xs
xsm
sm
md
lg

คอนติเนนทอลรุกอุตฯรถดันไทยฐานจัดซื้อ-เพิ่มลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - กลุ่มชิ้นส่วนระดับโลก “คอนติเนนทอล” มองอุตสาหกรรมรถยนต์เอเชีย-แปซิฟิกพุ่งแรง ยึดไทยเป็นหัวหาดบุกตะลุย เดินหน้าลงทุนอีก 450 ล้านบาท รองรับประสิทธิภาพและการผลิตระบบหัวฉีด-ระบบขับเคลื่อน พร้อมใช้เป็นฐานแลกเปลี่ยนจัดซื้อชิ้นส่วน หลังคำสั่งซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดในและต่างประเทศ มั่นใจเร็วๆนี้ จะพลิกกลับมีกำไรได้
โธมัส แชมเบอร์ส
โธมัส แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ผลประกอบการของคอนติเนนทอลทั่วโลก สามารถเพิ่มยอดขาย 17.6% หรือเป็น 14.9 พันล้านยูโร และมีอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีถึงเกือบ 1.3 พันล้านยูโร โดยยอดขายในเอเชียปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 21% ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก โดยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป รถยนต์ทุกหนึ่งคันในสองคันจะผลิตในเอเชีย

“อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญของเอเชีย-แปซิฟิก และคอนติเนนทอลเห็นว่าไทยและอินโดนีเซีย จะมีบทบาทในการผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์เติบโตอย่างมาก เพราะไม่เพียงตลาดในประเทศ อุตสาหกรรมรถทั้งสองประเทศยังเน้นผลิตรถเพื่อส่งออกอีกด้วย เหตุนี้คอนติเนนทอลจึงมีแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในไทยไม่เพียงจะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยังเป็นฐานแลกเปลี่ยนและจัดซื้อชิ้นส่วนจากทั่วโลกด้วย”

ทั้งนี้ในไทยคอนติเนนทอลได้เริ่มเข้ามาลงทุนเมื่อปี 2551 โดยเบื้องต้นได้ยื่นแผนการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ(BOI) เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อผลิตหัวฉีดดีเซลคอมมอนเรล และปั๊มแรงดันสูง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างงานในประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานและลูกจ้างทั้งสิ้นกว่า 400 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีเพียง 50 คน ขณะที่การผลิตช่วงแรกจะเป็นการส่งออกทั้งหมด จนเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา คอนติเนนทอลจึงส่งมอบชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ดีเซลคอนมอนเรลเพียโซล็อตแรก ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเป็นรายแรก และยังมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายราย ที่ได้เลือกใช้หัวฉีดระบบเดียวกันในปิกอัพที่จะเปิดตัวในปี 2555

“เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และให้มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ในปี 2555 บริษัทจะติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม สำหรับระบบขับเคลื่อนที่โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งเป็นเครื่องจักรในการผลิตชิ้นส่วน การทำความสะอาด การประกอบชิ้นส่วนและการทดสอบ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตและสายการผลิตด้วย”นายแชมเบอร์สกล่าวและว่า

ดังนั้นในปีในปี 2555 โรงงานคอนติเนนทอลในไทย จะสามารถผลิตปั๊มแรงดันสูง 250,000 ชิ้น และหัวฉีด 1,800,000 ชิ้น และจะมีการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในปีต่อๆ ไป ซึ่งในอนาคตบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะเริ่มติดตั้งระบบวัดลมยางอัตโนมัติ ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2555-2557 โดยคอนติเนนทอลจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัย จึงหวังว่ารัฐบาลจะประกาศเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ และให้การสนับสนุนทางภาษีกับผู้ผลิตด้วย

นายแชมเบอร์สกล่าวว่า สำหรับแผนกธุรกิจแลกเปลี่ยนและจัดซื้อชิ้นส่วนที่ตั้งขึ้นในไทย โดยสามารถส่งคำสั่งซื้อชิ้นส่วนเครื่องยนต์จากโรงงานผลิตของกลุ่มคอนติเนนทอล 193 แห่ง ใน 37 ประเทศทั่วโลก และปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการซื้อขาย ปราฎว่าผลการดำเนินงานในการสร้างยอดขายเป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งจะเริ่มเห็นผลประกอบการในปี 2555 คาดว่าธุรกิจนี้จะมีผลประกอบการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักได้

“แม้การดำเนินงานจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังการลงทุนก็ยังมีมาก ทำให้ผลประกอบการปัจจุบันติดลบอยู่ อย่างไรก็ตามจากคำสั่งซื้อที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนหัวฉีดและระบบขับเคลื่อน รวมถึงธุรกิจแลกเปลี่ยนจัดซื้อ จึงเชื่อมั่นว่าจะกลับมามีผลกำไรได้ในเร็วๆ นี้ ประกอบกับข้อตกลงเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน และอินเดียในอนาคต จะผลักดันให้คอนติเนนทอลเติบโตได้อย่างแน่นอน”

สำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดเสรีทางการค้าของคอนติเนนทอล โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยกับอินเดียที่กำลังเปิดเจรจากันอยู่ คอนติเนนทอลพร้อมช่วยให้เกิดความคืบหน้า เกี่ยวกับข้อตกลงสินค้าระบบหัวฉีดและระบบขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ รวมถึงข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นประเทศจีน แต่เป้าหมายของคอนติเนนทอล ยังคงจะผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตในไทย 70% และส่งออก 30% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 50:50 และอนาคตจะค่อยๆ ปรับสู่เป้าหมายได้

ในส่วนตลาดอินโดนีเซียที่เป็นสำคัญอีกแห่ง ที่คอนติเนนทอลให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรอยู่แล้ว แต่แน่นอนจะต้องมีการเข้าไปลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูงมาก ประกอบกับอินโดนีเซียจะมีโครงการอีโคคาร์เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งชิ้นส่วนไปยังอินโดนีเซีย เนื่องจากลักษณะโครงการมีความคล้ายคลึงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น