อีโคคาร์ฟัดเดือด! บนเวทีบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2012 สะเทือนถึงตลาดเก๋งเล็กอื่น จนซับคอมแพ็กต์ต้องปรับตัวรับมือ พร้อมรักษายอดขายจากคู่แข่งในตลาดเดียวกัน โดยค่าย“ฟอร์ด” หลังเสียโอกาสขายจากโครงการรถคันแรก ล่าสุดไม่ยอมตกขบวน เปิดรุ่นใหม่ “เฟียสต้า 1.5 ลิตร” สู่ตลาด และปรับตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ให้ครอบคลุมเก๋งขนาดเล็ก ตั้งแต่อีโคคาร์ราคาไม่ถึง 6 แสนบาท ไปจนตัวท็อปออปชันจัดเต็ม ราคาทะลุ 7 แสนบาท ด้าน “เชฟโรเลต” เบรกคู่แข่ง นำโมเดลใหม่ “โซนิค” ซับคอมแพ็กที่จะแทนรุ่น “อาวีโอ” มาเผยโฉมในเวทีมอเตอร์โชว์ เพื่อยืนยันทำตลาดแน่ไตรมาส 3 ปีนี้ ด้วยทางเลือกครบทั้งตัวถังแบบ 4 และ 5 ประตู ส่วนยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ลุยไปก่อนกับ “ยาริส” เวอร์ชั่นปี 2012 ล่าสุดส่ง “วีออส” รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 50 ปีเสริมทัพ ขณะที่“มาสด้า2” เพิ่งแต่งหน้าทาปากใหม่ไป จึงชูแค่แคมเปญพิเศษสู้ พร้อมเร่งผลิตส่งมอบให้เร็วสุด เช่นเดียวกับ “ฮอนด้า” ที่กลับมาฟื้นการผลิตอีกครั้ง ด้วยการเริ่มผลิตรุ่น “ซิตี้” ประเดิมเป็นโมเดลแรก
หลังจากเวทีมอเตอร์เอ็กซ์โปเมื่อปลายปี ปิกอัพกลายเป็นพระเอกของงาน แต่ในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2012 ที่จะเริ่มในสัปดาห์นี้ ตลาดเก๋งขนาดเล็กกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง จากการแลกหมัดของอีโคคาร์ ที่ตอนนี้มีให้เลือกถึง 5 โมเดล จากการเปิดตัวของ 2 โมเดลล่าสุด “มิตซูบิชิ มิราจ” และ “ซูซูกิ สวิฟท์” ใหม่ ทำให้ปัจจุบันมีอีโคคาร์ถึง 4 ยี่ห้อ จากค่ายนิสสัน(มีอีโคคาร์2 รุ่น คือ มาร์ช และอัลเมร่า), ฮอนด้า, ซูซูกิ และมิตซูบิชิ เหลือเพียงโตโยต้ารายสุดท้ายที่จะส่งอีโคคาร์ทำตลาดในปี 2556 ส่งผลให้ตลาดรถขนาดเล็กคึกคักอย่างยิ่ง และแน่นอนย่อมกระทบต่อตลาดซับคอมแพ็กต์พอสมควร เพราะมีฐานลูกค้าที่ใกล้เคียงกัน เหตุนี้ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ ค่ายรถที่มีเก๋งซับคอมแพ็กต์จึงปรับวางกลยุทธ์รับตลาดที่แข่งรุนแรง ทั้งจากอีโคคาร์และเก๋งในกลุ่มเดียวกัน
“ตลาดเก๋งขนาดเล็กคงจะขยายตัวมาก ยิ่งมีปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันแพงมาส่งผลกระทบ จะทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อเก๋งขนาดเล็กมากขึ้น แต่จะทำให้การแข่งขันรุนแรงตามไปด้วย เพราะนอกจากเก๋งซับคอมแพ็กต์แล้ว ยังมีอีโคคาร์ที่เดิมมีเพียง 2 ยี่ห้อ แต่ล่าสุดได้เพิ่มเข้ามาอีก 2 ยี่ห้อ และที่สำคัญอีโคคาร์บางโมเดล เป็นเก๋งซับคอมแพ็กต์แต่ปรับลดเครื่องยนต์ลง ซึ่งคงส่งผลกระทบต่อเก๋งซับคอมแพ็กต์บ้าง ส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหน คงต้องรอดูตลาดอีกสัก 2-3 เดือน”
