หลังจาก “โปรตอน” เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในเมืองไทย ภายใต้การดูแลของกลุ่ม “พระนครยนตการ” ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างอย่างดีเยี่ยมจากลูกค้าชาวไทย ด้วยยอดการจำหน่ายของปี 2008 จำนวนกว่า 3200 คัน ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายสำหรับแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดเป็นปีแรก
ประเด็นสำคัญของการประสบความสำเร็จครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ตัวรถที่สามารถตอบสนองได้ตรงใจลูกค้าเท่านั้น แคมเปญและการตั้งราคา ประกอบกับแรงส่งจากกระแสราคาน้ำมันแพง ที่ทำให้ตลาดรถยนต์นั่งเติบโตแบบไม่เกรงใจใคร ซึ่งโปรดักซ์ของโปรตอนเข้ามาทำตลาดตอบรับความต้องการได้ถูกที่ ถูกเวลา
แต่ก็มีเรื่องน่ากังวลอยู่ตรงที่ ภาวะเศรษฐกิจในปี 2009 เป็นปีที่นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างลงความเห็นเป็น “ปีเผาจริง” ดังจะสังเกตได้จากยอดขายรถประจำเดือนม.ค.2009 ประกาศออกมาว่า ยอดขายรถยนต์ของตลาดรวมตกลงไปถึงเกือบ 30% และยังมีเรื่องผลงานในอดีตของผู้ทำตลาดที่เคยสร้างบาดแผลใจไว้ให้กับลูกค้าเป็นต้นทุนติดลบอยู่ซึ่งเป็นความไม่มั่นใจของลูกค้า ฉะนั้นการทำตลาดในปีนี้ของ โปรตอน จึงมีความยากยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม คำยืนยันจาก “ธวัชชัย จึงสงวนพรสุข” เมื่อครั้งแถลงข่าวครั้งแรกคือ “เราไม่เคยทิ้งลูกค้า” และยังคงยืนยันคำพูดนี้ตลอดไป ดังนั้นการรุกตลาดในปีนี้ของโปรตอนจะเป็นหนึ่งบทพิสูจน์คำพูดดังกล่าวของเขาได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดหลังจาก โปรตอน เปิดตัวรถ “เพอร์โซนา รุ่นซีเอ็นจี” ตามด้วย “เพอร์โซนา รุ่นเบนซิน” ออกมาในช่วงปลายปีที่แล้ว นับเป็นรุ่นที่ 4 ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย และเมื่อรถพร้อมโปรตอนจัดทริปทดสอบรถ เพอร์โซนา รุ่นเบนซินสำหรับสื่อมวลชนขึ้นโดยจัดรุ่นตัวท๊อป ไฮไลน์ เกียร์ออโต้ มาให้สัมผัสกันบนเส้นทาง กรุงเทพฯ-อุดรธานี แบบขับไป-กลับ รวมระยะทางกว่า 1,000 กม.
