• ฟอร์ดสร้างพนักงานดิจิทัลขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นของฮอลลีวูดเพื่อใช้ประเมินสรีระของพนักงานและทดลองผลิตรถรุ่นต่างๆ บนสายการผลิตแบบเสมือนจริง กระบวนการดังกล่าวช่วยลดการใช้กล้ามเนื้อของพนักงานในสายการผลิตและช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์
• นอกจากฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ที่ผลิตในประเทศไทยและแอฟริกาใต้แล้ว ฟอร์ดยังใช้อวตาร์ในการทดลองประกอบรถยนต์รุ่นใหม่ที่โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศจีน และใช้ในการผลิตฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ที่โรงงานในประเทศเยอรมนีและสหรัฐ
• ปัจจุบัน หุ่นจำลองแบบดิจิทัลระดับโลก ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกับพนักงานจริงๆ ในโรงงานประกอบรถยนต์ของฟอร์ดทั่วโลก
เดียร์บอน มิชิแกน – ย้อนกลับไปก่อนที่ฟอร์ดจะเริ่มต้นการผลิตชิ้นส่วนชิ้นแรกและก่อนที่จะมีการสร้างรถต้นแบบของฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ฟอร์ดได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดในการสร้างพนักงานแบบดิจิทัลขึ้น โดยหุ่นจำลองนี้นับว่าเป็นพนักงานคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ประกอบรถกระบะขนาดคอมแพ็คระดับโลกบนสายการผลิตแบบเสมือนจริงเพื่อทดสอบว่าสายการผลิตทั้งหมดได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับสรีระของผู้ทำงาน ทั้งเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและทำให้รถที่ผลิตมีคุณภาพดีเยี่ยม
อวตาร์แบบนานาชาติตัวใหม่ของฟอร์ดได้รับการพัฒนาขึ้นจากอวตาร์รุ่นก่อนหน้าคือแจ็คและจิล ซึ่งเป็นพนักงานเสมือนจริงของฟอร์ดในทวีปอเมริกาเหนือ โดยอวตาร์ตัวใหม่มีที่มาจากการเก็บข้อมูลด้านขนาดและรูปร่างของพนักงานในโรงงานประกอบรถยนต์ของฟอร์ดทั่วโลก เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวมาแล้ว ทีมนักวิจัยของฟอร์ดจึงสร้างหุ่นจำลองขึ้นเพื่อการประเมินข้อมูลด้านสรีรศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีบันทึกการเคลื่อนไหว (Motion capture) แบบเดียวกับที่ใช้ในภาพยนตร์สุดตื่นตาอย่าง “Mars Needs Moms” และในเกมอย่าง “Mortal Kombat” ทั้งนี้ Motion capture เป็นเทคโนโลยีในการจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์ด้วยระบบดิจิทัล และนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนในภาพยนตร์อนิเมชั่นให้สามารถเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
“ฟอร์ดเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเสมือนจริง” อัลลิสัน สตีเฟ่นส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรศาสตร์ประจำฝ่ายวิศวกรรมการผลิตยานยนต์ของฟอร์ด กล่าว “เรานำเอาเทคโนโลยีตรวจจับการเคลื่อนไหวจากฮอลลีวูดมาใช้ร่วมกับซอฟท์แวร์ในการสร้างหุ่นจำลองจากห้องแล็บของเราในเมืองดีทรอยต์ เพื่อออกแบบการทำงานและช่วยให้พนักงานในโรงงานในทวีปเอเชียและที่อื่นๆ ทั่วโลกไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อมากจนเกินไป เราปรับขนาดของแจ็คและจิลให้สอดคล้องกับสรีระของพนักงานฟอร์ดในโรงงานทั่วโลก ดังนั้น ทุกๆ ภูมิภาคจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราศึกษา”
สตีเฟ่นส์กล่าวว่าการที่ฟอร์ดกำลังสร้างโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งในทวีปเอเชียและในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้หุ่นจำลองตัวใหม่ต้องได้รับการออกแบบอย่างมีมาตรฐานเพื่อช่วยกำหนดทิศทางในงานวิศวกรรมและยกระดับคุณภาพในการผลิต
นอกจากฟอร์ด เรนเจอร์ ใหม่ ที่ผลิตในประเทศไทยและแอฟริกาใต้ หุ่นจำลองแบบดิจิทัลของฟอร์ดยังได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานระดับโลกเป็นครั้งแรก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตรถรุ่นใหม่ในโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ของฟอร์ดในประเทศจีน รวมทั้งเพื่อการประกอบฟอร์ด โฟกัส ใหม่ ในประเทศเยอรมนีและสหรัฐ
หุ่นจำลองตัวใหม่นี้คาดว่าจะช่วยสานต่อชื่อเสียงที่ดีเยี่ยมของฟอร์ดด้านการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในทวีปอเมริกาเหนือ หน่วยงานด้านการประเมินคุณภาพหลายแห่งได้ยกย่องว่าฟอร์ดมีความสามารถเทียบเท่าหรือเหนือกว่าผู้นำในอุตสาหกรรม ขณะที่การปฏิบัติงานทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก
ทิศทางการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวภายใต้แผน One Ford
แจ็คและจิลคือตัวอย่างของความสำเร็จในการออกแบบด้วยระบบดิจิทัล เนื่องจากข้อมูลด้านสรีรศาสตร์ทั้งหมดจากหุ่นจำลองทั้งสองตัวจะถูกส่งไปยังโรงงานแบบเสมือนจริงตามขั้นตอนการทำงานส่วนหนึ่งของฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยนักออกแบบ วิศวกร ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ และพนักงานที่ทำงานในสายการผลิตจะได้ทดลองประกอบรถทีละชิ้นส่วนแบบเสมือนจริง
