เทคโนโลยียานยนต์ในปัจจุบัน นอกจากความเร็ว แรง แต่ประหยัด และรักษาสภาพแวดล้อมแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความสนใจเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ท่ามกลางความร้อนระอุของการแข่งขัน
อุปกรณ์นิรภัยที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ ก็เพื่อผู้ขับได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากอุบัติเหตุ เราเคยทราบถึงประโยชน์ของเข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยกันมาบ้างแล้ว รวมถึงเบาะนิรภัย ที่มีการติดตั้งในรถยนต์ราคาปานกลางถึงสูง แต่ยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่มีในรถยนต์ทุกระดับราคา แต่ยังมีการใช้งานกันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างเต็มที่ อุปกรณ์นั้นคือ "หมอนพิงศีรษะ" (Head Rest)
ลักษณะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเป็นการชนด้านหน้า แต่ยังมีรูปแบบการบาดเจ็บของกระดุกต้นคอที่เกิดจากการถูกชนด้านหลัง การถูกชนในลักษณะนี้อาจทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นยึดกระดูกต้นคอ ทางการแพทย์เรียกว่า Whiplsh Injury ถ้ายังจำกันได้ถึงกลไกการบาดเจ็บของคอที่เคนเขียนถึง เมื่อเกิดการชนที่ด้านหน้า ถุงลมนิรภัยจะพองออกมารับศีรษะ ไม่ให้คอก้มลงมากเกินไปเนื่องจากแรงสะบัด ในขณะที่ลำตัวถูกเข็มขัดนิรภัยยึดไว้ นี่เป็นภาพที่เริ่มชินตากันจากโฆษณาต่าง แต่ในอีกมุมหนึ่งที่มีโอกาสเกิดได้ไม่น้อย คือ การถูกชนจากด้านหลัง
ถ้าถูกชนจากด้านหลังอย่างรุนแรง เท่ากับตัวรถยนต์หยุดนิ่ง แล้วมีแรงมากระทำให้พุ่งไปข้างหน้าอย่างรุนแรงเกิดความเร่งขนาดสูงมากกระทำกับตัวรถยนต์ ความเร่งนี้จะถ่ายทอดมาที่เบาะ ทำให้พุ่งไปข้างหน้าอย่างแรง ในขณะที่ศีรษะที่มีความเฉื่อยอยู่ จะอยู่นิ่งในช่วงแรก
ผลรวมที่เกิดขึ้นจากการที่ลำตัวพุ่งไปข้างหน้าในขณะที่ศีรษะอยู่นิ่ง ทำให้เกิดการเงยคออย่างรุนแรง เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 0.2 วินาทีเท่านั้น ผลที่ตามมาคือ เอ็นยึดกระดูกคอฉีกขาด เกิดอาการปวดคออย่างรุนแรง ผลสุดท้ายคือต้องเสียเงินรักษาเสียเวลาทำงาน
อุปกรณ์ความปลอดภัยที่ใช้ได้ผลมาตลอด คือ คาดเข็มขัดนิรภัย ยังมีบทบาทสำคัญในการดึงลำตัวไว้กับเบาะ ไม่ให้พุ่งไปข้างหน้า อุปกรณ์สำคัญต่อมา คือ หมอนพิงศีรษะเพราะแม้ว่าลำตัวถูกยึดอยู่กับเบาะ แต่เบาะที่ยึดกับตัวรถยนต์ก็ยังพุ่งไปข้างหน้า ศีรษะที่ไม่มีอะไรรองรับก็ยังแกว่งไปข้างหลังอย่างแรงได้ แต่ถ้ามีหมอนพิงศีรษะมารับไว้ก็จะช่วยไม่ให้คอเงยมากเกินไปจนเกิดอันตรายขึ้น
ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ขับรถยนต์บางคนไม่ให้ความสำคัญกับการปรับหมองรองศีรษะ ให้เตรียมพร้อมรับกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์บางรายทราบถึงปัญหานี้ดี จึงออกแบบหมอนพงศีรษะแบบตายตัวไม่สามารถปรับได้ แต่อยู่ในตำแหน่งที่รองรับศีรษะเมื่อเกิดเหตุได้เป้นอย่างดี แต่ผู้ใช้รถยนต์บางคนอาจจะบ่นว่าหมอนที่ปรับไมได้ทำให้พิงแล้วไม่สบายคอ
ผู้เชี่ยวชาญทางอุบัติเหตุท่านหนึ่ง ได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้อย่าวงน่าสนใจว่ายังมีความเข้าใจผิดกันมากเกี่ยวกับ Head Sest นี้ แม้จริงแล้วหมอนพิงศีรษะมีชื่อจริงว่า Head Restraint ถ้าเมื่อดถูกใช้เป็นหมอนพิงศีรษะก็จะผิดจุดประสงค์ทันที เพราะถูกออกแบบมาให้เป็นตัว Restraint หมายถึง ให้การปกป้องต่อศีรษะและคอ ถ้าถูกปรับลงมาเพื่อให้หนุนคอสบายจะกลายเป็นจุดหมุนของต้นคอทันที นั่นคือศีรษะจะสะบัดไปด้านหลัง โดยมีหมอนพิงศีรษะค้ำที่ต้นคอ ให้ศีรษะสะบัดไปข้างหน้า-หลังได้ดีและแรงยิ่งขึ้น
จากการทดสอบพบว่า ความสูงของหมอนพิงศีรษะอย่างน้อยที่สุดต้องไม่ต่ำกว่าระดับเหนือใบหู และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า หมอนรองศีรษะในรถยนต์หลายรุ่นจะออกแบบมาให้เอนมาด้านหน้า การตรวจสอบตำแหน่งง่ายๆคือถ้าพิงพนักเต็มที่แล้ว ศีรษะด้านหลังส่วนที่เป็นกระโหลกแข็งๆ สัมผัสกับหมอนพิงศีรษะพอดี แสดงว่าปรับได้ตำแหน่งที่ถูกต้อง ถ้าพิงไปแล้วหมอนมารับท้ายทอยอย่างสบายเท่ากับว่าหมอนต่ำเกินไป
อุปกรณ์ใช้ร่วมกันเสมอ คือ เข็มขัดนิรภัย ถ้าปรับหมอนดีแต่ตัวพุ่งไปข้างหน้าก็ไม่มีปาระโยชน์อะไร นอกจากนี้"ซาบ" ก็ยังมีการพัฒนาหมอนพิงศีรษะที่เรียกว่า Protech นี้จะพุ่งมาข้างหน้าทันทีที่พนักพิงกระแทกกับแผ่นหลังช่วยยันศีรษะไม่ให้หงายไปด้านหลังอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่ออุปกรณ์นิรภัยต่างๆ ถูกแนะนำขึ้นจากจำนวนผู้เสียชีวิตก็ลดลงจำนวนผู้บาดเจ็บก็มากขึ้น และการเรียนรู้รูปแบบของการบาดเจ็บแบบต่างๆก็ทำให้มีการสร้างอุปกรณ์นิรภัยใหม่ๆตามออกมา เป้าหมายของผู้ผลิตเหล่านี้คือ ทำให้รถยนต์มีความปลอดภัยสูงสุด แบบนี้แล้วเวลาขึ้นรถอย่าลืมปรับตำแหน่งของหมอนพิงศีรษะให้ถูกต้อง เพราะจุดเล็กๆที่หลายคนมองข้ามนั้นอาจจะหมายถึงชีวิตทั้งชีวิตเลยก็ได้