นั่นเป็นคำกล่าวของ “สาโรช เกียรติเฟื่องฟู” รองประธานฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการ ฟอร์ด ประเทศไทย พร้อมกับเปิดเผยกลยุทธ์แข่งขันในตลาดเก๋งขนาดเล็กว่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดซับคอมแพ็กต์ 10% เช่นเดิม จึงได้มีการได้มีการแนะนำรุ่นใหม่ “ฟอร์ด เฟียสต้า 1.5 ลิตร” สู่ตลาด สำหรับครอบคลุมทางเลือกหลากหลายของผู้บริโภค
“เฟียสต้ารุ่น 1.6 ลิตร จะตอบสนองลูกค้าที่ต้องการสมรรถนะและออปชั่นแบบเหนือระดับ ด้วยระดับราคามากกว่า 7 แสนบาทขึ้นไป โดยมีรุ่นใหม่ 1.5 ลิตร จะเข้ามาแทนในระดับราคา 6-7 แสนบาท ทำให้ผู้บริโภคได้รับออปชั่นเดียวกับเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร ในรุ่นสปอร์ต และเทรนด์เดิม และยังรับสิทธิ์คืนเงินภาษีภายใต้โครงการรถคันแรกเต็ม 1 แสนบาทด้วย ซึ่งหากเป็นรุ่นเดิมจะไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์นี้ ขณะที่รุ่น 1.4 ลิตร มุ่งเน้นลูกค้าที่ต้องการรถราคาต่ำกว่า 6 แสนบาทลงไป ดังนั้นการปรับผลิตภัณฑ์ใหม่ของฟอร์ด เฟียสต้า ส่งผลให้ครอบคลุมตลาดเก๋งขนาดเล็ก และตอบสนองตรงกับความต้องการลูกค้ามากขึ้น”
สำหรับฟอร์ด เฟียสต้า 1.5 ลิตรใหม่ เป็นแบบ Ti-VCT ใช้เครื่องยนต์ระบบแปรผันแคมชาร์ฟแบอิสระคู่ ให้กำลัง 109 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเกียร์อัตโนมัติพาวเวอร์ชิฟท์ 6 สปีด ทำให้มีสมรรถนะการออกตัว และประหยัดน้ำมันไม่แตกต่างจากรุ่น 1.6 ลิตร มีให้เลือกทั้งแบบ 4 และ 5 ประตู แบ่งเป็นแบบละ 2 รุ่นย่อย สปอร์ต และเทรนด์ ราคาเริ่มต้น 6.44-6.99 แสนบาท
ขณะที่รถอเมริกันอีกค่าย “เชฟโรเลต” แม้ไฮไลต์ในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2012 จะเป็นรถอเนกประสงค์แบบพีพีวี(PPV)โมเดลใหม่ “เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์” ซึ่งจะเปิดรับจองภายในงานนี้เป็นครั้งแรกในโลก ก่อนจะส่งมอบเป็นทางการในช่วงกลางปี แต่เพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้หนีไปจองรถคู่แข่งหมด จึงได้มีการนำซับคอมแพ็กต์โมเดลใหม่ “เชฟโรเลต โซนิค” มาเผยโฉมให้กับผู้บริโภคชาวไทย ได้สัมผัสก่อนเปิดตัวขายอย่างเป็นทางการ ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้แน่นอน
เชฟโรเลต โซนิค เป็นซับคอมแพ็กต์ที่มาทำตลาดแทนรุ่น “อาวีโอ” ในปัจจุบัน และจะทำตลาดถึงตัวถังแบบซีดาน และ 5 ประตู ด้วยแนวทางและสไตล์การออกแบบรูปลักษณ์เช่นเดียวกับ “เชฟโรเลต ครูซ” โดยเปิดตัวครั้งแรกในงานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2011 ซึ่งเปิดตัวทำตลาดที่สหรัฐอเมริกา กับเครื่องยนต์ขุมพลัง 1400 ซีซี เทอร์โบ 138 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 15.1 กก.-ม. ที่ 1,850-4,900 รอบ/นาที และอีกรุ่นเป็นเครื่องยนต์บล็อกเดียวกับครูซ คือ 4 สูบ 1800 ซีซี แต่มีกำลังลดลงมาอยู่ที่ 135 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 13.9 กก.-ม. ที่ 3,800 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรืออัตโนมัติ 6 จังหวะ
