทยมีความพร้อมเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียนมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยมีมาตรฐานด้านไอเสียรถยนต์สูงกว่าประเทศอื่นในอาเซียน และในปี 2559 กระทรวงการคลังประกาศปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์โดยคิดจากมาตรฐานการปล่อยไอเสียและมาตรฐานะความปลอดภัยบางอย่าง ไทยวางเป้าหมายจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3 ล้านคัน ในปี 2560 เพราะมีโครงการอีโคคาร์เฟส 2 แต่สิ่งสำคัญประเทศไทยจะต้องเริ่งแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มงานด้านวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก แต่ต่างประเทศกำลังเข้ามาตั้งหน่วยงานนี้ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงด้านการขนส่งจะช่วยให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในอาเซียนต่อไป
วัชระ ธรรมศรี
ขณะที่ ธานี สืบฤกษ์ ผู้อำนวยการ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า “ก่อนเริ่มเออีซีในวันที่ 1 มกราคม 2558 กรมการขนส่งทางบกเตรียมจัดระเบียบการขับรถข้ามไปมาระหว่างประเทศ เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก วันแรกที่เปิดเออีซีรถที่ข้ามแดนไปประเทศไหนจะต้องมีป้ายทะเบียนเฉพาะ เป็นป้ายทะเบียน 2 ภาษา คือภาษาประเทศนั้นและมีภาษาอังกฤษกำกับด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศใช้ ในระยะแรกจะอนุญาตให้เฉพาะรถส่วนบุคคลก่อน ส่วนรถประเภทอื่นจะขออนุญาตวิ่งผ่านแดนเป็นกรณีไป”

สำหรับใบขับขี่จะต้องเป็นใบขับขี่แบบสมาร์ทการ์ด ทางกรมได้เริ่มนำมาใช้กับใบขับขี่รุ่นใหม่แล้ว สามารถใช้ได้ในทุกประเทศอาเซียน ส่วนระบบประกันภัยจะต้องมาตกลงร่วมกันเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่นเดียวกับการประกาศใช้ชิ้นส่วนรถยนต์จะต้องมาตกลงร่วมกันว่าจะใช้มาตรฐานใดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อลดขั้นตอนในการขออนุญาตใช้อุปกรณ์รถยนต์ต่างๆ เมื่อต้องเดินทางเข้าไปในแต่ละประเทศ ขณะนี้มีการประกาศมาตรฐานเดียวกันแล้วเบื้องต้นประมาณ 19 รายการ    และไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะในอาเซียน แต่พยายามผลักดันให้เป็นมาตรฐานเดียวกับในยุโรป เพราะจะทำให้สามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก หากเกิดเออีซีจะช่วยในแง่ของการรวมตัวกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต การกระจายความสามารถให้สมาชิกแต่ละประเทศผลิตชิ้นส่วนที่ถนัด สิ่งสำคัญประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการทดสอบ ทั้งห้องทดสอบและสนามทดสอบชิ้นส่วนและรถยนต์ ที่เป็นมาตรฐานเหมือนมาเลเซีย ทำให้มีขีดจำกัดด้านนี้น้อยกว่ามาเลเซีย ส่งผลให้การประกาศข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ ล่าช้า เพราะเอกชนต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ
ทัศนา พิริยพฤทธิ์
หากไทยต้องการจะแข่งขันกับประเทศในเออีซี ควรจะต้องปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ ให้รวดเร็วกว่านี้ เพราะในระยะยาวหากเราเป็นรองประเทศอื่น เมื่อไปแข่งขันในเวทีโลกก็จะยิ่งเป็นรองมากขึ้น เพราะต่างชาติประกาศมาตรฐานชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ที่เป็นที่ยอมรับมากกว่า 30 ชนิด ประเทศไทยมีเพียง 2-3 ชนิด ที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับในระดับสากลมีเพียงอุปกรณ์ด้านมาตรฐานไอเสียเท่านั้น ดังนั้นจึงควรช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยปรับปรุงมาตรฐานชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ให้สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยดูว่าไทยมีความเชี่ยวชาญด้านใดอย่างแท้จริง

องอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้มองอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการ “อีโคโนมี่ ออฟ สเกล” (ผลิตมากช่วยลดต้นทุนมาก) ปีนี้ สอท.คาดว่าไทยจะผลิตรถยนต์ประมาณ 2.2 ล้านคัน ขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน จากปีที่แล้ว 1.36 ล้านคัน ที่เหลือจะส่งออก แต่ถามว่าตัวเลขนี้จะทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หลังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ สิ่งสำคัญของการเปิดเออีซีคือไทยจะอยู่คนเดียวไม่ได้ เพราะในอาเซียนมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 4.5 ล้าคัน หากยึดหลักอีโคโนมี่ ออฟ สเกล ร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยให้แข็งแกร่งขึ้น ความจริงแล้วในอาเซียนมีการประกาศลดภาษีระหว่างกันมาหลายปีแล้ว จนล่าสุดเมื่อปีคศ. 2010 มีการประกาศลดภาษีรถยนต์เหลือ 0%ในจำนวนประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ล่าสุดปี 2015 นี้จะบังคับใช้ในประเทศอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ

การเข้าสู่เออีซีของไทย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือประเทศสมาชิกต่างมีโปรดักส์คล้ายกันมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สนับสนุนรถยนต์เหมือนกัน แต่ประเทศไทยแตกต่างตรงที่มีรถปิกอัพเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ส่วนประเทศอื่นแม้กระทั่งฟิลิปปินส์ เวียดนาม ก็ยังซ่อนแผนการสนับสนุนรถยนต์คล้ายกัน ส่วนลาวเริ่มมีรถบรรทุกจากเกาหลีเข้าไปตั้งฐานการผลิตแล้ว ทำให้เราเป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งระหว่างกัน ที่ผ่านมาประเทศอื่นๆ ยังไม่ใช่คู่แข่งที่สำคัญของไทย แต่ตอนนี้ที่น่ากลัวคืออินโดนีเซีย ต้องคอยจับตามองให้ดี
ธานี สืบฤกษ์
ล่าสุดตนได้เดินทางไปสัมนาที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาขายฝันให้นักลงทุนเห็นว่าในระยะยาวมีแผนอะไรบ้าง ปีนี้อินโดนีเซียประกาศจะผลิตรถประมาณ 1.3 ล้านคัน ที่ผ่านมาการผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซียจะออกแนวรถยนต์อเนกประสงค์ และรถเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือ กรีนคาร์ แต่ดูจากแผนในปี 2015 อินนโดนีเซียจะเริ่มผลิตรถเก๋งใหญ่ รถบรรทุก รถไฮบริด หรือแม้แต่รถหรูหรือลักชัวรี่คาร์ ผลิตทุกอย่างเหมือนไทยยกเว้นปิกอัพ  ดังนั้นตอนนี้อินโดนีเซียได้เดินทางเคาะประตูบ้านไทยแล้วเราจะต้องเร่งพัฒนาต่อไป แต่ในวันนี้มาตรฐานไอเสียของอินโดนีเซียยังอยู่ที่ ยูโร 3 แต่ของไทยขึ้นเป็นยูโร 4 แล้วทำให้อินโดนีเซียยังตามไทยไม่ทัน

อย่างไรก็ตามในอนาคตอินโดนีเซียขายฝันว่าปี 2025 จะผลิตรถยนต์ให้ได้ 4.2 ล้านคัน ขายในประเทศ 3.2 ล้านคัน ส่งออก 1 ล้านคัน แต่ตนไม่ค่อยเชื่อตัวเลขดังกล่าวจึงถามว่าตัวเลขเหล่านี้มีที่มายังไง ทางอินโดนีเซียยังไม่มีคำตอบให้ชัดเจน เพียงแต่อธิบายว่า เมื่อก่อนอินโดนีเซียยังตามหลังไทยในเรื่องการผลิตรถจักรยานยนต์ แต่มาวันนี้ก็มาตามทันแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะทำได้ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่ง่าย เพราะการผลิตรถยนต์ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและตัวเลขจีดีพี แต่สิ่งสำคัญทำให้เราเห็นว่าอินโดนีเซียอยากเป็นผู้นำอาเซียนด้านการผลิตยานยนต์