ทั้งนี้ กระบวนการผลิตแบบเสมือนจริงทั้งหมดจะเกิดขึ้นก่อนที่ฟอร์ดและผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ภายในโรงงาน
ในการผลิตแบบเสมือนจริง แจ็คและจิลจะประกอบรถยนต์ทีละชิ้นส่วนเข้าด้วยกันบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่เต็มผนังด้านหนึ่งของอาคาร เพื่อให้ทีมงานสามารถพินิจพิเคราะห์ความเหมาะสมในการผลิตแต่ละส่วนได้อย่างละเอียด อาทิ การตรวจดูว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเชื่อมต่อกันได้ดีหรือไม่ในแต่ละขั้นตอนที่กำหนดขึ้นสำหรับโรงงานแห่งละแห่งโดยเฉพาะ
“โรงงานฟอร์ดในทั้ง 4 ภูมิภาคของโลกจะต้องใช้หุ่นยนต์จำลองแบบเดียวกัน เนื่องจากเรากำลังผลิตรถยนต์ระดับโลก บริษัทจึงต้องมีทิศทางในการทำงานด้านวิศวกรรมที่มีมาตรฐานและเราก็สามารถทำได้สำเร็จ” สตีเฟ่นส์ กล่าว
ในการกำหนดรูปลักษณ์ใหม่ให้กับแจ็คและจิลเพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับหุ่นจำลองรุ่นนี้ ฟอร์ดในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปได้เก็บข้อมูลจากพนักงานในโรงงานประกอบรถยนต์ 6 แห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศเม็กซิโก สเปน จีน เยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐ
จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐเพนซิลเวเนียเป็นผู้วิเคราะห์และกำหนดมิติที่เหมาะสม เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงรูปร่างที่ถูกต้องของพนักงานฟอร์ดทั่วโลก ผลจากการวิจัยครั้งนี้พบว่าพนักงานทั่วโลกของฟอร์ดตัวใหญ่กว่า สูงกว่า และมีน้ำหนักมากกว่าหุ่นจำลองรุ่นเดิม หุ่นจำลองเพศหญิงความสูง 160 เซนติเมตร จึงเป็นตัวแทนของพนักงานฟอร์ดที่ตัวเล็กที่สุดที่พบในโรงงานฟอร์ดทั่วโลก
เมื่อมีการสร้างหุ่นจำลองที่ได้มาตรฐานแล้ว โรงงานฟอร์ดในแต่ละภูมิภาคยังสามารถปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ ของหุ่นจำลองให้เหมาะสมกับประชากรในแต่ละภูมิภาค และให้เหมาะกับรุ่นของรถที่จะผลิตได้ด้วย
สานต่อความสำเร็จ
หุ่นจำลองที่ได้มาตรฐานรุ่นใหม่นับว่ามีประโยชน์ทั้งต่อการทำงานของพนักงาน บริษัท และต่อลูกค้าฟอร์ด
“ผลงานนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะทำให้ทุกๆ คนได้รับประโยชน์จากมาตรฐานการทำงานที่เป็นเลิศ” สตีเฟ่นส์ กล่าว “กระบวนการนี้ทำให้พนักงานไม่ต้องทำงานมากเกินกว่าศักยภาพทางร่างกายจะรับไหว พนักงานในสายการผลิตของเราจึงได้รับประโยชน์ และเมื่อพนักงานทำงานได้ถูกต้องและทำได้ดี บริษัทจึงมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และในที่สุด ลูกค้าของเราก็จะได้รับประโยชน์จากคุณภาพที่ดีเยี่ยมนี้”
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ทุกๆ ฝ่ายจะยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะฟอร์ดได้สานต่อความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นจำลองรุ่นใหม่ด้วยการสร้างห้องแล็บที่ติดตั้งเทคโนโลยีการตรวจับความเคลื่อนไหวเพื่อศึกษาด้านสรีรศาสตร์อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการออกแบบรถรุ่นใหม่ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ของฟอร์ดในเมืองเดียร์บอน มลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐ และในเมืองเมอร์เคนิช ประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ ฟอร์ดยังกำลังพัฒนาศูนย์การทำงานด้านภาพที่มีความทันสมัย (Visualization centres) พร้อมติดตั้งโทรทัศน์แบบ 3 มิติ ในโรงงานหลายแห่งทั้งในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้
“หากเราต้องการศึกษาด้านสรีรศาสตร์ภายในโรงงานจากทั้ง 2 ทวีป เราสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการส่งไฟล์ข้อมูลเพื่อให้พวกเขาศึกษาผ่านระบบ 3 มิติ ขั้นตอนนี้ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการสร้างห้องแล็บเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวแห่งใหม่” สตีเฟ่นส์ กล่าว
และในเวลาอีกไม่นาน หุ่นจำลองที่มีความทันสมัยทั้งสองตัวนี้ก็จะมีเพื่อนใหม่คือซานโตส ซึ่งเป็นอวตาร์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบที่สำนักงานฟอร์ด ซานโตสเป็นหุ่นจำลองที่ฟอร์ดสร้างให้แก่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ภายใต้โครงการวิจัยด้านการทหารแบบเสมือนจริงของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐไอโอวา เนื่องจากหน่วยงานด้านการทหารของสหรัฐต้องการใช้ซานโตสในการศึกษาวิธีลดความตึงเครียดทางร่างกายของทหาร
“ซานโตสจะถูกใช้ในงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกายสูงมากจึงต้องมีการวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อไปพร้อมๆ กัน” สตีเฟ่นส์ กล่าว “การวิเคราะห์ประเภทนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจึงรู้สึกตื่นเต้นที่จะมีซานโตสเป็นสมาชิกใหม่ในทีมของเรา”