xs
xsm
sm
md
lg

"เพาเวอร์" รุกพลังงานทางเลือก ทั้งโซลาร์ฟาร์ม/ชีวมวล/ชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนาย กังวาลรัตน์
เพาเวอร์ โซลูชั่น เร่งขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ตั้งเป้า 3 ปี ยอดซื้อขายไฟฟ้าพุ่ง 100 MW ดันรายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท
พระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าชีวภาพ โดยมีแผนลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งภาคพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 2 โครงการ รวมเงินลงทุน 425 ล้านบาท
โครงการแรกเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 5 MW ในพื้นที่สหกรณ์การเกษตรเมืองสระแก้ว จำกัด ในจังหวัดสระแก้ว วงเงินลงทุนจำนวน 212.50 ล้านบาท และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ในจังหวัดสมุทรสงคราม กำลังการผลิต 5 MW วงเงินลงทุนอีก 212.50 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้เข้าลงทุนซื้อหุ้นใน บริษัทโรงไฟฟ้าสระยายโสม จำกัด จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม 100% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นเงินลงทุน 110 ล้านบาท ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพจากน้ำเสีย (Biogas) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 4.6 MW ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่กฟภ. ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอีก 277 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 387 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560
ที่ผ่านมาบริษัทได้เข้าลงทุนเพิ่มในบริษัท เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass) ขนาดกำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 12,600,000 หุ้นหรือคิดเป็น 45% ของทุนจดทะเบียน เป็นเงินลงทุนจำนวน 85 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการลงทุนใน เวลล์ โคราช เอ็นเนอร์ยี เพิ่มเป็น 100% จากเดิมที่มีสัดส่วนถือหุ้น 55%
โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ได้ใช้เปลือกไม้ เศษไม้และพืชพลังงาน เป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งได้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ (COD) เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอเปลี่ยนการขายไฟฟ้าจากรูปแบบ Adder ไปเป็น Feed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดอัตราขายไฟฟ้าอยู่ที่ 4.54 บาทต่อหน่วย และโครงการนี้ยังได้รับการส่งเสริมจาก BOI อีกด้วย
ทั้งนี้ แผนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกดังกล่าว จะทำให้ภายใน 3 ปีหรือภายในปี 2561 จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 100 MW จากปัจจุบันที่มีอยู่ 45.3 MW และมีรายได้จากการขายไฟฟ้ามากกว่า 1,200 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น