สำหรับมาเลเซียประกาศแผนสนับสนุนรถยนต์อีอีวี ไม่เฉพาะรถพลังงานไฮโดรเจนหรือไฟฟ้า แต่เปิดกว้างให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า แต่ก็เชื่อว่าไม่ง่ายนักเช่นกัน เพราะมาเลเซียยังมีปัญหาเรื่องนโยบายสนับสนุนรถยนต์แห่งชาติอยู่ นอกจากนี้มาตรฐานไอเสียมาเลเซียยังอยู่ที่ยูโร 2 ขณะที่ไทยขึ้นมาเป็นยูโร 4 แล้ว ที่สำคัญบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ยังไม่เอาจริงเอาจังกับการสนับสนุนให้พัฒนามาตรฐานไอเสียดังกล่าว
องอาจ พงศ์กิจวรสิน
สิ่งสำคัญเมื่อมีเออีซี ไทยควรเพิ่มการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่าและกัมพูชา เพราะเชื่อว่ายังมีตลาดอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศสนับสนุนการค้าชายแดน หรือหากผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเคลื่อนย้ายการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไปประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน แล้วส่งเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศไทย ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้

เมื่อประเทศไทย ยืนอยู่บนสองขาคือผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก จำเป็นต้องคำนึงถึงหลัก 3 ข้อ ได้แก่ คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ การขนส่งสะดวก ทันเวลา ที่ผ่านมาไทยมีปัญหาเรื่องการขนส่งค่อนข้างมาก หลังจากเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง มีการปิดถนนในบางภาค ทำให้ขนส่งรถไปให้ลูกค้าไม่ทัน นอกจากนี้การขนส่งที่ท่าเรือเอ5 ท่าเรือแหลมฉบังก็มีปัญหาแออัดอย่างมาก
 
นอกจากนี้ไทยควรเร่งผลักดันโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 โดยเร็ว และวางแผนล่วงหน้าต่อไปเลยว่า หลังปี คศ.2017  ไปอีก 10-20 ปีจากนี้จะวางยุทธศาสตร์ด้านยานยนต์อย่างไรบ้าง ประกาศแผนให้เหมือนอย่างที่อินโดนีเซียทำ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะเป็นฐานการผลิตของโลกอย่างไร เมื่อต่างประเทศมาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารับบาลจะช่วยเหลืออย่างไร  จะแก้ปัญหาแรงงานอย่างไร จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาปิดถนนประท้วงได้อย่างไร  
อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์
ส่วน อัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า “ขณะนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยเจอปัญหาค่อนข้างหนักหลายเรื่อง แต่ถือว่ายังดีกว่าอินโดนีเซีย ที่กำลังตามไทยมาติดๆ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยจะเติบโตตามยอดผลิตรถยนต์ ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เรียกไปหารือเกี่ยวกับตัวเลขการส่งออกไปอินโดนีเซียลดลงเหลือประมาณ 6% แม้ว่าจะยังคงเติบโตอยู่ แต่เติบโตลดลงจากเดิมเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 20% เนื่องจากอินโดนีเซียเริ่มผลิตชิ้นส่วนเอง ทำให้ยอดส่งออก 6 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่น่าตกใจมากนัก เพราะตัวเลขการส่งออกไปประเทศอื่นไทยยังเป็นแชมป์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องยนต์”

