“หลักการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี คือ เราอยู่ได้ ผู้มีส่วนได้เสียอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้
ปาฐกถา โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
เนื่องในโอกาสที่เอสซีจีก่อตั้งมาครบรอบ 103 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการ เอสซีจี และเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมายาวนานกว่า 35 ปี ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาในงานเสวนาพิเศษเพื่อสืบสานพระราชปณิธานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ‘SCG ธุรกิจพอเพียง’ โดยมีใจความดังต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2537 ขณะที่ถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่นั้น รัฐบาลเรียกตัวให้ผมกลับไปเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ช่วงนั้นประเทศไทยกำลังหลงระเริง เพราะเรามีอัตราความเจริญสูงสุดอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน เรารวยอย่างชนิดที่ว่าไม่เคยรวยมาก่อน ปีต่อๆ มากราฟก็ยังขึ้นไม่หยุด แต่เราหารู้ไม่ว่าอาการของโรคกำลังก่อตัวขึ้นแล้ว คล้ายกับคนที่เป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว วันดีคืนดีเราลุกขึ้นมาอยากเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ในช่วงเวลาที่เงินทองเดินสะพัดมหาศาล คนรวยใช้เงินกันเป็นเบี้ย แต่แท้จริงหนี้สินกำลังสะสมพอกหางหมูมาตามลำดับ เพราะเรากำลังเดินเข้าไปในอุตสาหกรรมบนความไม่พร้อม เงินก็กู้เขามา เทคโนโลยีก็ซื้อเขามา และคนก็ยังต้องพึ่งพาเขาอีก บริษัทแถวรังสิตมีแต่เจ้าของเป็นฝรั่งกับญี่ปุ่น ส่วนไทยเราเอาดิน น้ำ ลม ไฟ เอาทรัพยากรธรรมชาติไปลงทุน
เมื่อเราลืมตัวสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความพินาศ อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานทางเลือกให้กับสังคมไทย นั่นก็คือ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งพอพูดแบบนี้คนส่วนใหญ่ก็มักนึกถึงสิ่งที่เชื่อมโยงกับการเกษตรเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คำว่าพอเพียงคือธรรมะที่นำไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะทำอะไรขอให้กระบวนการคิดผ่านหลักสามประการนี้
หนึ่ง ความพอประมาณ ก่อนทำอะไรให้ประเมินตนเองเสียก่อน อย่าสร้างแต่ความฝัน ให้เลือกทำสิ่งที่เรามีความพร้อมจริงๆ อะไรเกินตัวเราควรรีดไขมันออกให้หมด
สอง ความมีเหตุผล เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้สอนให้จน แต่สอนวิธีเดินไปข้างหน้าโดยใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง เพื่อให้ธุรกิจของเราดำเนินไปได้เรื่อยๆ แบบยั่งยืนตลอดไป อย่าใช้อารมณ์ อย่าใช้กิเลสตัณหา
สาม การมีภูมิคุ้มกัน อย่าประมาท ทุกบริษัทควรมีการบริหารความเสี่ยง เราต้องรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ว่าวันพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น เราต้องเตรียมพร้อมเผชิญเหตุการณ์เหล่านั้นให้ได้
สมัยผมเด็กๆ ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 18 ล้านคน วันนี้มีประชากร 67 ล้านคนแล้ว ส่วนแผ่นดินมีแต่จะเล็กลงเพราะถูกใช้ ถูกทำลาย ถูกบริโภค ระบบที่นำโลกอยู่ในขณะนี้คือบริโภคนิยม ทุกนาทีทุกลมหายใจเราถลุงทรัพยากรธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำธุรกิจ แต่อย่าลืมว่ามีลูกหลานรอรับช่วงใช้โลกต่อจากเราอยู่ ฉะนั้นเราจึงคิดแต่เรื่องกอบโกยกำไรไม่ได้แล้ว เราต้องหาวิธีอยู่อย่างยั่งยืนและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างกลมกลืนโดยไม่เสียเปรียบให้ได้
“หลักการดำเนินธุรกิจของเอสซีจี คือ เราอยู่ได้ ผู้มีส่วนได้เสียอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้” ถ้าเราถลุงทรัพยากรทั้งหมดเพื่อกำไรสูงสุดในวันนี้ วันข้างหน้าเราก็จบ เราต้องมองหาความสมดุล ยั่งยืน และมั่นคง ถ้าทำธุรกิจโดยไม่ใช้สามคำนี้เป็นตัวนำทางโลกคงประสบหายนะอย่างรวดเร็วที่สุด