xs
xsm
sm
md
lg

นิสสันเดินหน้าเทคโนโลยีใหม่ -‘เทียน่า’จ่อคิวมาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับตั้งแต่นิสสันประกาศใช้ไทยเป็นฐานการผลิตอีโคคาร์ 2 รุ่น และล่าสุดเพิ่งเปิดตัวคอมแพ็กต์คาร์รุ่นใหม่ “นิสสัน ซิลฟี” ทำให้นิสสันเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ใช่ว่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะนิสสันจะมีการส่งรถใหม่สู่ตลาดอีกหลายรุ่นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า และวันที่ 2 พ.ย.ศกนี้ นิสสัน ประเทศไทย จะประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ในไทยอีกครั้ง เพื่อทั้งรองรับการผลิตรถยนต์เพิ่มในไทย ซึ่งย่อมรวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ทันสมัย มาใช้ในกระบวนการผลิตและติดตั้งกับรถยนต์รุ่นใหม่ เหตุนี้นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น จึงได้เชิญสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง รวมถึง “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ไปทำความรู้จักเรื่องราวดังกล่าว เพราะไทยเองเป็นหนึ่งที่จะได้ใช้เทคโนยีและรถรุ่นใหม่ๆ นั้นแน่นอน…

ในการเดินทางมาประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับฟังเทคโนโลยีล้ำสมัยของนิสสัน ได้มีโอกาสไปสัมผัสกับฐานบัญชาการใหญ่ของนิสสันทั่วโลก หรือ Nissan Global Headquarters ที่เมืองโยโกฮามา และเพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน นับเป็นฐานของนิสสันที่ทันสมัยและยังออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจำนวนทั้งหมด 22 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 8 หมื่นตารางเมตร ซึ่งอาคารดังกล่าวนอกจากจะเป็นที่ปฏิบัติงานแล้ว ศูนย์ผลิตสื่อของนิสสันก็อยู่ที่นี่ และยังมีการจัดแสดงรถยนต์รุ่นต่างๆ และเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย
นิสสัน อัลติมา ที่เพิ่งเปิดตัวในอเมริกา คาดว่าจะเป็น นิสสัน เทียน่า โฉมใหม่ ที่จะทยอยเปิดตัวขายในตลาดโลกรวมถึงประเทศไทย
แน่นอนหัวใจสำคัญของโปรแกรมครั้งนี้ อยู่ที่เรื่องเทคโนโลยีทันสมัยของนิสสัน ดังนั้นจึงได้มีโอกาสไปสัมผัสฐานบริหารการผลิตของนิสสันที่เมืองซามะ ซึ่งถือเป็นแกนหลักของกระบวนการผลิตรถยนต์นิสสันทั่วโลกทั้งหมด นับตั้งแต่เรื่องแผนงาน การทดลองการผลิตสู่ตลาด หรือ Mass Production และรถยนต์โมเดลใหม่ๆ แม้แต่รถไฟฟ้าที่เป็นธงของนิสสันในอนาคต ตลอดจนขั้นตอนการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิตตัวถัง พลาสติก และอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตตามฐานผลิตต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยที่ถูกเลือกให้เป็นฐานผลิตแรกของบางโมเดลด้วย

ทั้งนี้กระบวนการผลิตที่กล่าวมาทั้งหมด เรียกว่า Global Product Engineering Center (GPEC) เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2007 ขณะที่การพัฒนารถใหม่ๆ ภายใต้โปรแกรม GPEC ของนิสสัน นับตั้งแต่ปี 2011 ไปจนถึงปี 2016 จะมีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ของนิสสัน และอินฟินิตีสู่ตลาดถึง 51 รุ่น และไทยได้รับเลือกให้เป็นฐานการผลิตตามกระบวนการดังกล่าว รวมถึงรถยนต์โมเดลใหม่ๆ ครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นนิสสัน มาร์ช, อัลเมรา และซิลฟี รวมถึงรถโมเดลอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตเร็วๆ นี้

สาเหตุที่ทำให้นิสสันสามารถพัฒนารถรุ่นใหม่ได้มากมาย และเริ่มการผลิตได้รวดเร็วเกือบพร้อมๆ กันทั่วโลก เพราะโปรแกรม GPEC เป็นกระบวนการที่ลดขั้นตอนต่างๆ ลงมากกว่าครึ่ง แต่มีประสิทธิภาพการผลิตดีกว่าเดิม ซึ่งได้มีการนำกระบวนการดิจิตอลเข้ามาใช้ จนเมื่อทุกอย่างพร้อมจึงจะเริ่มทำการทดลองผลิต 2 ขั้นตอนเท่านั้น ขณะที่เดิมจะต้องทดลองการผลิต 4-5 ขั้นตอน จากจุดแข็งดังกล่าวจะเห็นว่า นิสสัน มาร์ช เริ่มผลิตและเปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศไทย แต่หลังจากนั้นอีก 6 เดือน ได้ทยอยเริ่มในฐานการผลิตอื่นๆ ทั่วโลก
รถไฟฟ้าไร้สาย (Wireless EV ) ที่สามารถจอดรถอัตโนม้ติแล้ว จุดจอดในบ้านยังติดตั้งระบบชาร์จแบตเตอรี่ได้แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก

