xs
xsm
sm
md
lg

ไตรมาส2ฝันร้าย! อุตฯรถ1.5แสนคันหายวับไม่มีส่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ! จากตัวเลขการผลิตและขายในประเทศ ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นว่าเล่นในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ แต่พอเปิดฉากไตรมาส 2 กลับกลายเป็นฝันราย! อุตสาหกรรมรถไทย เมื่อเจอหางเลขเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น เพราะค่ายรถประเมินผลกระทบล่าสุด ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยไปจนถึงมิถุนายนลดลงเฉลี่ย 50% หรือประมาณ 1.5 แสนคัน เงินสะพัดในตลาดหายไปกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท เหตุผู้ผลิตชิ้นส่วนรถในญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตป้อนให้ได้ตามต้องการ ยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” แถลงโรงงาน 3 แห่ง ต้องหยุดผลิตทุกวันจันทร์และศุกร์ และที่เหลือผลิตเพียงแค่ 50% ของปริมาณการผลิตปกติ ขณะที่ “ฮอนด้า” ประกาศงดรับจองอีโคคาร์ “ฮอนด้า บริโอ้” ที่เพิ่งเปิดตัว เช่นเดียวกับ “มาสด้า3” โฉมใหม่ ที่จะเริ่มส่งมอบได้ช่วงครึ่งปีหลัง แม้แต่ “นิสสัน” ที่ได้รับผลกระทบ 20% ปัจจุบันก็ไม่มีรถตัวธง “นิสสัน มาร์ช” ในสต็อกโชว์รูมดีลเลอร์เลย ส่วนค่ายรถอื่นๆ มีสภาพไม่แตกต่างกัน รวมถึงบรรดารถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถตู้ยอดฮิต “โตโยต้า คอมมิวเตอร์” ที่งานนี้ลูกค้านั่งรอกันจนรากงอกเลย

ยังไม่ทันปลาบปลื้มดีใจ กับยอดขายรถยนต์ในไทย ช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)ของปีนี้ ที่ทำได้มากถึงร่วม 2.4 แสนคัน ซึ่งนับเป็นตัวเลขพุ่งแบบติดเทอร์โบ โดยเฉพาะเดือนมีนาคมยอดขายทะยานแรงเกือบ 1 แสนคัน เช่นเดียวกับภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไทยไตรมาสแรก ที่มีปริมาณการผลิต 4.68 แสนคัน และเดือนมีนาคมมากถึงกว่า 1.72 แสนคัน ที่ล้วนเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย แต่หลังการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน กระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทรถยนต์ ต่างได้มีการแถลงผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นชัดเจนเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าส่งผลทำให้การผลิตรถในไทยหายไปเฉลี่ยประมาณ 50%

“เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนของญี่ปุ่นเสียหายมาก จนทำให้ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนของญี่ปุ่นที่ผลิตได้เพียง 50% ทำให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนไปประกอบรถทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตรถของญี่ปุ่นได้ตามต้องการ และจากการประชุมร่วมกับบริษัทรถยนต์ ต่างแจ้งว่าจะทำให้การผลิตรถในไทยลดลงเฉลี่ย 50% เช่นกัน

เป็นการเปิดเผยของ “วิฑูรย์ สิมะโชคดี” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ภายหลังจากประชุมร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย อาทิ โตโยต้า, ฮอนด้า, อีซุซู, นิสสัน, ซูซูกิ, จีเอ็ม, มิตซูบิชิ และคาวาซากิ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังประเมินว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้นในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และคาดว่าหลังจากนั้นจะเริ่มกลับมาฟื้นการผลิตได้มากขึ้น

ขณะที่ “วัลลภ เตียสิริ” ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า แม้การผลิตรถในไทยจะใช้ชิ้นส่วนประมาณ 70-80% แต่ยังมีบางชิ้นส่วนที่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชิ้นส่วนประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตรถ ดังนั้นเมื่อผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถผลิตสินค้าป้อนให้แก่ค่ายรถยนต์ทั่วโลกได้ตามต้องการ ย่อมทำให้การผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นในโรงงานต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เต็มที่เช่นกัน

“จากตัวเลขที่บริษัทรถในไทยแจ้งมา จะทำให้ยอดการผลิตลดลง 50% ซึ่งหมายความว่าตัวเลขการผลิตจะหายไปประมาณ 1.5 แสนคัน ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หรือจะเกิดการสูญเสียรายได้ไปประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท แต่นั่นเป็นผลกระทบถึงเพียงแค่เดือนมิถุนายน เพราะหากหลังจากนั้นสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ตัวเลขการผลิตย่อมลดลงมากกว่านั้น”

เช่นเดียวกับ “ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุผลกระทบกับตัวเลขการผลิต และตลาดรถยนต์ในไทยได้ แต่เบื้องต้นจากปลายเดือนเมษายนถึงช่วงเดือนมิถุนายน จะทำให้ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยลดลงเฉลี่ยประมาณ 50% จากกำลังการผลิตเฉลี่ยเดือนละ 1.5 แสนคัน(สำหรับรองรับในประเทศและส่งออก) หากหลังจากนั้นสถานการณ์คลี่คลาย ผู้ผลิตชิ้นส่วนในญี่ปุ่นกลับมาผลิตได้เต็มที่ โรงงานผลิตรถยนต์ในไทยก็จะสามารถเร่งการผลิตได้ และทำให้ไม่หลุดเป้าหมายการผลิต 1.8 ล้านคัน หรือตลาดในประเทศขาย 9.5 แสนคัน จากที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปีมากนัก

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ค่ายรถยนต์ได้แจ้งต่อกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่มีต่อการผลิตรถในไทย โดยโตโยต้าต้องลดกำลังการผลิตลง 50% เช่นเดียวกับฮอนด้า, อีซูซุ, ฮีโน่ และคาวาซากิ ขณะที่นิสสันลดลงประมาณ 20% ส่วนมิตซูบิชิ, ซูซูกิ และจีเอ็ม ลดกำลังการผลิตลงแต่ไม่ได้มากนัก และบริษัทรถยังคาดว่าจะส่งมอบรถบางรุ่นได้ช้าออกไปอาจจะให้ลูกค้ารับรถ 5-6 เดือนก็เป็นได้

สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แถลงเป็นเอกสารต่อสื่อมวลชนว่า ได้พิจารณาปรับลดปริมาณการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณชิ้นส่วนที่มีจำนวนจำกัด จากผลกระทบเหตุการณ์สึนามิ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ถึงวันที่ 4 มิถุนายน 2554
โดยบริษัทฯ ได้ปรับลดปริมาณการผลิตในโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสำโรง โรงงานเกตเวย์ และโรงงานบ้านโพธิ์ โดยงดทำการผลิตรถยนต์ในวันจันทร์ และวันศุกร์ ส่วนการผลิตระหว่างวันอังคาร ถึงวันพฤหัสบดี จะเป็นการผลิตในสัดส่วน 50% ของปริมาณการผลิตปกติต่อวัน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ไม่มีการผลิต บริษัทฯจะจัดกิจกรรมและการจัดการอบรมต่างๆ ให้แก่พนักงานเพื่อพัฒนาศักยภาพในการผลิต อันเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องขออภัยสำหรับความไม่สะดวก ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าในครั้งนี้ สำหรับแผนการผลิตหลังวันที่ 4 มิถุนายน 2554 ทางบริษัทฯจะประเมินสถานการณ์และพิจารณาผลกระทบ และพร้อมประกาศให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

เช่นเดียวกับ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด โดย “อาซึชิ ฟูจิโมโตะ” ประธานบริษัท เปิดเผยว่า การประเมินผลกระทบล่าสุด จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น ต่อการจัดส่งชิ้นส่วนรถยนต์จากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ทำให้บริษัทฯ จำเป็นต้องหยุดรับจองฮอนด้า บริโอ้ รถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่งแนะนำสู่ตลาดเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมาชั่วคราว

“สถานการณ์การจัดส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นในขณะนี้ยังคงไม่แน่นอน ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อการผลิตฮอนด้า บริโอ้ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดรับจองฮอนด้า บริโอ้ เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเราจะติดต่อลูกค้าที่ได้จองฮอนด้า บริโอ้ ไปก่อนหน้านี้ ผ่านทางผู้จำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์และกำหนดการรับรถเป็นระยะๆ และบริษัทฯ จะเปิดรับจองฮอนด้า บริโอ้อีกครั้ง ทันทีที่การผลิตและจัดส่งชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น กลับมาอยู่ในระดับปกติ และเราเสียใจที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อลูกค้า”

ส่วนค่ายนิสสันแม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับโตโยต้าและฮอนด้า แต่จากการสอบถามตัวแทนจำหน่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ขณะนี้ต่างไม่มีรถยนต์ นิสสัน มาร์ช ในโชว์รูมไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้เป็นอย่างต่ำ ทำให้ระหว่างนี้ไม่สามารถส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าได้เช่นเดียวกัน

ด้านบริษัท มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวเก๋งคอมแพ็กต์รุ่นใหม่ “มาสด้า3” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีปัญหาการผลิตจากการไม่มีชิ้นส่วนส่งมอบจากญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์รุ่นนี้ได้ และต้องแจ้งการส่งมอบรถให้กับลูกค้าเป็นครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น ไม่เพียงจะส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ในไทยลดลงเฉลี่ย 50% แล้ว รถนำเข้าสำเร็จรูปจากประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เกต หรือแม้แต่บริษัทตัวแทนจำหน่าย อย่างเช่นแบรนด์ “เลกซัส” หรือ “ซูบารุ” ขณะที่รถตู้ยอดนิยม “โตโยต้า คอมมิวเตอร์” ก็งดรับจองรุ่นนี้เช่นกัน

เรียกว่า... อุตสาหกรรมรถยนต์ และตลาดรถในไทย เข้าสู่ช่วงไตรมาส 2 พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว! ทีนี้คงต้องมาลุ้นกันต่อไป จะสามารถกลับมาพลิกฟื้นได้เร็วแค่ไหน? หากไม่จบภายในเดือนมิถุนายน งานนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่?!
กำลังโหลดความคิดเห็น