xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯจับมือ 25 โรงงาน ช่วยชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.อตฯจับมือโรงงาน ซื้อข้าวจากชาวนา เล็งร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางช่วยเหลือ เผยภาคการผลิตซื้อแล้ว 807 ตัน

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการสั่งซื้อข้าวตรงจากชาวนาภายใต้ชื่อ“โครงการอุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยชาวนาไทยขายข้าว” ว่า ได้มีพิธีลงนามสัญญาซื้อข้าวของโรงงานขนาดใหญ่ สภาอุตสาหกรรมและสมาคมต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ รวม 25 ราย มีคำสั่งซื้อข้าวจำนวนทั้งสิ้น 32 ตัน นอกจากนี้ได้นำข้าวอีก 14 ตัน มาขายแก่พนักงานในสวนอุตสาหกรรมเทพารักษ์ (เอ็ม.ไทย เอสเตท) อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 30 บาท และยังมีข้าวขาวและข้าวเหนียวมาจำหน่ายในงานด้วย

จากการสรุปข้อมูลวันที่ 2-15 พฤศจิกายน 2559 มีโรงงานภายนอกนิคมฯ จำนวน 167 โรงจาก 30 จังหวัด ได้สั่งซื้อข้าวแล้วรวมทั้งสิ้น 807.6 ตัน และยังมียอดคำสั่งซื้อจากโรงงานทั่วประเทศทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ที่ซื้อขายและส่งมอบข้าวไปยังโรงงานแล้วมีจำนวน 154.1 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 3.45 ล้านบาท ยังไม่รวมตัวเลขของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่มีเป้าหมายในการรับซื้อข้าวให้ได้อย่างน้อย 5,000 ตัน หรือประมาณการว่าสามารถช่วยกันซื้อข้าวได้โรงงานละ 1 ตัน ล่าสุดได้มียอดสั่งซื้อข้าวแล้ว จำนวน 145 ตัน

“ตามปกติภาคอุตสาหกรรมสั่งซื้อข้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ซึ่งจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีผู้ผลิตประมาณ 2,102 ราย พบว่า มีโรงงานที่ประกอบกิจการทำอาหารจากแป้ง จำนวน 1,338 ราย เช่น โรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ ขนมจีน โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับแป้งข้าวเจ้าสำหรับทำขนม มีจำนวน 11 ราย และโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ จำนวน 753 ราย โดยแต่ละรายใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบตั้งแต่ 5-450 ตัน จึงไม่สามารถสั่งซื้อตรงจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือสหกรณ์การเกษตรได้ เนื่องจากติดข้อจำกัด 3 ประการ คือ 1) ปริมาณการสั่งซื้อ เพราะโรงงานซื้อแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก 2) คุณภาพ ที่ต้องผ่านการควบคุมให้ตรงกับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรม และ 3) ความแน่นอนในการส่งมอบ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงสั่งซื้อผ่านโรงสี หรือตัวแทนจำหน่ายที่เป็นพ่อค้าคนกลาง จึงไม่สามารถสั่งซื้อตรงจากชาวนาได้” นางอรรชกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมสามารถช่วยชาวนาได้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
1. โรงงานขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ซื้อข้าวเป็นอาหารกลางวันแก่พนักงาน หรือ ร้านอาหารในโรงอาหารของโรงงาน ที่ขายในราคาถูกกว่าร้านข้างนอก เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน และลดค่าใช้จ่ายภาระค่าครองชีพ เช่น โรงงานโตโยต้าอำนาจเจริญ ซื้อข้าวหอมมะลิ ปีละ 4 ตัน บริษัท ทัศนาการศิลา จำกัด ประกอบกิจการโรงโม่หิน ซื้อข้าวหอมมะลิเดือนละ 1.5 ตัน บริษัท จีเอฟพีทีนิชิเร (ประเทศไทย) ผู้ผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากเนื้อไก่ ได้ซื้อข้าวขาว 5% เดือนละ 30 ตัน บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม ผู้ผลิตน้ำตาลทรายซื้อข้าวขาว เดือนละ 1.5 ตัน เป็นต้น

2. โรงงานรับเป็นสื่อกลางสั่งซื้อข้าวถุงมาส่งที่โรงงานเพื่อให้พนักงานซื้อข้าวถุงในราคาถูก กลับไปบริโภคที่บ้าน เช่น สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งสั่งซื้อข้าวตรงจากสหกรณ์การเกษตรสุรินทร์ จำนวน 14 ตันมาจำหน่าย

3. การเปิดจุดให้ชาวนาซื้อขายข้าวในทุกนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม รวมประมาณ 89 แห่ง กระจายอยู่ใน 17 จังหวัด ซึ่งมีการทยอยจัดกิจกรรมไปบ้างแล้ว เช่น จ.ปทุมธานี เปิดโรงงานไทยสแตนเลย์ ขายข้าวจำนวน 6 ตันหมด จ.สระบุรี เปิดพื้นที่กลุ่มโรงงานปูนฯ อนุญาตให้นำข้าวมาขายในช่วงเงินเดือนออก และที่จัดกับหน่วยงานของจังหวัด อาทิ เพชรบูรณ์ พิจิตร อุทัยธานี อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี สุรินทร์ เป็นต้น

4. การซื้อเป็นของชำร่วย หรือของแจกช่วงปีใหม่ เช่น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันในเครือข่ายสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซื้อข้าวถุงละ 1 กิโลกรัม รวม 1 ตัน ฯลฯ

5. การเปิดพื้นที่ของโรงงานให้ชาวนาได้ตากข้าว เพื่อลดความชื้น เช่น โรงสีต่างๆ หรือบริการช่วยอบข้าวฟรี โดย โรงสีเจียเม้ง จ.นครราชสีมา เปิดให้อบข้าวฟรี 7,500 ตันเป็นเวลา 15 วัน มีกำลังผลิตรับได้วันละ 500 ตัน คาดว่าสามารถช่วยชาวนาได้ 2,500-3,000 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ยังได้สำรวจข้อมูลความต้องการเครื่องจักรกลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าว เช่น เครื่องสีข้าว เครื่องอบข้าว เครื่องซีลสูญญากาศ เครื่องคัดแยกข้าว และเครื่องทำการเกษตรแบบน้ำหยด เพื่อหาแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลืออื่น โดยอาจร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับรายงานว่า มีโรงงานฯ จากทุกจังหวัดเต็มใจซื้อข้าวตรงจากชาวนา เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ และมียอดความต้องการซื้อของโรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งกระทรวงฯ จะช่วยเป็นตัวกลางในการประสานสั่งซื้อ ซึ่งมั่นใจว่า 1.ราคาเป็นธรรมกับผู้ซื้อ ถูกกว่าห้างขายส่งเนื่องจากไม่ได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง 2.ต้องซื้อจากหน่วยงาน สหกรณ์ที่สั่งซื้อข้าวตรงจากชาวนาเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นการซื้อข้าวข้ามเขตจังหวัด เนื่องจากภายในจังหวัดไม่มีการปลูกข้าว เช่น พื้นที่ภาคใต้ ก็อาจมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นบ้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น