xs
xsm
sm
md
lg

คอนติฯลงทุนดันไทยฐานจัดซื้อ คาดตลาดเอเชีย-แปซิฟิกพุ่งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มชิ้นส่วนระดับโลก “คอนติเนนทอล” มองอุตสาหกรรมรถยนต์เอเชีย-แปซิฟิกพุ่งแรง ยึดไทยเป็นหัวหาดบุกตะลุย เดินหน้าลงทุนอีก 450 ล้านบาท รองรับประสิทธิภาพและการผลิตระบบหัวฉีด-ระบบขับเคลื่อน พร้อมใช้เป็นฐานแลกเปลี่ยนจัดซื้อชิ้นส่วน หลังคำสั่งซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดในและต่างประเทศ มั่นใจเร็วๆ นี้ จะพลิกกลับมีกำไรได้

นายโธมัส แชมเบอร์ส กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนติเนนทอล ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ผลประกอบการของคอนติเนนทอลทั่วโลก สามารถเพิ่มยอดขาย 17.6% หรือเป็น 14.9 พันล้านยูโร และมีอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีถึงเกือบ 1.3 พันล้านยูโร โดยยอดขายในเอเชียปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 21% ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก โดยนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป รถยนต์ทุกหนึ่งคันในสองคันจะผลิตในเอเชีย

“อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญของเอเชีย-แปซิฟิก และคอนติเนนทอล เห็นว่า ไทยและอินโดนีเซีย จะมีบทบาทในการผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์เติบโตอย่างมาก เพราะไม่เพียงตลาดในประเทศ อุตสาหกรรมรถทั้งสองประเทศยังเน้นผลิตรถเพื่อส่งออกอีกด้วย เหตุนี้คอนติเนนทอลจึงมีแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในไทยไม่เพียงจะตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยังเป็นฐานแลกเปลี่ยนและจัดซื้อชิ้นส่วนจากทั่วโลกด้วย”

ทั้งนี้ ในไทยคอนติเนนทอลได้เริ่มเข้ามาลงทุนเมื่อปี 2551 โดยเบื้องต้นได้ยื่นแผนการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อผลิตหัวฉีดดีเซลคอมมอนเรล และปั๊มแรงดันสูง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างงานในประเทศ ปัจจุบันมีพนักงานและลูกจ้างทั้งสิ้นกว่า 400 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีเพียง 50 คน ขณะที่การผลิตช่วงแรกจะเป็นการส่งออกทั้งหมด จนเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา คอนติเนนทอลจึงส่งมอบชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ดีเซลคอนมอนเรลเพียโซล็อตแรก ให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเป็นรายแรก และยังมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายราย ที่ได้เลือกใช้หัวฉีดระบบเดียวกันในปิกอัพที่จะเปิดตัวในปี 2555

“เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และให้มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ในปี 2555 บริษัทจะติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม สำหรับระบบขับเคลื่อนที่โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งเป็นเครื่องจักรในการผลิตชิ้นส่วน การทำความสะอาด การประกอบชิ้นส่วนและการทดสอบ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 450 ล้านบาท พร้อมกับเพิ่มกำลังการผลิตและสายการผลิตด้วย” นายแชมเบอร์ส กล่าวและว่า

ดังนั้น ในปี 2555 โรงงานคอนติเนนทอลในไทย จะสามารถผลิตปั๊มแรงดันสูง 250,000 ชิ้น และหัวฉีด 1,800,000 ชิ้น และจะมีการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในปีต่อๆ ไป ซึ่งในอนาคตบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะเริ่มติดตั้งระบบวัดลมยางอัตโนมัติ ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในปี 2555-2557 โดยคอนติเนนทอลจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้ ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัย จึงหวังว่า รัฐบาลจะประกาศเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ และให้การสนับสนุนทางภาษีกับผู้ผลิตด้วย

นายแชมเบอร์ส กล่าวว่า สำหรับแผนกธุรกิจแลกเปลี่ยนและจัดซื้อชิ้นส่วนที่ตั้งขึ้นในไทย โดยสามารถส่งคำสั่งซื้อชิ้นส่วนเครื่องยนต์จากโรงงานผลิตของกลุ่มคอนติเนนทอล 193 แห่ง ใน 37 ประเทศทั่วโลก และปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการซื้อขาย ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานในการสร้างยอดขายเป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งจะเริ่มเห็นผลประกอบการในปี 2555 คาดว่า ธุรกิจนี้จะมีผลประกอบการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักได้

“แม้การดำเนินงานจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังการลงทุนก็ยังมีมาก ทำให้ผลประกอบการปัจจุบันติดลบอยู่ อย่างไรก็ตาม จากคำสั่งซื้อที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนหัวฉีด และระบบขับเคลื่อน รวมถึงธุรกิจแลกเปลี่ยนจัดซื้อ จึงเชื่อมั่นว่า จะกลับมามีผลกำไรได้ในเร็วๆ นี้ ประกอบกับข้อตกลงเปิดเสรีการค้าระหว่างอาเซียน และอินเดียในอนาคต จะผลักดันให้คอนติเนนทอลเติบโตได้อย่างแน่นอน”

สำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดเสรีทางการค้าของคอนติเนนทอล โดยเฉพาะการเปิดเสรีการค้าระหว่างไทยกับอินเดียที่กำลังเปิดเจรจากันอยู่ คอนติเนนทอลพร้อมช่วยให้เกิดความคืบหน้า เกี่ยวกับข้อตกลงสินค้าระบบหัวฉีดและระบบขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ รวมถึงข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ประเทศจีน แต่เป้าหมายของคอนติเนนทอล ยังคงจะผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตในไทย 70% และส่งออก 30% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 50:50 และอนาคตจะค่อยๆ ปรับสู่เป้าหมายได้

ในส่วนตลาดอินโดนีเซีย ที่เป็นสำคัญอีกแห่ง ที่คอนติเนนทอลให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรอยู่แล้ว แต่แน่นอนจะต้องมีการเข้าไปลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูงมาก ประกอบกับอินโดนีเซียจะมีโครงการอีโคคาร์เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งชิ้นส่วนไปยังอินโดนีเซีย เนื่องจากลักษณะโครงการมีความคล้ายคลึงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น