งานนี้ เรา “ASTVผู้จัดการมอเตอริ่ง” เข้าร่วมการทดสอบโดยจับกลุ่มเดินทางสลับกับขับกับคุณ โจอี้ จากเดอะเนชั่น และคุณ พรหมมินทร์ จากกรุงเทพฯธุรกิจ และมีสื่อมวลชนอื่นๆร่วมทดสอบกว่า 30 ชีวิต เพื่อพิสูจน์สมรรถนะของโปรตอน เพอร์โซนา ว่าเป็นเช่นไร
ภายนอก แม้ไม่สวยบาดใจแต่ก็ดูดี
รูปทรงภายนอกนั้น จะว่าไปแล้วมีความใกล้เคียงกับรุ่นเจน-2 อย่างมาก หรือจะให้พูดอย่างตรงๆ เพอร์โซนา ก็คือรถโฉมซีดานแบบ 4 ประตู ขณะที่เจน-2เป็นรถแบบ 5 ประตู แฮทช์แบ็คนั่นเอง สำหรับแง่ความสวยงามก็ขึ้นกับความชอบของแต่ละคน โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า แม้ไม่สวยสะดุดตาเท่ารุ่นนีโอ แต่ก็ดูดีพอไปวัดตอนสายๆ ได้
อุปกรณ์ก็มีพอสมควรให้ทั้งไฟตัดหมอกด้านหน้า กระจกมองข้างแบบพับไฟฟ้า ยางกันกระแทกด้านข้างและมือจับเปิด-ปิดประตูแบบเป็นสีเดียวกับตัวรถ
ภายใน กว้างแต่นั่งไม่สบาย
ภายในโดยรวมแทบจะไม่แตกต่างจากรุ่น เจน-2 ไม่ว่าจะเป็นหน้าปัด พวงมาลัย คอนโซล รวมถึงวิทยุที่ใช้ของเบาล์ฟุ้งค์ และมาพร้อมกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายเช่น กระจกไฟฟ้า เซ็นทรัลล็อก สวิตซ์ควบคุมเครื่องเสียงที่พวงมาลัย(แม้จะเล็กไปสักหน่อย แต่มีก็ดีกว่าไม่มี) สัญญาณกะระยะถอยหลัง โดยมีจุดเด่นที่สุดคือความกว้างขวางของห้องโดยสาร
ขณะที่เบาะนั่ง แม้โปรตอนจะบอกว่าเบาะนั่งได้รับการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ แต่เมื่อเราได้ลองนั่งกลับพบว่า เบาะนั่งในตำแหน่งผู้ขับไม่โอบกระชับสักเท่าไหร่ ส่วนเบาะหลังไม่สบายยิ่งกว่า เบาะหลังตั้งชันเกินไปนั่งไม่สบาย
และที่สำคัญอีกจุดคือ หากนั่งที่เบาะหลังแล้วคาดเข็มขัดนิรภัย ตำแหน่งของสายเข็มขัดจะพาดมาอยู่ตรงที่คอของเราพอดี ซึ่งผู้ร่วมเดินทางทั้ง 3 คน(ส่วนสูงของทั้ง 3 ท่านราว 170-175 ซม.)ได้พิสูจน์และมีความเห็นตรงกันว่า อาจจะบาดคอได้แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุ และหากเกิดอุบัติเหตุจะยิ่งอันตรายมากขึ้นเพราะเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับอัตโนมัติ Pre-tensioner
เครื่องยนต์ เดินทางไกลสบาย
เพอร์โซนา บรรจุเครื่องยนต์ขนาด 1600 ซีซี ในรหัส Campro ขุมพลัง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบท่อไอดีแปรผัน IAFM ให้กำลังสูงสุดถึง 110 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 148 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นแบบหัวฉีดมัลติพอยท์
ระบบส่งกำลังมีให้เลือกทั้งแบบเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติ ส่วนความเร็วสูงสุดโปรตอนเคลมไว้ว่าได้ถึง 190 กม./ชม. อัตราเร่ง 0-100 กม/ชม. ในเวลาเพียง 11.5 วินาที ในรุ่นเกียร์ธรรมดา และทำความเร็วสูงสุด 185 กม./ชม. อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาเพียง 13.8 วินาที