แน่นอนว่าการที่ไทยจะต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของโปรแกรม GPEC ไม่ใช่เพียงนิสสันจะนำไปใช้ได้เลย จำเป็นต้องมีทีมวิศวกรไทยมาฝึกอบรม และเรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ที่ฐานการผลิตเมืองซามะแห่งนี้ ซึ่งอย่างที่บอกรถยนต์รุ่นต่างๆ จากทั่วโลกจะต้องเริ่มทดลองกระบวนการผลิตอยู่ที่นี่ และจากการเยี่ยมชมฐานแม่แบบของนิสสัน แม้รถจะถูกคลุมผ้าไว้เกือบหมด แต่ยังสามารถเห็นบางรุ่นได้ชัดเจน ว่านั่นเป็น “นิสสัน อัลติมา” (Nissan Altima) ที่เพิ่งเปิดตัวไปในสหรัฐอเมริกา และจากการรับฟังเสียงของชาวนิสสัน รถรุ่นนี้ชัดเจนว่าจะเป็น “นิสสัน เทียน่า” โฉมใหม่ ที่จะทยอยเปิดตัวขายในตลาดโลก รวมถึงประเทศไทยที่จะถูกส่งลงบุกตลาดในปีหน้า

นั่นเป็นกระบวนการผลิตที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของนิสสัน แต่สิ่งที่ท้าทายของนิสสันในอนาคตอันใกล้นี้ ดูจะเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในรถยนต์ และเพิ่งประกาศเทคโนโลยีต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางสื่อมวลชนไทย และอีก 3-4 ประเทศจากทั่วโลก เดินทางมาสัมผัสและทดลองเทคโนโลยีเหล่านี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาใช้ในรถยนต์ของนิสสันตามวิชั่น 2015 ครอบคลุมทั้งเรื่องระบบความปลอดภัย เรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชีวิตในห้องโดยสาร และเทคโนโลยีเพื่อสมรรถนะของรถ

เริ่มจากเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะนิสสันรุกด้านนี้มาก ตามนโยบายมุ่งสู่การเป็นผู้นำผลิตรถไร้มลพิษ (Zero Emission Leadership) จากการเปิดตัว “นิสสัน ลีฟ” รถไฟฟ้าทันสมัยคันแรกของโลก ที่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมออกสู่ตลาด และในไม่ช้าจะตามมาด้วย นิสสัน อี-เอ็นวี200 (e-NV200) รถไฟฟ้าล้วนเพื่อการพาณิชย์ขนาดเบา ขณะที่รถที่มีอยู่อย่างรุ่นลีฟได้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการนำพลังงานไฟฟ้าจากลีฟไปใช้กับอุปกรณ์ครัวเรือนในบ้าน รวมถึงการดูดพลังงานที่ไม่ได้ใช้ และล่าสุดเป็นรถไฟฟ้าไร้สาย(Wireless EV) ที่สามารถถอยจอดรถอัตโนมัติแล้ว จุดจอดในบ้านยังติดตั้งระบบชาร์จแบตเตอรี่ได้แบบไม่ต้องเสียบปลั๊ก นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะนิสสันยังมี รถไฟฟ้าไฮบริด หรือเอฟเอฟ-เอชอีวี(FF-HEV) ที่พัฒนาสู่ตลาด ภายใต้ชื่อแบรนด์อินฟินิตี้อีกด้วย

ในส่วนของเทคโนโลยีเพื่อสมรรถนะของรถ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยเป็นเกียร์ XTRONIC CV-T โดยล่าสุดนิสสันได้พัฒนาเจเนอเรชันใหม่ของเกียร์นี้ออกมา ไม่เพียงสมรรถนะอัตราเร่งต่อเนื่องและนุ่มนวล ยังให้ความประหยัดมากขึ้นอีกกว่า 10% โดยปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ในรถรุ่นอัลติมา หรือที่จะเป็น “นิสสัน เทียน่า” ในไทย และตลาดอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ในรถอินฟินิตียังมีระบบพวงมาลัยครั้งแรกในโลก ที่ควบคุมอัตโนมัติให้ลดการสั่นสะเทือนจากพื้นถนน และสัมผัสได้ถึงความนิ่งนุ่มนวล
เมื่อคนเดินข้ามถนนมาแบบฉุกเฉิน ระบบเรดาร์จะตรวจจับและอีซียูสั่งให้พวงมาลัยหักหลบเองโดยอัตโนมัติ

