เดินหน้าลุยเต็มสูบ! สำหรับค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม(GM) ในการบุกตลาดรถยนต์ไทย ภายใต้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ “เชฟโรเลต” เห็นได้จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ สู่ตลาดไทยอย่างต่อเนื่อง 3-4 โมเดล ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา และล่าสุดส่งซับคอมแพ็กต์โมเดลใหม่ “เชฟโรเลต โซนิค” เขย่าตลาดอีกรุ่น และแน่นอนจะต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ส่วนจะประสบความสำเร็จแค่ไหน? และทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร?... มาร์ติน แอพเฟล ประธานกรรมการ ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด จะมาให้คำตอบ…
ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก
เพียงครึ่งแรกของปีนี้ก็มียอดขายมากกว่าปีที่ผ่านมาทั้งปี ด้วยจำนวนกว่า 3.22 หมื่นคัน หรือเติบโต 112% โดยรถทุกรุ่นได้รับการตอบรับดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเชฟโรเลต แคปติวา ปิกอัพโคโลราโด เก๋งคอมแพ็กต์รุ่นครูซ หรือแม้แต่รุ่นอาวีโอที่เป็นโมเดลเก่ายังมียอดขายสูงขึ้น และล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์สู่ตลาด แต่จุดสำคัญเชฟโรเลตมีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตมากสุดในตลาด จึงนับเป็นความสำเร็จอย่างมาก และในภูมิภาคอาเซียนก็เช่นเดียวกันมียอดขาย 3.98 หมื่นคัน มากกว่าปีที่ผ่านมา 90%
เป้าหมายตลาดทั้งปี 2555
จากตัวเลขครึ่งปีแรก และจากทิศทางของตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดครอบคลุมทุกเซกเม้นท์หลัก และล่าสุดได้มีการเปิดตัวเก๋งซับคอมแพ็กต์รุ่นใหม่ เชฟโรเลต โซนิค สู่ตลาดทั้งแบบซีดาน และแฮทช์แบ็ก รวมถึงการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายเป็น 112 แห่งในไทยปีนี้ ทำให้จีเอ็มมั่นใจจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 4.0-4.5 หมื่นคันในช่วงครึ่งปีที่เหลือ หรือมียอดขายสูงสุดในปีนี้ประมาณ 8 หมื่นคัน และเมื่อรวมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จะทำให้เชฟโรเลตมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1.1 แสนคัน
เรื่องความพร้อมของโรงงาน
เป็นอีกปัจจัยของความสำเร็จ โดยปัจจุบันโรงงานผลิตทั้ง 3 แห่ง คือ ปิกอัพ รถยนต์นั่ง และเครื่องยนต์ ได้เดินหน้าผลิตอย่างเต็มที่ และนับเป็นโรงงานที่มีความยืดหยุ่นในการผลิตสูงมาก สามารถผลิตรถยนต์ได้หลากหลายประเภท จึงรองรับตลาดในประเทศและส่งออกได้ได้กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ได้มีการผลิตปิกอัพ 3 กะ รถยนต์นั่ง 2 กะ และเครื่องยนต์ 3 กะ โดยล่าสุดโรงงานของจีเอ็มในไทย ได้มีการผลิตเสื้อสูบสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลดูราแม็กซ์ ซึ่งเป็นการเปิดสายการผลิตล่วงหน้าก่อนกำหนดการที่วางไว้ถึง 1 ปีเต็ม
โซนิคเครื่องยนต์แค่1.4ลิตร
เก๋งซับคอมแพ็กต์รุ่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเปิดตัวในไทยแห่งแรก แต่ได้มีการทำตลาดในหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว และได้รับการตอบรับดีมาก นั่นแสดงให้เห็นว่าด้วยรูปลักษณ์และสมรรถนะของเชฟโรเลต โซนิค เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั่วโลก ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะได้รับความนิยมจากลูกค้าในไทยเช่นกัน และแม้จะมีขนาดเครื่องยนต์ 1.4 ลิตร แต่หากลูกค้าได้ลองขับจะรู้สึกถึงสมรรถนะไม่แพ้เก๋งซับคอมแพ็กต์ในตลาดเลย
ขณะนี้ลูกค้ารอรับรถกี่เดือน
แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นและความนิยม ซึ่งรถที่ลูกค้าต้องการมากก็จะรอนาน แต่เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.-3 เดือน อย่างเชฟโรเลต แคปติวา 3 เดือน รุ่นครูซจะรอประมาณ 2 เดือน และปิกอัพโคโลราโดแล้วแต่รุ่น อย่างไรก็ตามจากการเดินการผลิตอย่างเต็มที่ ทำให้ประมาณช่วงปลายปีสถานการณ์น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งตามมาตรฐานแล้วลูกค้าที่จองซื้อรถควรจะรอไม่เกิน 8 สัปดาห์
ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อตลาด
เรื่องราคาน้ำมันไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ แม้จะมีขึ้นแต่ไม่สูงมาก และดูเหมือนจะลดลงมากกว่า ขณะที่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป คิดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก และจริงๆ ปัญหาเศรษฐกิจโลกเกิดมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจกรีซ และมาสู่ยุโรป จึงเชื่อว่าประเทศในเอเชียได้มีการตั้งรับไว้แล้ว และจีเอ็มกลับมองเป็นสิ่งดีต่อภูมิภาคเอเชีย เพราะจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนมาภูมิภาคเอเชีย
แต่ปัญหาอุทกภัยเป็นสิ่งที่ยากจะควบคุม ซึ่งก็ต้องดูการบริหารจัดการของรัฐบาลด้วย และจากการดูรายงานต่างๆ ดูยังไม่เพียงพอเท่าไหร่ในการรับมือ ต้องทำให้เห็นชัดมากกว่านี้ และอีกปัจจัยที่เป็นห่วงคือเรื่องการเมือง อยากจะให้การเมืองนิ่ง หรืออยู่เฉยๆ มากกว่า อย่าทำให้เกิดความขัดแย้ง ปล่อยให้ภาคเอกชนได้ดำเนินงาน หรือบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ที่จะเข้ามาก็พอแล้ว