อพท.ผลักดัน “ป่าสิริเจริญวรรษ” 1 ใน 11 โครงการพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากป่า หวังช่วยอนุรักษ์ดิน แหล่งต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศวิทยาของป่าดั้งเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่า
พันเอกดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรืออพท. เปิดเผยว่า อพท.ได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางและปรับใช้พัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานพัฒนาเส้นทางและกิจกรรม เพื่อรองรับนักเดินทางผู้มาเยือน หนึ่งในนั้นยังมีโครงการที่ต่อยอดจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวปั่นจักรยาน บ้านชากแง้ว-เขาชีจรรย์ มีจุดแวะพักเพื่อศึกษาและทำกิจกรรมที่ป่าสิริเจริญวรรษ ในบริเวณเขาชีจรรย์และพื้นที่โดยรอบ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรวม 11 โครงการ ที่อพท.จะใช้รูปแบบการทำงานด้านประสานภาคี ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาดูงาน
ทั้งนี้ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อพท.จึงมีแผนผลักดันสร้างการรับรู้เส้นทางตามรอยเสด็จ ตลอดจนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ เส้นทางตามรอยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชีจรรย์ ป่าสิริเจริญวรรษ ซึ่งอพท.ได้ร่วมกับป่าสิริเจริญวรรษ สนับสนุนการจัดทำเส้นทางจักรยาน และเผยแพร่ให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รู้และทราบถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ ที่มุ่งเน้นเรื่องการฟื้นฟูผืนป่าเสื่อมโทรมให้กลับอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง และประชาชนโดยรอบพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้ได้
ด้านทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการอพท. กล่าวว่า โครงการป่าสิริเจริญวรรษ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ที่พระราชทานให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำที่บริเวณเขาชีโอน ติดกับเขตวัดญาณสังวรารามวรวิหาร อยู่ในเขตตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาได้น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวนประมาณ 360 ไร่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2535
วัตถุประสงค์การพัฒนาในโครงการนี้เพื่อดูแลรักษาสวนป่าสิริเจริญวรรษให้มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอนุรักษ์ดินและน้ำ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนตลอดไป เพื่อให้เป็นแหล่งทัศนศึกษาและที่พักผ่อนหย่อนใจของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับฟื้นคืนสภาพป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าที่ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ โดยใช้วิธีการเลือกปลูกไม้โตเร็ว สำหรับใช้สอย ปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับนกและสัตว์ป่าใช้ผลสุกเป็นอาหาร รวมทั้งปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อคืนสภาพป่า รวมทั้งอนุรักษ์ดินและน้ำ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2535 ได้ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 580 ไร่ ไม้ที่ปลูกในระยะเริ่มแรกเจริญเติบโต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์จากป่า โดยการเก็บหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด ยอดหวาย เป็นต้น
นอกจากนี้ โครงการป่าสิริเจริญวรรษได้ปลูกทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ เนื้อที่ 100 ไร่ จัดทำรั้วล้อมรอบพื้นที่โครงการฯบางส่วน รวมความยาว 8.5 กิโลเมตร เพื่อเตรียมปล่อยสัตว์ป่า จัดสร้างอาคารอนุบาลสัตว์ป่าและหอดูสัตว์ ให้ผู้มาเยี่ยมโครงการฯ โดยไม่รบกวนสัตว์ป่า
ปัจจุบันป่าสิริเจริญวรรษแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงเหลืออยู่ให้คงอยู่ตลอดไป ช่วยอนุรักษ์ดิน แหล่งต้นน้ำลำธาร และระบบนิเวศวิทยาของป่าดั้งเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนเป็นแหล่งพักสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่รอบๆ โครงการป่าสิริเจริญวรรษ และได้ใช้ประโยชน์ใช้สอยจากป่าของโครงการป่าสิริเจริญวรรษ และเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ สำหรับศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
กิจกรรมของโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย
1.กิจกรรมปลูกป่าในใจคน
2.กิจกรรมเข้าค่ายพักแรม (มีกิจกรรมเป็นฐาน อาทิเช่น กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมให้ความรู้ และสร้างความสามัคคี
3.กิจกรรมจัดทำฝ่ายชะลอน้ำ
4.เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
5.กิจกรรมยิง EM ball
6.กิจกรรมปั่นจักรยาน (เส้นทางปั่นจักรยานในสวนป่าสิริเจริญวรรษ)