xs
xsm
sm
md
lg

“อ้วน-เตี้ย” และหญิงสาว อยากขี่บิ๊กไบค์ ทำได้หรือแค่ฝัน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องยอมรับว่าการได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์หล่อๆ สักคัน คงเป็นหนึ่งในความฝันของคุณผู้ชายหลายคน ทว่ามันจะเป็นความจริงได้อย่างไร หากเงินถึงแต่สรีระทางร่างกายไม่พร้อม อย่างผู้ที่มีรูปร่างอ้วนเกินไป ผอมเกินไป หรือกระทั่งเตี้ยเกินไป รวมถึงหญิงสาวชาวเอเชียที่รูปร่างบอบบางตัวเล็กความกังวลดังกล่าวจะมีผลต่อการขับขี่หรือไม่? ว่าที่นักบิดมือใหม่อย่าเพิ่งถอดใจ หากยังไม่ได้อ่าน...

อ้วนเกินไปไม่ใช่ปัญหา

พูดถึงเรื่องน้ำหนักตัวหรือความอ้วน นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการคร่อมบิ๊กไบค์คันโตด้วย อย่างในรูปที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ คือ นักบิดร่างใหญ่ผู้มีน้ำหนักตัวกว่า 130 กก. เจ้าของคาวาซากิ นินจา 650 และเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่มาเรียนการขับขี่กับ อ.โฮ้ เรซซิ่งสคูล โดยผู้ฝึกสอน เล่าว่า

“มือใหม่คนนี้มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน ซึ่งปัญหาที่ส่งผลต่อการขับขี่ของเขาคือ เวลาขึ้นและลงรถจะลำบากกว่าคนอื่น หรือแม้ตอนนั่งพุงก็จะติดถัง ทำให้ดูอึดอัดขาดความคล่องตัว ดูจากรูปนี้ก็ได้เพราะผมเป็นคนถ่ายเอง โดยรวมจะเสียเปรียบกว่าคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า แต่หลังจากเรียนรู้หลักการที่ถูกต้องแล้ว จากข้อด้อยจะกลายเป็นข้อดี เพราะด้วยน้ำหนักที่มากเหมือนมีคนซ้อนท้ายตลอดเวลา การเข้าโค้งรถจะนิ่ง เนื่องจากระบบซับแรงกระแทกจะไม่ดีด”

โดยหลังจากฝึกอบรมเริ่มต้นจากรุ่นเล็ก คาวาซากิ เคเอสอาร์ 110 ซีซี. ใช้เวลาเพียง 1 วัน อาจารย์สอนขับขี่ เล่าต่อว่า “เย็นวันนั้นเขาโทรมาขอบคุณและบอกถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ตัวเขาสามารถคุมรถได้ง่ายขึ้น ปกติไม่กล้าขี่เร็วเพราะเลี้ยวไม่ถนัด แต่เดี๋ยวนี้ทำได้อย่างสบายและรู้สึกมีความสุขกับการขี่รถมากขึ้น”

เตี้ยขาสั้นกลัวยันไม่ถึงพื้น

ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียวสำหรับความสูงของนักบิดมือใหม่กับการขับขี่บิ๊กไบค์ ซึ่งอาจทำให้หลายคนยอมยกธงขาวก่อนที่จะได้ลองเองด้วยซ้ำ ถ้างั้นลองมาฟังประสบการณ์ตรงจาก ป็อป-พีรยุทธ ภู่นภานนท์ ชายหนุ่มผู้มีส่วนสูงเพียง 155 ซม. กับการขับขี่มอ'ไซค์ขนาดใหญ่มายาวนานกว่า 15 ปี เขามีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

นักบิดมือเก๋า เล่าว่า ส่วนสูงมีผลต่อการขับขี่แค่เฉพาะเวลาขึ้น-ลง และขณะจอดรถเท่านั้น หากเมื่อล้อหมุนแล้ว การควบคุมรถทุกอย่างเหมือนกันหมดทุกคน ไม่ว่าจะอ้วน-ผอม สูง-เตี้ย ชาย-หญิง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความชำนาญมากกว่า