ส่วนความปลอดภัยมีให้ครบทั้ง ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ให้ความปลอดภัยสูง ระบบเบรก ABS และระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBD (Electronic Brakeforce Distribution) ทำหน้าที่กระจายแรงเบรกระหว่างล้อคู่หน้าและหลัง
สมรรถนะ สุดยอดช่วงล่าง
เราเริ่มเดินทางจากโชว์รูมโปรตอน วิภาวดี โดยผู้เขียนนั่งในตำแห่งพลขับก่อน เมื่อขับออกมาก็ต้องเจอกับการจราจรที่เป็นจลาจลของถนนวิภาวดียามเช้า ซึ่งเจ้าเพอร์โซนา สามารถซอกแซกและเปลี่ยนเลนได้ง่ายดี ทัศนวิสัยการขับชัดเจน
เมื่อเริ่มออกนอกเมือง สามารถทำความเร็วสูงและทดลองอัตราเร่งได้ ทำให้เราพบว่า เจ้าเพอร์โซนาตอบสนองสมกับกำลัง 110 แรงม้าในทุกย่านความเร็ว การเปลี่ยนเกียร์มีความนุ่มนวลไม่กระชากให้รู้สึก และจุดเด่นสุดคือ ระบบช่วงล่างที่ทำให้ตัวรถวิ่งได้นิ่งมาก แม้จะขับทะลุถึงความเร็ว 170 กม./ชม.ก็ตาม
โดยเราสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 185 กม./ชม. ดังเช่นที่โปรตอนเคลมไว้ และความเร็วในการวิ่งเฉลี่ยช่วงแรกก่อนเติมน้ำมันอยู่ราว 140 กม./ชม. การบังคับควบคุมพวงมาลัยไม่คมเท่ากับคู่แข่ง แต่ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายอะไร
โดยเมื่อเติมน้ำมันเราแอบจดตัวเลขเอาไว้ซึ่งผลที่ออกมาคือ อัตราบริโภคเฉลี่ยของเรา 12.66 กม./ลิตร กับการขับแบบในเมืองรถติดพอควรและนอกเมืองแบบทำความเร็วสูง ถือว่าเป็นที่ประทับใจเรามากกับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 1600 ซีซีเช่นนี้
ส่วนระบบเบรก เราทั้ง 3 คนลงความเห็นกันว่า ควรจะต้องได้รับการปรับปรุงเพราะเมื่อเหยียบไปแล้วรู้สึกเหมือนกับว่า เบรกจะเอารถไม่อยู่ และเมื่อถามสื่อฯ ท่านอื่นก็ตอบทีเล่นทีจริงว่า “ไม่อยู่เหมือนกัน” ซึ่งช่วงขากลับ เรา มีโอกาสทดลองระบบเบรกเอบีเอสแบบเต็มรูปแบบ (ผู้เขียนอยู่ในตำแหน่งผู้โดยสารตอนหน้า) เนื่องจากถูกรถพ่วงบรรทุกของบริษัทผลิตกระดาษชื่อดังแซงปาดหน้าในระยะกระชั้นชิดทำให้ต้องเบรกกระทันหัน
โดยรถต้องไปวิ่งอยู่บนไหล่ทาง แต่ไม่เสียการทรงตัวและล้อไม่ล็อก แม้จะกระทืบเบรกแบบเต็มสุดแรงเกิดจากคำบอกของผู้ขับ ซึ่งหากว่า เราไม่วิ่งบนไหล่ทาง เราต้องเลือกว่าจะติดอยู่ท้ายรถหรือแปะต้นไม้แน่นอน ณ จุดนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ถึงสมรรถนะของช่วงล่างของเจ้าเพอร์โซนาทำให้เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า “สุดยอด”
และเมื่อเราขับมาทันเพื่อดูคนขับรถบรรทุกคันนั้น คนขับรถบรรทุกเหมือนจะรู้ตัวรีบยกมือให้สัญญาณว่า ขอโทษ เป็นการใหญ่ เพราะจังหวะดังกล่าวเขาไม่ควรจะขับเปลี่ยนเลนแซงออกมาอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามถือว่าสถานการณ์นี้ เพอร์โซนา ไม่ทำให้เราผิดหวัง
สรุป เจ้าโปรตอน เพอร์โซนา โดยรวมเราถือว่าขับดี อุปกรณ์ครบและเหมาะสมกับราคาค่าตัว 5.79 แสนบาท ทั้งยังอุ่นใจด้วยการรับประกันคุณภาพรถยนต์นาน 3 ปีเต็ม หรือ 100,000 กม. อย่างไรเก็บเอาไว้เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหาซีดานไว้ใช้งานสัก