xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ดปรับกลยุทธ์รับ...พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยการก้าวไปอย่างรวดเร็วของโลก ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปด้วย เหตุนี้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ รวมถึงรถยนต์ จึงจำเป็นต้องปรับผลิตภัณฑ์ และกลยุทธ์การทำตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่นเดียวกับ “ฟอร์ด” ที่ได้สำรวจพบ 10 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจรองรับ...

สำหรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี สำรวจประจำปี 2557 จากรายงาน “Looking further with Ford 2014” ได้เปิดเผย 10 เทรนด์รับปีใหม่ของผู้บริโภคทั่วโลก พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็แข่งขันเพื่อหาเหตุผลของตนเอง (Vying for Validation) ด้วยการแสดงความเป็นตัวตนสู่สาธารณะอย่างเสรีมากขึ้น เพื่อสำรวจผลตอบรับของสังคม ทั้งในสื่อเสรีดั้งเดิมและสื่อดิจิตอล

ผู้บริโภคยังต้องการแสดงให้รู้ฉันคือใคร (Statusphere) ด้วยการแสดงออกชัดเจนเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือบางครั้งก็บอกอย่างอ้อมๆ จนทำให้การแสดงออกสถานะแบบเดิมสิ้นสุดลง ตลอดจนไขว่คว้าหาสินค้าและบริการบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของเขา หรือแบรนด์ของฉัน (Meaning vs. the Middle Man) และผู้หญิงมีบทบาทแถวหน้า หรือความสามารถเสมอผู้ชายมากขึ้น(Female Frontier)

ขณะเดียวกันการรับข้อมูลข่าวสารมีมากมาย ซึ่งอยู่แค่ปลายนิ้วสัมผัสตลอดเวลา แม้โมเม้นท์เล็กๆ ก็มีความหมาย (Micro Moments) แต่โลกที่เต็มไปด้วยหลากหลายจอในเวลาเดียวกัน ทำให้เราสามารถทำอะไรหลายอย่างได้รวดเร็ว หรือพหุภาระ(Myth of Multitasking) กลับทำให้ประสิทธิภาพของานลดลง และหลายครั้งมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มมีการชั่งน้ำหนัก หรือชักเย่อความรู้สึกตนเอง ระหว่างความกลัวการตกเทรนด์ หรือความสุขสงบที่ไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง (FOMO vs JOMO : Fear of Missing Out / Joy of Missing Out) และยังเกิดความรู้สึกวันวานยังหวานอยู่ (Old School) ผู้บริโภคโหยหาอดีตที่คุ้นชิน และนำไปสู่สุดยอดความต้องการของผู้บริโภค นั่นคือ “นวัตกรรมแห่งความสงบ” (Innovation’s Quiet Riot) เพื่อใช้เวลาไตร่ตรองสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตเขาจริงๆ รวมถึงการใส่ใจอนุรักษณ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainability Blues)

“จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฟอร์ดมีการปรับกลยุทธ์ต่างๆ ให้สอดคล้อง ไม่ว่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฟอร์ด และแนวทางการทำตลาด โดยได้เริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา” ธนบดี กุลทล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวและว่า

ปัจจุบันจะเห็นว่าฟอร์ดได้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร SYNC มาใช้กับรถยนต์ฟอร์ดแทบทุกรุ่น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการสื่อสารที่ต้องการความรวดเร็ว และไม่ตกกระแสของผู้บริโภค ตลอดจนเรื่องความปลอดภัย ขณะเดียวกันเรื่องสิ่งแวดล้อมจะเห็นจากการเปิดตัวเทคโนโลยีอีโคบูสต์(Eco Boost) ในรถยนต์ “เฟียสต้า อีโคบูสต์” เป็นต้น

โดยในเร็วๆ นี้ฟอร์ดจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สำหรับรถยนต์รุ่น “เอคโค่สปอร์ต” (EcoSport) รถอเนกประสงค์เพื่อคนเมือง ที่ตอบสนองความต้องการหลากหลายของผู้บริโภค หลังจากเปิดตัวไม่เป็นทางการมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หรือแนะนำสู่ตลาดล่วงหน้าเป็นเวลา 3-4 เดือน ซึ่งเป็นอีกกลยุทธ์ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ฟอร์ดอย่างแท้จริง และไม่จำเป็นต้องปิดบัง เพราะโลกทุกวันนี้มีการเชื่อมต่อรับรู้ข่าวสารถึงกันหมด ผ่านทางโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย

“นอกจากการสื่อสารกับลูกค้าตลอดเวลาผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งฟอร์ดเน้นแนวทางนี้มาตลอด ยังจะมีการจัดกิจกรรมตรงเข้าถึงผู้บริโภค เพื่อให้รับทราบผลิตภัณฑ์ฟอร์ดโดยตรง รวมถึงการเพิ่มเครือขายการขายเข้าไปสู่ระดับย่อย อย่างอำเภอ หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ฟอร์ดสามารถเติบโตทางธุรกิจต่อเนื่อง แม้ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้จะชะลอตัวลง คาดเหลือเพียง 1.1 ล้านคัน จากเดิมประเมิน 1.25 ล้านคัน จากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ฟอร์ดเชื่อมั่นจะมีสถานการณ์ที่ดีกว่าภาพรวมตลาด ดังเช่นเดือนมกราคมของปีนี้ แม้ตลาดจะลดลงมาก ฟอร์ดกลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 4.5% จากเดิมอยู่ที่ 3.9% นั่นแสดงให้เห็นลูกค้าให้ความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ฟอร์ดมากขึ้น” ธนบดีกล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น