ในปีนี้ค่ายรถประกาศตัวเลขการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 9 แสนกว่าคันเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีนัก ที่สำคัญพืชผลการเกษตร เช่น ข้าว ยาง ราคาตกต่ำ แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้น เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น เพราะประเทศไทยมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองในอาเซียน เราเป็นพันธมิตรทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย ที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศหลายรายแล้ว
อนุชาติ ดีประเสริฐ
สำหรับจุดอ่อนของไทยคือการเมืองไม่นิ่ง เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทำให้นโยบายหลายเรื่องเปลี่ยน ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียประกาศทิศทางชัดเจน นอกจากนี้เมื่อปี 2555 มีผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นตามค่ายรถญี่ปุ่นเข้ามาผลิตในบ้านเราจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันกับผู้ผลิตคนไทย ผู้ผลิตคนไทยหลายคนตกใจ บรรดาผู้ประกอบการรายเล็กหรือเอสเอ็มอี ไม่สามารถสู้ได้ ทำให้บางส่วนต้องหายไปจากอุตสาหกรรม วิธีรับมือก็คือหันไปหาผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ดึงมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยแข็งแกร่งขึ้น ทางรัฐบาลจะต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประกาศสนับสนุนเน้นการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ไปลงทุนสร้างโรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน 5 แห่งได้แก่ ด่านสะเดา มุกดาหาร สระแก้ว แม่สอดและหาดเล็ก จ.ตราด เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน มีความต้องการแรงงานคุณภาพเข้ามาเสริมจากนี้จนถึงปี 2560 อีกประมาณ 1.24 แสนคัน ภาคการศึกษาจะต้องเร่งหาทางสนับสนุนในเรื่องนี้

ปิดท้ายการเสวนากับ อนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผยว่า “ปัจจุบันเมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่ดี สถาบันการเงินจะค่อนข่างเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ แต่ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์หันมาทำลีสซิ่งเองมากขึ้น สภาพธุรกิจเช่าซื้อก็จะเดินทางสภาวะตลาดรถยนต์ เมื่อตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์ปีนี้ 6 เดือนลดลงประมาณ 40% ก็จะส่งผลกระทบกับธุรกิจเช่าซื้อไปด้วย แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น”

เมื่อเข้าสู่เออีซีจะทำให้มีรถยนต์เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการลงทุนและระบบขนส่งโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจรถเช่า จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะมีการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ สิ่งสำคัญผู้ประกอบการเช่าซื้อจะต้องเร่งวางกลยุทธ์การเข้าสู่เออีซี เพราะรูปแบบการเช่าซื้อจะเปลี่ยนไป นอกจากสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเดินทางไปลงทุนในต่างประเทศแล้ว บริษัทเช่าซื้อเองก็สามารถเดินทางไปลงทุนตั้งสาขาในต่างประเทศด้วยตัวเองด้วยก็ได้ แต่จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์รายใดเดินทางไปลงทุนยังต่างประเทศ จะมีบ้างก็เป็นเช่าซื้อรถจักรยานยนต์

ประเทศไทยมีกฎหมายเช่าซื้อที่เข้มแข็ง หากลูกค้าไม่ผ่อนค่างวดภายใน 4 เดือนสามารถยึดรถได้ แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว กัมพูชา ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ จึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน และควรหาพันธมิตรในประเทศนั้นมาร่วมลงทุนหากต้องการขยายสาขา สิ่งสำคัญคือหลายประเทศยังไม่มีระบบประกันภัยมารองรับ เชื่อว่าหากบริษัทเช่าซื้อรายใดสามารถตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ได้ จะถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เพราะเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีใครทำ นอกจากนี้รัฐบาลควรสนับสนุนให้รถมือสองในประเทศไทยสามารถส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้ เพราะปัจจุบันได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มีสต็อกเหลือจำนวนมาก หากให้การสนับสนุนในเรื่องภาษีและด้านต่างๆ จะทำให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

เมื่อรับทราบถึงแนวทาง ความสามารถและศักยภาพในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในหลากหลายมุมมอง พร้อมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง และการเคลื่อนไหวด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของกลุ่มประเทศอาเซียน กับบทสรุปที่ว่า ประเทศไทย..พร้อมแค่ไหน? ที่จะเข้าสู่ “เออีซี” สำหรับผู้ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้คงได้รับคำตอบเรียบร้อย

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ ASTVผู้จัดการ Motoring

กำลังโหลดความคิดเห็น