xs
xsm
sm
md
lg

รถใหม่ปีวัวโดนใจผู้ใช้ สมรรถนะ-คุณภาพดี!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวในประเทศ - เปิดผลรายงาน วิจัยการศึกษาผู้ใช้รถใหม่ในประเทศไทย ของสำนัก “เจ.ดี.พาวเวอร์” เกี่ยวกับปัญหาคุณภาพของรถใหม่ และสมรรถนะ หรือประสิทธภาพ รวมถึงรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย จากจำนวนตัวอย่างเรื่องละไม่ต่ำกว่า 3 พันราย รถใหม่ที่โดนใจผู้ใช้รถสุดๆ ประจำปี 2552 หรือปีวัวบ้า! เป็นฮอนด้า แจ๊ซ และโตโยต้า ยาริส สลับกันขึ้นแท่นในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น เช่นเดียวกับรถขนาดกลาง มาสด้า 3 และฮอนด้า ซีวิค ที่งานนี้ต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญกันเอาเอง ขณะที่รถอเนกประสงค์เอสยูวี อีซูซุ มิว-7 รวมแล้วถือว่าโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง แต่ที่นอนมาแบบใสๆ เห็นจะเป็น โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ ที่ผู้เป็นเจ้าของรถใหม่ในช่วง 2-6 เดือนแรก ต่างเทใจให้ทั้งในกลุ่มรถกระบะมีแค็บ และกระบะ 4 ประตู


ผลสำรวจและ รางวัลที่มอบให้กับรถยนต์ในแต่ละปี มีหลากหลายรูปแบบการดำเนินงาน ทั้งวัดจากการทดสอบของสื่อมวลชน หรือสำรวจจากความนิยมของประชาชนทั่วไป แต่เจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก บริษัทวิจัยและให้บทวิเคราะห์ชื่อดัง เลือกสุ่มสำรวจจากผู้ใช้รถใหม่ จึงน่าจะเป็นข้อมูลจากประสบการณ์ตรง ที่น่าสนใจและนำมาพิจารณาทีเดียว และในช่วงส่งท้ายของปี 2552 นี้ เจ.ดี.พาวเวอร์ฯ ได้รายงานผลการศึกษาวิจัย 2 เรื่องสำคัญ คือ สมรรถนะหรือประสิทธิภาพระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ของรถยนต์ กับเรื่องคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญและน่าจะเป็นประโยชน์ ต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถของผู้บริโภค จึงได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอให้รับทราบกัน...

ทั้งนี้รายงาน ผลการศึกษาวิจัยทั้งสองชิ้นของเจ.ดี.พาวเวอร์ฯ จัดทำขึ้นโดยประเมินผลจากเจ้าของรถยนต์ใหม่ในช่วง 2-6 เดือน ที่ซื้อรถยนต์ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 จากจำนวนตัวอย่าง 3,518 ราย ในการสำรวจประสิทธิภาพระบบการทำงานและรูปลักษณ์ของรถยนต์ และจำนวน 3,460 ราย ในเรื่องคุณภาพรถยนต์ใหม่ในประเทศไทย โดยทำการศึกษาผู้ซื้อรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 58 รุ่น จากรถยนต์ 11 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นเก็บข้อมูลในภาคสนาม ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงกันยายน 2552

การศึกษาในเรื่องคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยประจำปี 2552(Initial Quality Study - IQS) ของเจ.ดี.พาวเวอร์ฯ เป็นการศึกษาปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่ ที่ลูกค้าได้ประสบในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการตรวจสอบถึงปัญหาหรือความผิดปกติมากกว่า 200 รายการ และจัดกลุ่มปัญหาหรือความผิดปกติที่พบได้เป็น 8 หมาดหมู่