เทคโนโลยีเกียร์ซีวีทีใหม่ยังช่วยเสริมการเบรก โดยใช้กำลังฉุดหน่วงเครื่องยนต์ช่วย (Active Engine Brake) ซึ่งจะทำให้การเข้าโค้งด้วยความเร็วเกินไป และเมื่อแตะเบรกช่วย ระบบจะบอกให้ซีวีทีทำงานเป็นเกียร์ต่ำ ใช้กำลังฉุดหน่วงเครื่องยนต์ช่วย ทำให้ผู้ที่ขับรถใหม่ๆ ควบคุมได้ง่าย และลดการใช้งานของเบรก ไม่เพียงเท่านั้นระบบนี้ยังช่วยลดความเร็วเมื่อขับทางตรงเช่นกัน โดยไม่ต้องย้ำเบรกหลายครั้งจนเกิดการกระตุก ขับได้เรียบเนียนขึ้น

โดยระบบฉุดหน่วงกำลังเครื่องยนต์นี้ มาพร้อมกับซีวีทีเจเนอเรชันใหม่ ที่ปัจจุบันติดตั้งในรุ่นอัลติมาใหม่ ดังนั้นนิสสัน เทียน่า โฉมใหม่ ที่จะขายในไทยปีหน้าจะต้องมีมาให้เช่นกัน และไม่ใช่เพียงเท่านี้อัลติมาใหม่ยังพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัย อย่างการติดตั้งกล้องมองหลัง ที่จะแสดงสัญญาณและภาพหน้าจอ ด้วยระบบค้นหาวัตถุเคลื่อนไหวขณะถอยหลัง หรือด้านข้างจะแสดงผ่านไฟสัญญาณเตือน และสัญลักษณ์เตือนเมื่อออกนอกช่องทางเดินรถของตนเองแบบผิดปกติ
นิสสัน อี-เอ็นวี200 รถไฟฟ้าล้วนเพื่อการพาณิชย์ขนาดเบา
เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย เป็นอีกจุดมุ่งหมายสำคัญของนิสสัน(Nissan Safety Goals Vision 2020) ซึ่งไฮไลต์ในอนาคตอันใกล้นี้ เห็นจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีพวงมาลัยหักหลบฉุกเฉินอัตโนมัติ เมื่อคนเดินข้ามถนนมาแบบฉุกเฉิน ระบบเรดาห์จะตรวจจับและอีซียูจะสั่งให้พวงมาลัยหักหลบเองโดยอัตโนมัติ รวมถึงกรณีจะเกิดการชนฉุกเฉิน ระบบจะสั่งให้หยุดรถอัตโนมัติฉุกเฉินเช่นกัน

เทคโนโลยีใหม่ของนิสสันยังครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตในรถ โดยให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับนั่งโซฟาชั้นดี หรือให้สัมผัสที่นุ่มนวลสบาย จากการพัฒนาวัสดุหนังสังเคราะห์ชนิดใหม่ ที่ปัจจุบันใช้กับรถอินฟินิตี เอ็ม(ฟูกา) และยังต่อยอดมายังรถรุ่นใหม่รุ่นเซนทรา หรือ “นิสสัน ซิลฟี” กับการพัฒนาแผงอุปกรณ์ที่นิ่มตรงคอนโซล ผลิตจากหนังสังเคราะห์เป็นผิวนอกหล่อขึ้น และหุ้มด้วยวัสดุยูรีเทนที่นิ่มและมีความบางเพียง 1 มม. และล่าสุดได้พัฒนาเบาะนั่งให้นั่งสบายตลอดการเดินทาง ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำมาวางในเก๋งขนาดกลางอัลติมารุ่นใหม่ หรือ “นิสสัน เทียน่า” โฉมใหม่ด้วย

ทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีใหม่จากนิสสัน ที่ได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ในกระบวนการผลิต ตลอดจนรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะทยอยเปิดตัวออกมา รวมถึงที่คนไทยจะได้สัมผัสในเร็วๆ นี้ “นิสสัน เทียน่า” โฉมใหม่ ส่วนผลการได้ทดสอบประสิทธิภาพเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ ไว้ฉบับต่อไปจะนำมารายงานอีกครั้ง…
กำลังโหลดความคิดเห็น