มูลนิธิเอสซีจียึดถืออุดมการณ์เชื่อมั่นในคุณค่าของคนมาโดยตลอด จึงได้จัดเวิร์คช็อปเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญให้กับตัวแทนคุณครูอนุบาลทั่วประเทศกว่า 70 คน เพื่อนำกระบวนการเรียนรู้และเครื่องมือต่างๆ ไปใช้เสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆ ได้อย่างถูกต้องต่อไป
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจี เล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรผู้ทำหน้าที่ดูแลและใกล้ชิดกับเด็กเล็กเป็นอย่างมาก จึงขยายแนวคิดเรื่องการใช้หนังสือภาพและกระบวนการ ‘เล่านิทาน อ่านหนังสือ’ ไปสู่กลุ่มครูอนุบาล เพื่อจุดประกายให้พวกเขาได้นำความรู้ไปใช้พัฒนาและเติมเต็มให้เด็กๆ มีสติปัญญาที่ดี มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสมาธิที่ยาวนานขึ้น เพราะเราเชื่อว่ายิ่งเด็กเล็กได้รับการพัฒนาเร็วเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นเท่านั้น
โดยเฉพาะการเล่านิทานอ่านหนังสือนั้น ถือเป็นวิธีการที่ทำได้ง่าย ประหยัด ทรงพลัง และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุดอย่างหนึ่ง เพียงอ่านหนังสือให้เด็กฟังวันละ 10 – 15 นาทีเท่านั้น รวมทั้งเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้ช่วยพัฒนาลูกน้อย ทั้งด้านร่างกายหรืออารมณ์ความรู้สึก และยังเป็นการเชื่อมสายใยรักและความอบอุ่นของครอบครัวให้แนบแน่นอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ เรายังเชื่อว่าหนังสือที่เด็กรักเพียงหนึ่งเล่มก็มีค่าพอที่จะเสริมสร้างจินตนาการและความทรงจำที่ดีในวัยเยาว์ให้พวกเขา จนมีคำกล่าวที่ว่า เด็กที่ชอบและคุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะยิ่งรักและผูกพันกับการอ่านไปจนโต
มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นในสังคมไทยผ่านกระบวนการ ‘เล่านิทาน อ่านหนังสือ’ ภายใต้โครงการ “มหัศจรรย์หนังสือภาพ” มาตั้งแต่ปี 2547 โดยรณรงค์ส่งเสริมการให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องการใช้หนังสือภาพกับลูกน้อย ให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานวัยแรกเกิด - 6 ปี เพื่อปลูกฝังเด็กให้มีนิสัยรักการอ่าน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้จัดทำชุดหนังสือภาพ ภายใต้โครงการ “นำหนังสือดีสู่เด็กไทย” มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเด็ก อย่างคุณครู ได้นำไปใช้พัฒนาเด็กเป็นประจำและต่อเนื่อง
วรนันท์ ประเสริฐเมธ นักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก วิทยากรในการอบรมครั้งนี้กล่าวว่า พัฒนาการในวัยเด็กมีส่วนสัมพันธ์กันหลายด้าน เช่น ด้านร่างกาย สติปัญญา ภาษา อารมณ์ และสังคม ดังนั้น เด็กในช่วงวัยแรกเกิด – 6 ปี จึงสมควรจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างคุณครูเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมการแสดงออก โดยเฉพาะการใช้อารมณ์ของเด็ก เพราะถ้าเด็กรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร เขาจะเกิดความเข้าใจ เรียนรู้ภาษา และสมองจะเก็บบันทึกเป็นคลังคำศัพท์ให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เด็กสื่อสารได้อย่างเข้าใจความหมาย และเมื่อเด็กยิ่งมีคลังคำศัพท์เยอะเท่าไร ก็จะยิ่งสื่อสารได้เร็วเท่านั้น
พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูสามารถเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับเด็กได้ ด้วยการใช้หนังสือภาพเป็นเครื่องมือ เมื่อเด็กได้สัมผัสและพลิกดูภาพจากหนังสือก็จะมีจินตนาการเกิดขึ้น สมองจะสร้างเรื่องราวและเชื่อมโยงภาพกับประสบการณ์เข้าด้วยกัน เมื่อเข้าใจเด็กจะได้คำศัพท์เพิ่มเอง อีกทั้งหนังสือภาพสามารถเป็นสื่อกลางระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้เกิดสายใยระหว่างกันได้ เมื่อลูกได้รับสัมผัสจากพ่อแม่ เช่น การอุ้มลูกนั่งตัก การกอดรัด ควบคู่ไปกับการใช้หนังสือ เด็กจะจดจำน้ำเสียง จังหวะ ท่าทาง แม้กระทั่งความอุ่นจากร่างกายพ่อแม่เอง นอกจากนี้ เด็กยังจะได้รับมุมมองทัศนคติการมองโลกจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ที่อ่านให้ฟังอีกด้วย สรุปคือเมื่อเราสื่อสารกับลูกดีก็จะเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีตามมา
