xs
xsm
sm
md
lg

ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ : "BMW 503" คันนี้ให้ร้อยล้าน...ก็ไม่ขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 21 หรือ MOTOR EXPO 2004 ณ เมืองทองธานี กำลังเริ่มต้นขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับการแสดงอวดโฉมของยนตรกรรมกว่า 37 แบรนด์ จากผู้ผลิตชั้นนำทั่วโลก พร้อมกันนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นความใฝ่ฝันของ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานครั้งก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแจ่มชัดขึ้นมา นั่นคือรถยนต์ในฝันของเขา BMW 503 ยานยนต์ในรูปลักษณ์สปอร์ตคูเป้ สุดหรูของบีเอ็มดับเบิลยูคันแรกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกได้ว่าเป็นคันเดียวในเอเชียก็อวดโฉมอยู่บนแท่นโชว์ของสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ที่เขาเองรั้งตำแหน่งนายกสมาคมอยู่ด้วย

คงมีไม่กี่คนที่มีโอกาสผันให้สิ่งที่ตนเองรักให้กลายเป็นงาน แต่ชีวิตที่ผูกผันกับรถยนต์อันเป็นที่เขารัก ก็เริ่มนับ 1 ขึ้นตั้งแต่เขาอายุได้ 16 ปี นี่เป็นประสบการณ์เกี่ยวกับรถยนต์ที่สั่งสมมานาน และน่าสนใจสำหรับหนึ่งหน้าตำนานคนรักรถของเมืองไทย ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์

"ผมขับรถเป็นตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยการหัดขับรถกับเพื่อนที่อัสสัมชัญบนถนนวิภาวดีด้วยโฟล์กตู้มา พออายุถึง 18 ปีอันเป็นเกณฑ์ทำใบขับขี่ได้จึงเป็นอันว่าได้ใบขับขี่มาอย่างไม่ต้องลุ้น"

รถยนต์คันแรกในชีวิตที่ขวัญชัยเป็นเจ้าของคือ ออสติน มินิ ที่นับว่าร้อนแรงเอาการในช่วงนั้น โดยเพื่อนขายต่อให้ แน่นอนว่าเป็นสีเขียวสไตล์ BRITISH RACING GREEN หลังคาสีขาว คุณขวัญชัยเก็บเงินซื้อรถคันแรกนี้มาตั้งแต่อายุ 14 ปี จากการเล่นดนตรีตามไนท์คลับ สะสมเงินมาเรื่อยๆ แต่ออสตินคันนี้ก็อยู่ให้เป็นเจ้าของได้ไม่นาน ด้วยเหตุจากอุบัติเหตุ

จาก ออสติน มินิ คราวนี้รถยนต์คันต่อมาของเขาเป็นรถนิสสัน เชอร์รี่ ซึ่งช่วงนั้นกำลังฮิตมากจากนั้นก็เปลี่ยนมาอีกหลายคัน จนถึงตอนนี้ก็ 10 กว่าคันแล้ว เป็นรถญี่ปุ่น3-4 คัน แล้วก็โฮลเด้น เฟียต อีก 3 คันหลังเป็นบีเอ็มดับเบิลยูทั้งหมด ล่าสุดเป็น 740 il
"ผมรู้สึกว่าบีเอ็มฯ ทำรถออกมามีบุคลิกเป็นของตัวเอง เป็นรถที่ขับสนุก สร้างมาให้คนขับโดยเฉพาะ ไม่ได้สร้างมาสำหรับคนนั่ง ความจริงก็ชอบพอร์ช เป็นรถที่แรงแต่ขับยาก"


แต่นั่นก็เป็นเพียงรถยนต์ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือหาซื้อได้ทั่วไป สำหรับคนรักรถแล้ว แม้จะมีโอกาสได้สัมผัสกับรถยนต์รุ่นใหม่ก่อนใครเสมอ หรือแม้กระทั่งรถยนต์ต้นแบบที่ยังไม่มีออกมาจำหน่าย สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจของคนรักรถอย่างเข้าเส้นอย่างขวัญชัย กลับอยู่ที่รถโบราณทรงคลาสสิคที่มีอายุอานามไม่น้อยไปกว่าเขาแต่อย่างใดอย่าง BMW 503 สปอร์ตคูเปสายเลือดเยอรมัน

