xs
xsm
sm
md
lg

ชมพิพิธภัณฑ์ ‘เมอร์เซเดส-เบนซ์’… ตามรอย 128 ปี เส้นทางดวงดาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เมืองสตุตการ์ท เยอรมนี
ช่วงเวลาของบางอย่างย่อมมีเรื่องราวและความสำคัญ ทั้งกับตนเอง ผู้คน และประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เหมือนอย่างรถยนต์ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ที่ทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมการขับเคลื่อน ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลายาวนานถึง 128 ปี นับเป็นรถยนต์ที่ประวัติศาสตร์ยาวนานและยังมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มาจนทุกวันนี้ โดยทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ใน “พิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์” สตุตการ์ท ประเทศเยอรมนี ซึ่ง“ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” กำลังจะพาไปเยี่ยมชมและตามรอยดาวดวงนี้…

นับเป็นอีกแลนด์มาร์คของประเทศเยอรมนี “พิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์” เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้คนมาเยี่ยมชมมากกว่าปีละ 7 แสนคัน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 40% เป็นชาวต่างชาติมาจากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก ที่รวบรวมประวัติศาสตร์ยานยนต์ในช่วงเวลายาวนานถึง 128 ปี และมีรถจัดแสดงมากกว่า 160 คัน ไว้ที่แห่งเดียวในตึก 9 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่โรงงานและสำนักงานใหญ่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์
ต้นกำเนิดนวัตกรรมยานยนต์ เปลี่ยนผ่านจากยุคเครื่องจักรไอน้ำ
ทันทีเวลา 9.00 น. ประตูพิพิธภัณฑ์เปิดต้อนรับคณะสื่อมวลชนไทย และนักเรียนเยอรมันกลุ่มใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่พาเราขึ้นลิฟท์ไปยังชั้น 9 บนสุด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑ์ ที่มีการจัดแสดงแบ่งออกเป็น 9 Regend Rooms หรือแสดงให้เห็นตั้งแต่ยุคบุกเบิกประดิษฐรถยนต์ครั้งแรกปี 1886-1900 ไปจนถึงยุคใหม่การขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษ ตลอดจนห้องรวบรวมตำนานและรถแข่งมอเตอร์สปอร์ตของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ขณะที่อีกส่วนจะเป็น Collection Rooms ที่รวบรวมรถยนต์และสิ่งเกี่ยวเนื่อง แบ่งออกเป็นธีมต่างๆ ตั้งแต่การเดินทาง ขนส่ง ช่วยเหลือ เซเลบริติ และฮีโร่ จากภาพยนต์อย่างเดอะ ลอสเวิลด์ เป็นต้น

แม้จะแยกห้องการแสดงออกเป็นกลุ่ม และมีถึง 9 ชั้น แต่การเดินชมพิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์ตลอด 2 ชั่วโมง กลับสะดวกสบาย ด้วยการออกแบบภายในอาคารให้เป็นรูปเกลียวคู่แบบ DNA ของมนุษย์ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการ เช่นเดียวกับรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยทางเดินชมวนจะค่อยๆลาดเอียงลงไปจนถึงชั้นล่างสุด แทบจะไม่มีบันไดเลยในการเชื่อมต่อแต่ละชั้นเลย
ร่างกระดาษของ คาร์ล เบนซ์  จุดเปลี่ยนสู่นวัตกรรมยานยนต์ใหม่
แน่นอนจุดเริ่มต้นจะต้องเจอกับรถสามล้อคันแรก Benz Three Wheeler และเครื่องยนต์สูบเดียว ในช่วงปี ค.ศ.1885-1886 ที่ได้นำมาใส่ในจักรยานยนต์คันแรกของโลก ผลงานของ Karl Benz และ Gottlieb Daimler สองคู่หูนักคิดและประดิษฐนวัตกรรมยานยนต์ ซึ่งรถสามล้อคันดังกล่าวชาวไทยหลายคนคงได้ชมแล้ว เพราะเมอร์เซเดสเบนซ์ ประเทศไทย ได้นำมาจัดแสดงในงานมอเตอร์โชว์เมื่อไม่กี่ปีก่อน

สิ่งที่น่าสนใจในช่วงยุคบุกเบิกนี้ เห็นจะเป็นร่างกระดาษประดิษฐรถตัวจริงคันแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมยานยนต์ต่อมา จากนั้นจะได้เห็นผลงานการสร้างรถหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ 4 ล้อ หัวรถจักร และรถชนิดต่างๆ ในยุคแรก พร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การพัฒนายานยนต์ และการก่อตั้งบริษัท เดมเลอร์-เบนซ์ เอจี ตลอดจนการแสดงให้เห็นถึงความอดทนและต่อสู้ เพื่อให้ผ่านช่วงก่อนและหลังสงครามโลก นั่นจึงทำให้ไม่เพียงต้องพัฒนายานยนต์ทางบก แต่ยังรวมถึงการพัฒนาเครื่องยนต์อากาศยานในกองทัพของเยอรมนีด้วย ซึ่งกว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์จะประสบความสำเร็จเช่นนี้ นับว่าต้องเจอสิ่งต่างๆ มากมาย
Mercedes Simplex 40PS  เครื่องยนต์แบบ 4 สูบ 35 แรงม้า
เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กว่าจะรวบรวมรถยนต์ หรือสิ่งต่างๆ มาไว้ได้ และมาเปิดเป็นทางการในปี 2006 ก่อนหน้านี้รถจำนวนหนึ่งต้องถูกไฟใหม้เสียหายไปใน 1903 ขณะที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งเดิม จึงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะรวบรวมมาเก็บรักษาไว้ใน Daimler Motoren Gesellschaft และย้ายมายังพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ในปัจจุบัน