ส่วนยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ได้ชิงเปิดเกมรุกไปแล้ว ด้วยการแนะนำเวอร์ชั่นปี 2012 ของเก๋งซับคอมแพ็คแบบแฮทช์แบ็ค “โตโยต้า ยาริส” สู่ตลาด ซึ่งได้รับการปรับปรุงโฉมใหม่ ด้วยดีไซน์ที่ดูสปอร์ต โฉบเฉี่ยวทั้งภายในและภายนอก พร้อมยกระดับฉีกให้เหนือกว่า กับการแนะนำรถรุ่น RS เกียร์อัตโนมัติใหม่ ที่ตกแต่งเพิ่มความสปอร์ต ล้ำสมัย และปราดเปรียวในสไตล์ RS ซึ่งยาริสใหม่เปิดราคาเริ่มต้น 5.44-7.34 แสนบาท
ด้านรุ่น “วีออส” ซับคอมแพ็กต์ตัวธงของโตโยต้า ถูกนำมาทำเป็นเวอร์ชั่นฉลอง 50 ปีเช่นเดียวกับปิกอัพวีโก้ แชมป์ และฟอร์จูนเนอร์ โดยโตโยต้าเปิดรุ่น 1.5ES สีขาวและม่วง Estima พร้อมกกระจังหน้ารมดำ เช่นเดียวกับล้ออัลลอยลายใหม่รมดำขนาด 15 นิ้ว สีภายในดำ แผงคอนโซลกลางและแผงควบคุมกระจกไฟฟ้าสีเมทัลลิคใหม่ เบาะหนังและผ้าลายพิเศษ พรมรองพื้น และด้านท้ายสัญลักษณ์รุ่นพิเศษ 50 ปีของโตโยต้า เคาะราคา 6.99 แสนบาท
ขณะที่ค่าย “มาสด้า2” เพิ่งมีการตกแต่งไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร โดยจะมุ่งเน้นการผลิตเพื่อเร่งส่งมอบให้กับลูกค้าเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันมียอดค้างส่งมอบหลายพันคัน แต่เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคไม่หันไปซื้อยี่ห้ออื่น จึงมอบข้อเสนอพิเศษดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 2.35 พร้อมฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง
สำหรับค่าย “ฮอนด้า” ปลายเดือนมีนาคมนี้ เริ่มกลับมาฟื้นการผลิตอีกครั้ง หลังจากโรงงานจมอยู่ใต้น้ำ จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดย“ฮอนด้า ซิตี้” เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่จะขึ้นสายการผลิตก่อน ซึ่งเป็นรถที่มียอดค้างส่งมอบมากที่สุด จากนั้นจะเริ่มทยอยผลิต “แจ๊ซ” และรุ่นอื่นๆ ต่อไป ซึ่งปัจจุบันยอดค้างส่งมอบรวมทุกรุ่นอยู่ประมาณ 40,000 คัน ขณะที่กำลังการผลิตหลังจากเดือนมีนาคมจะทำได้ 20,000 คันต่อเดือน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน สถานการณ์ต่างๆ จะกลับสู่ภาวะปกติ
แม้เก๋งซับคอมแพ็กต์จะไม่มีการเปิดตัวโมเดลใหม่ มาฟัดกันดุเดือดเหมือนอีโคคาร์ แต่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ปรับไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ อัดแคมเปญ และกลับมาสู่เกมของค่ายฮอนด้า ทำให้เกมการแข่งขันกลับมาร้อนแรงขึ้น และเบรกการรุกคืบของอีโคคาร์ได้พอสมควร?!