"ผมมีใจชอบเรื่องรถคลาสสิคมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีเวลาไปดูแลหรือบูรณะมัน ตอนนี้ผมมาเป็นนายกสมาคมรถโบราณ ก็รู้สึกว่าได้เวลาแล้ว เพื่อนที่เป็นกรรมการด้วยการหลายคนก็ให้ความช่วยเหลือ อย่างเช่นคุณศิริพงษ์ บูรณะพันธุ์ ซึ่งเป็นอุปนายกและมีประสบการณ์ในการบูรณะรถโบราณมาหลายคันก็ให้ความช่วยเหลือ และคุณศิริพงษ์มีรายชื่อรถที่น่าสนใจอยู่หลายคันก็ให้ผมเลือกว่าสนใจคันไหน จนมาเห็น BMW 503 คันนี้ก็ชอบเพราะว่าใจผมชอบบีเอ็มดับเบิลยูอยู่แล้ว

ผมเป็นคนชอบขับรถเอง บีเอ็ม ฯ เป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ขับมัน ขับสนุก ผมไม่ชอบรถนั่งมัน ในอดีตที่ผ่านมาผมเป็นเจ้าของ ซีรีส์ 3 2 คัน ซีรีส์ 7 3 คัน มันก็ผูกพันอยู่กับบีเอ็ม ฯ เมื่อได้อ่านประวัติของรถคันนี้ก็ยิ่งสนใจมากขึ้น เพราะรถคันนี้ถูกผลิตขึ้นในปี 1956-1959 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังสงคราม ขณะนั้นโรงงานของบีเอ็มดับเบิลยูโดนบอมบ์จนไม่เหลืออะไร แต่เขาก็พยายามสร้างรถที่แสดงให้โลกเห็นว่า เขายังทำรถเป็น รถที่มีคุณภาพดีราคาแพง อีกด้านหนึ่งก็ทำรถเล็กได้ ตอนนั้นบีเอ็มฯ ซื้อโรงงาน อีเซ็ตต้า ซึ่งเป็นของอิตาลีมา อิเซ็ตต้า เป็นตัวอย่างของรถเล็กที่ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้อย่างสบาย

ขณะเดียวกันในด้านรถหรู ก็เป็นบีเอ็มดับเบิลยู 503 คูเป้ รุ่นนี้ ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูงมากในยุคนั้น ตัวรถเป็นอลูมิเนียม เครื่องยนต์ก็เป็นบล็อคอัลลอย บางส่วนของตัวถังเป็นอลูมิเนียมที่ต้องเชื่อมกับเหล็ก สมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำแบบนี้เพราะแค่เชื่อมอลูมิเนียมเข้าด้วยกันก็เป็นเรื่องยากแล้ว จึงเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าบีเอ็ม ฯ มีเทคโนโลยีสูง"

ในช่วงหลังสงครามทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า จึงส่งผลให้หาลูกค้าระดับนี้ได้ยาก อีกทั้งราคาของรถรุ่นนี้ในเวลานั้นคิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 400,000 บาทซึ่งถิอว่าสูงมาก เมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบันนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาท ระยะเวลาในการผลิตบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นนี้ระหว่างปี 1956 - 1959 จึงมีจำนวนเพียงแค่ 412 คันเท่านั้น เป็นพวงมาลัยซ้ายทั้งหมด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของชมรม BMW 503 พบทั่วโลกว่ามีไม่เกิน 100 คัน ในเยอรมันมีไม่เกิน 50 คัน นี่ก็เป็นคันเดียวในเอเชีย ซึ่งเจ้าของเดิมก็เสียชีวิตไปแล้วลูกหลานก็เลยขายให้กับคุณขวัญชัย โดยที่เขาเองบอกว่ารู้สึกเหมือนเป็นเนื้อคู่กัน เพราะใช้เวลาติดต่อขอซื้ออยู่ถึง 2 ปี จากราคาที่ตั้งไว้ 1.3 ล้านบาท จนมาเขยิบขึ้นถึง 2 ล้านบาท การลงทุนกับรถราคา 2 ล้านบาทที่ดูสภาพแล้วเป็นคล้ายเศษเหล็กจึงถือว่าสูงมาก เพราะรุ่นนี้หากดูตามมาตรฐานราคาในต่างประเทศ สำหรับสภาพดีน่าจะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านบาท"