“เวลาจอดขาไม่ถึงทั้งสองข้าง เราก็ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งมายันพื้น ซึ่งลักษณะของคนที่สูงไม่มากแบบผม ก็จะยันได้เพียงข้างเดียวและเป็นข้างเดียวแบบไม่ค่อยเต็มเท้าด้วย ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ทักษะในการทรงตัวล้วนๆ สมมุติว่าเราจะเอาเท้าขวายันพื้นเราก็ต้องทำให้รถมันเอนไปทางขวาเพื่อให้เท้าขวายันได้ ไม่ใช่จะเอาขาขวาลงแต่รถดันเอนไปทางซ้าย” ป็อป-พีรยุทธ อธิบายต่อว่า

“ส่วนวิธีการจะให้มันเอนไปทางขวาก็ง่ายๆ ก่อนรถเกือบจะหยุดสนิทให้เราเลื่อนก้นไปทางขวานิดหนึ่งและเอาขาขวามารอไว้ และก่อนรถจะหยุดประมาณ 1 เมตรให้หักแฮนด์ไปทางซ้าย โดยที่ตัวรถยังตั้งตรงและค่อยๆ บีบเบรกหน้าจนรถหยุด สิ่งสำคัญคือการหักแฮนด์ไปทางซ้าย เพราะว่าพอเราหักไปทางซ้ายแล้วบีบเบรก รถจะเอนไปทางขวา และจะพอดีกับเท้าขวาของเราซึ่งกางไปรออยู่แล้ว และทริกเล็กๆ คือ บางครั้งพื้นสูงต่ำหรือมีหลุม เราจะต้องเลือกพื้นด้านที่สูงกว่าเพื่อขาจะได้ยันถึงได้มากกว่าอีกข้าง ดังนั้นบางครั้งพื้นข้างซ้ายสูงกว่าด้านขวาก็ต้องใช้เท้าซ้ายยันบ้าง โดยใช้วิธีตรงข้ามกับที่ได้บอกเอาไว้ข้างต้น”

อย่างไรก็ตาม แม้จะปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นอัตโนมัติ แต่ป็อปเน้นย้ำว่า ทุกวันนี้ยังต้องระวังปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะการพารถคันโปรดล่าสุด ซูซูกิ ฮายาบูสะ GSX-1300 พิกัด 1,300 ซีซี. ขับขี่ออกไปท่องเที่ยว ด้วยน้ำหนักรถกว่า 200 กก. หากพลาดพลั้งไปแล้ว ร่างกายไม่มีทางรับมือไหวแน่นอน

สำหรับมือใหม่ที่มีส่วนสูงน้อย หากยังไม่มั่นใจ ตามไปอ่านเคล็ดลับของนักบิดร่างเล็กคนนี้ ในหัวข้อ “สูงแค่ไหนถึงจะขี่ BigBike ได้ และขาไม่ถึงจะขี่ได้ยังไง” ได้ที่แฟนเพจ Thai Superbike (ชุมชนคนรัก Superbike)

สุภาพสตรีกับการขี่บิ๊กไบค์

นอกจากหนุ่มๆ แล้ว คงมีสุภาพสตรีจำนวนไม่น้อยที่มีความฝันอยากขับขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน แต่ด้วยสรีระที่แตกต่างจึงเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า จะควบคุมรถได้หรือไม่ คำถามนี้มีคำตอบ

จากข้อมูลของกลุ่ม Girl Riders หรือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นสาวๆ ที่รักการขี่มอเตอร์ไซค์คันโต ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า