ดังนั้นในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่จึงเห็นรถสามล้อ รถจักรยานยนต์คันแรก และรวมถึงจุดเปลี่ยนของพาหนะส่วนบุคคล นั่นคือรถยนต์ 4 ล้อ Daimler Motor Kutsche เครื่องยนต์ 1 กระบอกสูบแบบตั้ง 496 ซีซี ในปี 1886 ซึ่งนำมาสู่รถยนต์อีกมากมายที่จะพบเห็นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวมถึงคันที่ใช้ชื่อ Mercedes รุ่นแรกของแบรนด์ตราดาวในปี 1902 และขึ้นชื่อเรื่องของการออกแบบสวยงาม Mercedes Simplex 40PS เครื่องยนต์แบบ 4 สูบ 35 แรงม้า
Mercedes-Benz 10/40 Sport-Zweisitzer
ส่วนผู้ชื่นชอบความรถสปอร์ตคลาสสิค จะได้พบอย่าง Mercedes-Benz 10/40 Sport-Zweisitzer (1923) เครื่องยนต์ 4 สูบ 40 แรงม้า และ Mercedes-Benz 500K Spezial-Roadster (1936) สุดยอดของสปอร์ตคลาสสิคเปิดประทุนหลังคาผ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของราชวงศ์ในยุโรปและบุคคลชั้นสูงต่างๆ ซึ่งเมื่อพูดถึงสปอร์ตอีกคันต้องเป็น Mercedes-Benz รุ่น Gullwing หรือเจ้านกนางนวล คันที่จัดแสดงเป็นรุ่น 300SL Gullwing เครื่องยนต์ 6 สูบ 222 แรงม้า รถสปอร์ตคูเป้สุดคลาสสิคในยุค 50 สายพันธ์เดียวกับ 300SL Roadster ที่นับเป็นรถบุคคลชั้นสูงให้ความนิยมอีกรุ่น

พูดถึงบุคคลชั้นสูงหรือราชวงศ์แล้ว ในพิพิธภัณฑ์ยังจะมีรถยนต์ Mercedes-Benz 500SL Prince Diana (1991) รถยนต์ส่วนพระองค์ของเจ้าหญิง Diana ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังยืนยันว่าพระองค์ทรงขับรถคันนี้จริง โดยชี้ให้สื่อมวลชนไทยดูตรงที่เปิดประตู จะมีรอยขีดข่วนเต็มไปหมด เพราะเจ้าหญิงทรงไว้เล็บยาวนั่นเอง

นอกจากรถยนต์ส่วนบุคคล รถขนส่งต่างๆ รถบรรทุก และยูนิม็อกมินิ หรืออีแต๋นของคนเยอรมันในอดีต และคอลเลคชั่นเกี่ยวแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ตลอดจนรถยนต์เทคโนโลยีปัจจุบันและในอนาคตอย่างรถพลังงานไฟฟ้า และไฮบริดแล้ว สุดท้ายมาสู่ช่วงเวลาและความสำเร็จในวงการมอเตอร์สปอร์ตของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งจะได้พบกับรถแข่งจำนวนมากตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน... 
Mercedes-Benz 300SL Gullwing
ในจำนวนนี้จะได้พบกับ Mercedes-Benz 750 kg - Rennwagen W25 ว่ากันว่านี่แหละเป็นต้นกำหนดของสี Silver Arrow เพราะรถคันนี้เมอร์เซเดส-เบนซ์ได้นำไปแข่งในสนาม Nurburgring อันลือชื่อ แต่ติดปัญหาน้ำหนักเกินไปเพียง 1 กิโลกรัม ทางทีมงานจึงขูดสีของรถคันนี้ออกเหลือแต่สีพื้น Silver Arrow และทำให้ลดน้ำหนักตามกฎที่ 750 กิโลกรัม สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ และกลายเป็นอีกสีประจำแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ไปแล้ว…

พิพิธภัณฑ์เมอร์เซเดส-เบนซ์ นับว่ามีเรื่องราวมากมายทั้งเกี่ยวกับผู้คน ประวัติศาสตร์ และเทคโนโลยีการขับเคลื่อน ซึ่งหากใครไปประเทศเยอรมนี หรือยิ่งไปเมืองสตุตการ์ทไม่ควรพลาด โดยพิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น ค่าเข้าชม 8 ยูโร นักเรียนครึ่งราคา คนเกิดวันไปเที่ยวชม และสื่อต่างๆ ที่แจ้งล่วงหน้าเช้าชมฟรี!
Mercedes-Benz 500SL Prince Diana
Mercedes-Benz 750 kg – Rennagen W25
ความสำเร็จของเมอร์เซเดส-เบนซ์



กำลังโหลดความคิดเห็น