"การที่เราได้เป็นเจ้าของรถที่มีน้อยอย่างนี้ โดยเฉพาะเป็นคันเดียวในเอเชียแล้ว ต้องถือว่าเป็นความภูมิใจ มันเหมือนเป็นเนื้อคู่กัน เพราะด้วยราคาขนาดนี้ไปขายคนอีกแสนคนหรือล้านคนก็คงไม่มีใครอยากได้ สัก 5 หมื่น หรือ 7 หมื่น อาจจะบอกแพงไปก็ได้ แต่ผมสู้ในราคานี้เพราะถือว่าเป็นเนื้อคู่กัน ได้มาแล้วก็ภูมิใจ และพยายามบูรณะมัน ก็พยายามหาช่างที่มีฝีมือ โชคดีที่ได้ มร. โรเบิร์ต โฮลน์สไตเนอร์ ซึ่งเป็นกรรมการเทคนิคของสมาคมรถโบราณ และเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะในเรื่องการบูรณะ เมร์เซเดส-เบนซ์ กัลล์วิง ซึ่งเมื่อก่อนที่อยู่เยอรมันก็ทำรถรุ่นนี้เป็นอาชีพเลย แต่เพื่อเบื่อๆ ก็เกษียณ ตัวเองมาอยู่ภูเก็ต แต่ก็ทนไม่ได้ก็มารับบูรณะพวกรถเยอรมันอีก โรเบิร์ต เป็นช่างมีฝีมือ เป็นเยอรมันที่ละเอียดมาก รู้แหล่งของอะไหล่ทุกชิ้น ก็เลยให้โรเบิร์ตกับคุณศิริพงษ์ช่วยกันว่าควรทำอะไรก่อนหลัง"

รถคันนี้เป็นการบูรณะแบบ 2 ขั้นตอน เพราะเขาต้องการนำรถคันนี้ไปโชว์ในบูธของสมาคมรถโบราณ ในงานมหกรรมยานยนต์ และหลังงานอีก 1 อาทิตย์ ก็เป็นงานหัวหิน วินเทจคาร์ พาเหรด ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมโซฟิเทล หัวหิน โดยขั้นตอนแรกก็คือประกอบรถคันนี้ให้เห็นหน้าตาว่า เป็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงกลับมารื้อออกหมดเลแล้วทำใหม่ทุกอย่าง โดยขณะนี้สภาพตัวถังที่เห็นอยู่เป็นฝีมือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องเอามาเคาะละเอียดประเภทว่าเอากล้องส่องตรวจความเนียนกันอีกครั้ง ภาพที่เห็นขณะนี้ความห่างระยะช่องไฟของตัวถังอาจยังไม่เข้ากันดีนัก
จากนั้น มร. โรเบิร์ต จึงมาฟิตเครื่องเปลี่ยนอะไหล่ให้ใหม่ ทำให้ออกมาในสภาพเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ ชิ้นส่วนต่างๆ ต้องสั่งมากจากเยอรมัน โดยมีบริษัทแห่งเดียวในโลกนี้ที่ยังทำชิ้นส่วนให้รถยนต์รุ่นนี้ ราคาอะไหล่ที่ลงทุนไปแล้ว 1 ล้านบาท และกว่าจะเสร็จต้องใช้อีกประมาณ 1 ล้านบาท รวมเป็นต้นทุน 4 ล้านบาท

"รถคันนี้ผมให้สัญญาประชาคมกับคนไทยไว้เลยว่าจะเป็นของคนไทยตลอดไป ผมจะไม่มีวันขายมันเด็ดขาด เพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจ มันผูกพัน มีความรักอยู่  ให้ผม 100 ล้าน ผมก็ไม่ขาย..."
กำลังโหลดความคิดเห็น