“ด้วยสรีระของผู้หญิงเอเชีย ต้องยอมรับค่ะ ว่าเราไม่ได้สูงใหญ่ ถ้าจะสูงก็ออกไปทางผอม แต่ก็ขี่ได้ โดยมันจะมีข้อจำกัด ถ้าตัวเล็กหรือความสูงน้อยมากจริงๆ แล้วคันที่คุณขี่ไม่ถึงแม้แต่เขย่งก็จะขี่ได้แต่ทางตรง โดยให้คนจับท้ายแล้วเราก็บิดคันเร่งออกไป แต่จะลำบากตอนจอดและกลับรถ จึงเป็นเหตุผลว่ารถที่คุณจะขี่ได้นั้น อย่างน้อยขาต้องถึงแบบเขย่งนิดหน่อย แต่ถึงขนาดเขย่งปลายเท้าแบบบัลเล่ต์ก็ไม่ไหว เพราะก็จะลำบากด้วยเหตุผลข้างต้นอีก”


โดยหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักบิดสุภาษสตรี แฮปปี้-นิธิมา ทักษอุดม นักแข่งสาวกับรถคู่ใจ ซูซูกิ GSX-R1000ขนาด 1,000 ซีซี. เผยเคล็ดลับการขับขี่ว่า

“สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ขนาดของร่างกาย แต่อยู่ที่จิตใจว่ามีความมุ่งมั่นขนาดไหน อย่างสมาชิกในกลุ่ม Girl Riders มีความสูงอยู่ระหว่าง 155-165 ซม.เองค่ะ แต่ถ้ารถใหญ่มากๆ ก็จะเสียวเล็กๆ เวลาวิ่งด้วยความเร็วต่ำ สุดท้ายจะขี่ได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทักษะนั่นเอง และทักษะเหล่านั้นก็มากการฝึกฝนบ่อยๆ จนเกิดความชำนาญ ส่วนเพื่อนๆ มือใหม่ที่มีข้อสงสัยหรือยังไม่มั่นใจว่าจะขี่ได้ ทางกลุ่มยินดีให้คำปรึกษา ฝากคำถามไว้ที่หน้าแฟนเพจได้เลยค่ะ”

คำตอบสุดท้ายเรียนกับกูรู

ท้ายที่สุด หากต้องการความมั่นใจคงไม่มีอะไรดีเกินไปกว่าได้เข้าคอร์สอบรมการขับขี่อย่างจริงจัง โดยปัจจุบันค่ายสองล้อที่จำหน่ายบิ๊กไบค์ทุกยี่ห้อต่างจัดกิจกรรมการสอนให้กับลูกค้าของตัวเองตลอดเป็นระยะๆ อยู่แล้ว รวมถึงมีกลุ่มผู้ชำนาญเฉพาะทางสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับบุคคลคนที่สนใจ อย่างเช่น กลุ่ม Storm club ซึ่งรับจัดกิจกรรมอบรมให้กับนักบิดมือใหม่ หรือหากไม่สะดวกเรียนเป็นกลุ่ม จะเลือกอบรมแบบตัวต่อตัวก็ได้ อาทิ การเรียนกับอดีตนักแข่งอย่าง อ.โฮ้ เรซซิ่งสคูล หรือครูฝึกท่านอื่นๆ ที่เปิดหลักสูตรการสอนเช่นเดียวกัน

เอาเป็นว่าลองสืบค้นข้อมูลก่อนตัดสินใจ ไม่ว่าจะสะดวกแบบไหน รับรองปัจจุบันมีให้เลือกครบทุกความต้องการอย่างแน่นอน

...หวังว่าจากข้อมูลทั้งหมดน่าจะทำให้ว่าที่นักบิดมือใหม่ทั้งหลาย ซึ่งกำลังถอดใจจะหันกลับมาทำตามความฝันอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าหากมีใจรักการขับขี่บิ๊กไบค์และได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างถูกวิธีแล้ว ปัญหาด้านสรีระคงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องกังวลกันอีกต่อไป...


กำลังโหลดความคิดเห็น