โดยเรียงตาม ลำดับของจำนวนปัญหาที่พบ ได้แก่ ปัญหาด้านคุณภาพภายนอกรถยนต์ ตามด้วยปัญหาด้านเครื่องยนต์และระบบเกียร์ ปัญหาจากประสบการณ์ขับขี่รถยนต์ ปัญหาจากระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศและระบบแอร์(HVAC) ปัญหาด้านเครื่องเสียง ความบันเทิงและระบบนำทาง ปัญหาจากอุปกรณ์ ปุ่มควบคุม และแผงหน้าปัด ปัญหาจากภายในรถยนต์ และสุดท้ายปัญหาที่นั่ง ซึ่งในการวัดผลด้านคุณภาพ ผลการศึกนี้ได้คำนวนจากจำนวนปัญหาหรือความผิดปกติที่พบ จากรถยนต์ใหม่ทุก 100 คัน(ในที่นี้เรียกว่า PP100) ถ้ารถยนต์รุ่นใดได้คะแนนน้อย หมายความว่ารถยนต์นั้นมีคุณภาพสูง

จากผลการศึกษา รถรุ่นต่างๆ พบว่า ในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น (Entry Midsize Car) โตโยต้า ยาริส ครองอันดับหนึ่งด้วยคะแนน 117 PP100 ตามมาด้วย ฮอนด้า ซิตี้ โฉมใหม่ 119 PP100 และแจ๊ซ 133 PP100 มาเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ  มาสด้า 3 คะแนน 115 PP100 ได้รับคะแนนคุณภาพรถใหม่สูงสุดในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง(Midsize Car) ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยมีฮอนด้า ซีวิค 137 PP100 และโตโยต้า อัลติส 152 PP100 อยู่ในอันดับรองลงมา ส่วนกลุ่มรถยนต์ SUV (รถอเนกประสงค์กึ่งสปอร์ต) ฮอนด้า ซีอาร์-วี ได้คะแนน 102 PP100 ยังครองตำแหน่งสูงสุดเป็นปีที่ 3 ตามาด้วย อีซูซุ มิว-7 105 PP100 และโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ 112 PP100

ในบรรดารถกระบะ มีแค็บ(Pickup Extended Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ครองอันดับสูงสุด 124 PP100 ตามด้วยอีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮแลนเดอร์ 127 PP100 และนิสสัน ฟรอนเทียร์ นาวารา 130 PP100 ส่วนรถกระบะ 4 ประตู (Pickup Double Cab) โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ ครองอันดับสูงสุด 117 PP100 ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามติดด้วย โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ 127 PP100 และอีซูซุ ดีแมคซ์ ไฮแลนเดอร์ 150 PP100

เจ.ดี. พาวเวอร์ฯ ยังได้สรุปผลการศึกษาวิจัยว่า ปัญหาคุณภาพรถยนต์ใหม่โดยรวมในประเทศไทยประจำปี 2552 มีคะแนนเฉลี่ย 133 PP PP100 ซึ่งเป็นการปรับปรุงดีขึ้นกว่าปี 2551 โดยอัตราการเกิดปัญหาด้านคุณภาพรถใหม่ลดลง 17% ซึ่งปัญหาคุณภาพหรือความผิดปกติลดลงทุกด้าน ยกเว้นปัญหาด้านภายนอกรถ ซึ่งเรื่อง “เสียงลมดังเกินไป” พบบ่อยมากที่สุด แต่สิ่งปรับปรุงดีขึ้นชัดเจนเป็นปัญหาด้านเครื่องยนต์และระบบเกียร์

สำหรับผลการศึกษาเรื่องสมรรถนะ ระบบการทำงานและรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2552 (Automotive Performance, Execution and Layout - APEAL) ซึ่งเป็นปีที่ 7 ของการศึกษาโดยเจ.ดี.พาวเวอร์ จากคำตอบของผู้บริโภคในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของรถ

ทั้งนี้ในการ ศึกษาได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ถึงเกือบ 100 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมระบบการทำงานของรถยนต์ 10 หมวด ได้แก่ ภายนอกตัวรถ ภายในตัวรถ พื้นที่เก็บของและพื้นที่ว่าง เครื่องเสียง/ความบันเทิง/ระบบนำทาง ที่นั่ง ระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์(HVAC) สมรรถนะในการขับขี่ เครื่องยนต์/ระบบเกียร์ ทัศนวิสัย/ความปลอดภัยในการขับขี่ และความประหยัดน้ำมัน ผลที่ได้จากการศึกษา APEAL จะถูกใช้เป็นค่าดัชนีในการให้คะแนนโดยอิงอยู่กับจำนวนเต็ม 100 คะแนน และยิ่งได้คะแนนสูงยิ่งหมายถึงความพึงพอใจที่สูงขึ้น