ชีวัน วิสาสะ นักประพันธ์หนังสือภาพสำหรับเด็กชื่อดังระดับประเทศ อีกหนึ่งวิทยากร กล่าวเสริมว่า หนังสือเกือบทั้งหมดบนโลกนี้ถูกออกแบบให้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมเพื่อให้สอดรับกับขอบเขตการมองของมนุษย์ ซึ่งทำให้ผู้มองมีสายตาที่จดจ้อง จิตใจจดจ่อ และนำไปสู่การเกิดสมาธิ เด็กเล็กจึงเหมาะที่จะเริ่มต้นด้วยหนังสือที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่ต้องมีภาพในสัดส่วนที่มากกว่าตัวหนังสือ ซึ่งเมื่อเด็กมองภาพจะเห็นลายเส้น รูปทรง สี ที่แตกต่างกันไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นกระบวนการความคิด และเด็กจะพยายามเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของเขา จนเกิดการตีความ และเข้าใจ ทำให้สามารถรับรู้ถึงภาษาและสื่อสารได้
อย่างไรก็ตาม การใช้หนังสือภาพกับเด็กนั้น จะต้องทำให้เด็กรู้สึกรักและชอบหนังสือก่อน เด็กถึงจะรักการอ่าน โดยควรวางแผนการเล่าว่าจะดำเนินเรื่องอย่างไร ลงเอยอย่างไร เพื่อให้เด็กเข้าใจในสาระ โดยในขณะที่เล่าควรใช้คำศัพท์พื้นฐานที่เด็กจะต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อ แม่ ลูก กิน นอน นั่ง อิ่ม หิว เป็นต้น และที่สำคัญควรจะสอดแทรกสิ่งที่เป็นความรู้ คุณธรรม จริยธรรมเข้าไปด้วย เพราะขณะที่เด็กฟังเสียงผู้ใหญ่อ่านอยู่นั้น สายตาของเด็กจะไล่ดูภาพในหนังสือตรงหน้า ภาพในสายตาของเด็กกับเสียงที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังจะผสานกลมกลืนกันจนเกิดเป็นภาพต่อเนื่องเคลื่อนไหวในสมองเด็ก ซึ่งพลังจินตนาการของพวกเขาจะได้รับการเติมให้เต็มเปี่ยมจากตรงนี้ และจะเกิดเป็นความสนุกขึ้นเอง
ละเอียด คำสุนทร หรือ ครูเอียด ผู้สอนระดับชั้นอนุบาล 1 – 2 โรงเรียนวัดหนองเมือง (สามัคคีราษฎร์รังสฤษฎ์) อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมกล่าวว่า เหมือนได้มาเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและการใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาเด็กให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะได้เรียนรู้วิธีการเลือกและใช้หนังสือภาพให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็ก อีกเรื่องที่น่าสนใจมากคือการสื่อสารกับเด็กผ่านการสังเกตอารมณ์ของพวกเขา ซึ่งถ้าเราเข้าใจและปฏิบัติกับเด็กอย่างถูกวิธีแล้ว เด็กจะมีพัฒนาการทางสังคมที่ยอดเยี่ยม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ต่อไป
ชุติมา ปลดเปลื้อง หรือ ครูฝ้าย ผู้สอนระดับชั้นเตรียมอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่ายภาณุรังษี โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์โยธินวิทยา อ.เมือง จ.ราชบุรี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะทำให้เข้าใจและมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะนำหนังสือภาพไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาเด็กๆ อยากให้จัดต่อไปเรื่อยๆ และขยายไปถึงคุณครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย
มูลนิธิเอสซีจีคาดหวังว่าการผลักดันและขยายแนวคิดการใช้หนังสือภาพผ่านการอบรมกระบวนการ ‘เล่านิทาน อ่านหนังสือ’ ในครั้งนี้ จะสามารถจุดประกายให้คุณครูนำเครื่องมือที่ประหยัด ง่าย และทรงพลังนี้ ไปใช้กับเด็กๆ ในวงกว้างขึ้น เพราะไม่ว่าโลกแห่งเทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปแค่ไหน แต่การรักษาโลกแห่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความคิดที่งดงามในวัยเด็กไว้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีให้เด็กน้อยเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจหนังสือภาพในโครงการ “นำหนังสือดีสู่เด็กไทย” โดยมูลนิธิเอสซีจี สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายจะสบทบเข้า ‘กองทุนนำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ โดยมูลนิธิเอสซีจี ที่จะนำรายได้ทั้งหมดไปจัดพิมพ์หนังสือภาพเพื่อมอบให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในชนบทที่ขาดแคลนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิเอสซีจี โทร.02-586-2547 อีเมล ecd.scgfoundation@scg.co.th เว็บไซต์ www.scgfoundation.org หรือ Facebook มหัศจรรย์หนังสือภาพ