xs
xsm
sm
md
lg

‘เอพี ไทยแลนด์’ ‘ปั้นฝัน เดอะ บัณฑิต ปี 3’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


‘เอพี ไทยแลนด์’ ร่วมสืบสานแนวพระราชดำริ สนับสนุนเด็กไทยสร้างมูลค่าศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย กับโครงการ ‘ปั้นฝัน เดอะ บัณฑิต ปี 3’ ภายใต้การดูแลของ ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานพระราชดำริ มูลนิธิรากแก้ว และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย’
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนโครงการ ‘ปั้นฝัน เดอะ บัณฑิต ปี 3’ โครงการสุดสร้างสรรค์ภายใต้การสนับสนุนของ ‘มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ’ (มูลนิธิที่ตั้งขึ้นเพื่อสืบสานแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9) มูลนิธิรากแก้ว และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่อเฟ้นหากลุ่มเยาวชนที่มีจิตสำนึก ตระหนักรู้ถึงปัญหาของสังคม มาใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ช่วยเชิดชูงาน ‘ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งแสดงให้นานาชาติได้เห็นถึงศักยภาพของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย

โดยในปีนี้บมจ.เอพี ไทยแลนด์ มีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำ ปรึกษา ลงพื้นที่ดูการปฎิบัติงานจริงพร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทั้งในด้านการออกแบบ งานการตลาดและการขาย ให้กับทีมนิสิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒซึ่งรวมตัวกันจาก 5 สาขาวิชา ได้แก่ 1. สาขาการออกแบบสื่อสาร 2. สาขาการจัดการธุรกิจไซเบอร์ 3. สาขาการออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ 4. สาขาการจัดการท่องเที่ยว และ 5. สาขาการออกแบบแฟชั่น เพื่อดึงขีดความสามารถของน้องๆ ในแต่ละสาขามาพัฒนาโครงงานภายใต้คอนเซ็ปต์ “ผ้าไหมบุญพื้นถิ่น ถมไทยศุภสิน ปั้นสรรค์ศิลป์แผ่นดินสู่สากล” (Green Silk Green Jewelry) ให้ออกมาดีที่สุด สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลงาน “ผ้ารองจาน” ผลิตจาก “ผ้าไหมอีรี่” ที่ได้เส้นไหมมาจากหนอนไหมสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นไหมป่าเพียงชนิดเดียวที่สามารถเลี้ยงได้ครบวงจรชีวิต ตัวหนอนไหมไม่ตายที่กระบวนการดึงเส้นไหม และ “ชุดช้อนส้อม” ที่ผลิตจาก “เครื่องถมดำ” ที่ทางสาขาอัญมณีและเครื่องประดับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้นำนวัตกรรมยาถมปลอดสารตะกั่วที่คิดค้นได้เพื่อยกระดับชิ้นงานให้ได้มาตรฐานสากล เข้าไปเผยแพร่สอนอาชีพให้แก่ชาวบ้านในชุมชน
นายภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image Officer บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “เอพีเชื่อว่าทุกๆ ปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้ความสามารถ เราจึงให้ความสำคัญ กับเรื่อง Knowledge Sharing การแบ่งปันความรู้ให้ชุมชนหรืออุตสาหกรรม เพื่อยกระดับให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในด้านการพัฒนาคน มาปฏิบัติอย่างจริงจัง สำหรับน้องๆ นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ เอพีได้ให้การสนับสนุนผ่านกิจกรรมหลายอย่างที่ทำร่วมกันตั้งแต่เชิญผู้เชี่ยวชาญ ด้านดีไซน์ ที่มีชื่อเสียงมาถ่ายทอดมุมมอง สร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้านการออกแบบแล้ว เรายังคำนึงถึงเรื่อง Phisibility ของสิ่งที่ทำออกมาว่าทำได้จริงไหม ถ้าผลิตออกมาแล้วสามารถสร้างกำไรไหม แล้วกำไรที่ได้เหลือไปถึงผู้ผลิตหรือชุมชนเท่าไร”

ทั้งนี้ เอพีสนุบสนุนนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ เข้าร่วมโครงการ ‘ปั้นฝัน เดอะ บัณฑิต ปี 3’ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดของคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมในศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยใช้เทคโนโลยียุคปัจจุบัน และความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่มาบูรณาการใช้กับผ้าไหมและเครื่องลงถม แนะแนวอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชมให้สามารถเลี้ยงตนได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ตอบสนองปรัชญาของเอพีเรื่องดีไซน์ที่มุ่งพัฒนาเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้น” นายภัทรภูริต กล่าว
ด้านดร.ขจีพร วงศ์ปรีดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไหมบุญพื้นถิ่น ถมไทยศุภสิน ปั้นสรรค์ศิลป์แผ่นดินสู่สากล เล่าถึงการดำเนินโครงการว่า “โครงการนี้เกิดจากความคิดที่ว่าอยากทำอะไรเพื่อรับใช้สังคม โดยสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริงอย่างยั่งยืน พอได้มาเป็นที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษากลุ่มนี้จึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกฝังความคิดด้านจิตอาสาให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ยังมีทีมเอพีที่คอยสนับสนุนนิสิตกลุ่มนี้ให้ทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นายอดิรุจ พีรวัฒน์ บัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ หัวหน้ากลุ่มผ้าไหมบุญพื้นถิ่น ถมไทยศุภสิน ปั้นสรรค์ศิลป์แผ่นดินสู่สากล กล่าวว่า การลงพื้นที่ทำกิจกรรมครั้งนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์มาก ตั้งแต่การวางแผนงาน การเก็บข้อมูล รวมไปถึงการลงมือทำจริง นอกจากนี้ยังได้เจอและทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งอาจารย์และเพื่อนต่างคณะ ทีมเอพี รายการปั้นฝัน เดอะ บัณฑิต รวมไปถึงชาวบ้านในชุมชนจังหวะสระแก้ว ถึงแม้จะมีอุปสรรคและปัญหา แต่ก็ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนมาก่อน ที่สำคัญคือรู้สึกอิ่มเอมใจมากๆ ครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรู้ทางวิชาชีพที่ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ได้จริง ช่วยให้เขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่นายไชยยง รัตนอังกูร ผู้เชี่ยวชาญงานสร้างสรรค์การออกแบบ กล่าวว่า การใช้งานที่บางครั้งดีไซเนอร์จะสร้างสรรค์ผลงานตาม Inspiration เพื่อหวังผลประโยชน์การใช้งานอย่างหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วดีไซเนอร์ต้องมองในมุมของผู้ใช้งานด้วยว่าเขาจะใช้ประโยชน์จากสินค้านั้นในลักษณะใด เพราะสุดท้ายแล้วฟังก์ชั่นการใช้งานได้จริงคือ สิ่งสำคัญที่นักออกแบบทุกคนต้องคำนึงถึงเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น