ผลจากการศึกษา พบว่า ฮอนด้า แจ๊ซ ทำคะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันโดยมีคะแนน APEAL อยู่ในระดับ 860 คะแนน ตามมาด้วยนิสสัน ทีด้า 856 คะแนน และโตโยต้า ยาริส 851 คะแนน ส่วนรถยนต์ขนาดกลาง ฮอนด้า ซีวิค ทำคะแนนสูงสุด 800 ตามาด้วย มาสด้า3 จำนวน 878 คะแนน และโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส 875 คะแนน ในกลุ่มรถยนต์เอสยูวี อีซูซุ มิว-7 ทำได้สูงสุด 897 คะแนน โดยมีมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ ตามมาด้วยคะแนน 884

กลุ่มรถกระบมีแค็บ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ สมาร์ทแค็บ ติดอันดับสูงสุด ตามด้วย อีซูซุ ดีแมคซ์ สเปซแค็บ/โรดีโอ 882 คะแนน และกลุ่มรถกระบ 4 ประตู โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ พรีรันเนอร์ 897 คะแนน นำมาเป็นอันดับหนึ่ง ควงคู่มากับ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ 884 คะแนน

เจ.ดี. พาวเวอร์ฯ ระบูว่า คะแนนเฉลี่ยภาพรวมจากการศึกษา APEL ในปี 2552 อยู่ที่ 871 คะแนน ลดลงจากปีที่แล้ว 5 คะแนน โดยมีถึง 7 หมวดด้วยกันที่มีระดับความพึงพอใจจากการศึกษาลดลง และมีแค่ 3 หมวดเท่านั้นที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นในปี 2552 ได้แก่ ความประหยัดน้ำมัน ที่นั่ง และระบบฮีทเตอร์ ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์(HVAC)
นั่นคือรายงานผลการศึกษาความพึงพอใจต่อรถใหม่ของผู้ใช้รถในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยเจ.ดี.พาวเวอร์ เอเชีย แปซิฟิก และ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ขอรวมรายงานผลการวิจัยทั้งสองหัวข้อ สรุปออกมาเป็นรถยนต์ที่โดนใจผู้ใช้รถมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะ หรือประสิทธิภาพของระบบการทำงาน และรูปลักษณ์ของรถยนต์ รวมถึงคุณภาพรถใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กันในการตัดสินใจเลือกซื้อรถ
โดยหากพิจารณา ทั้งสองหัวข้อมารวมกัน จะพบว่ากลุ่มรถขนาดกลางระดับต้น ทั้งฮอนด้า แจ๊ซ และโตโยต้า ยาริส ต่างได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้รถสูงสุดสลับกัน เช่นเดียวกับกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ฮอนด้า ซีวิค และมาสด้า3 ที่ผลัดกันเหนือกว่าในแต่หัวข้อการศึกษา เมื่อบวกลบแล้วก็อยู่ที่ผู้ซื้อจะให้น้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน ระหว่างปัญหาของคุณภาพรถ ระหว่างปัญหาคุณภาพรถใหม่ กับเรื่องของ APEAL

ขณะที่เมื่อดูกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์เอสยูวี อีซูซุ มิว-7 ความพึงพอใจของผู้ใช้โดดเด่นทั้งสองผลการศึกษา ขณะที่คู่แข่งยังมีขึ้นๆ ลงๆ บ้าง แต่ที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้รถชัดเจนใสๆ เห็นจะเป็นกลุ่มรถกระบบ ที่โตโยต้ากวาดมาครองทั้งกระบแบบมีแค็บ และ 4 ประตู หรือดับเบิ้ลแค็บ

นี่เป็นรายงานผลการศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการของ เจ.ดี.พาวเวอร์ฯ และความเห็นเสริมจาก “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ให้ผู้อ่านได้เลือกพิจารณาประกอบการตัดสินใจในระดับหนึ่ง...
กำลังโหลดความคิดเห็น