Q : เบื่อหัวหน้าที่เวลาทำดี เรียกเข้าไปชมในห้อง 2 ต่อ 2 แต่พอทำผิด กลับประณามให้คนทั้งบริษัทรู้ มีวิธีจัดการ กับหัวหน้าแบบนี้บ้างมั้ยคะ
A : จัดการกับหัวหน้า ... คงยากครับ ! เอาเป็นว่า จะอยู่กับหัวหน้าอย่างไร ให้มีความสุขมากขึ้น แบบนี้น่าจะพอเป็นไปได้บ้าง
ผมไม่รู้จักหัวหน้าของคุณ ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร เขาเป็นแบบนี้ กับทุกคนหรือเป็นกับคุณคนเดียว หัวหน้าเป็นคนเปิดกว้างรับฟัง หรือใจคอคับแคบ ฯลฯ
งั้นขอตอบแบบกลางๆ นะครับ
1. หาโอกาสคุยกับหัวหน้าตรงๆ ในขณะที่เขาอารมณ์ดีๆ ว่าเรารู้สึกอย่างไร และอยากให้เขาทำอย่างไรกับเรา เทคนิคการคุยคือ "ตรงๆ แต่อย่าแรง" โดยใช้หลักการพูด ที่สอนกันทั่วไปในหลักสูตรเกี่ยวกับการสื่อสาร ให้มีประสิทธิภาพ เรียกว่าการพูดแบบ AEIOU
A (มาจากคำว่า Assume Positive) หมายความว่า ให้เริ่มต้นพูดด้วยความคิด และความเชื่อเชิงบวกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น หัวหน้าไม่ดีมีเจตนาไม่ดี เช่น "พี่คะ หนูเข้าใจว่า ที่พี่ว่าเพราะอยากให้ปรับปรุงตัว จะได้ไม่ทำผิดซ้ำ"
E (มาจากคำว่า Express Your Feeling) หมายความว่า ให้บอกว่ารู้สึกของเรา ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่พูดตำหนิผู้อื่น เช่น "การที่พี่ว่าหนูต่อหน้าคนอื่น ทำให้หนูรู้สึกอาย และเสียหน้ากับเพื่อนๆ"
I (มาจากคำว่า Identify What You Want to Get) หมายความว่า ให้บอกตรงๆ ว่าสิ่งที่อยากได้คืออะไร เช่น "คราวหน้าถ้าหนูทำผิดอีก อยากให้พี่เรียกหนูมาว่า หรือตำหนิเป็นการส่วนตัว"
O (มาจากคำว่า Outcome and Benefits) หมายความว่า ให้บอกผลที่จะได้รับ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นให้ชัดเจน เช่น "หนูจะได้เปิดใจรับฟังพี่มากขึ้น และพี่ก็อาจช่วยสอนหนูได้เพิ่มเติมด้วย เพื่อจะไม่ทำให้เกิดความผิดพลาด ซ้ำอีกในภายหลัง"
U (มาจากคำว่า Understanding Check) หมายความว่า เมื่อพูดจบให้เช็คความเข้าใจของคู่สนทนาด้วยว่า เขาคิดเห็นอย่างไร กับสิ่งที่ได้พูดไป เช่น "ไม่ทราบ พี่คิดว่ายังไงบ้างคะ"
2. สาเหตุที่ถูกว่า หรือถูกตำหนิ มาจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ดังนั้นน่าจะหาทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ด้วยการเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น ตรวจสอบควาเข้าใจ ให้ถูกต้องทันที ที่ได้รับมอบหมายงาน หากไม่รู้ หรือไม่เข้าใจ ให้สอบถาม อย่าคาดเดาเอาเอง เป็นต้น หากทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความผิดพลาดลดน้อยลง โอกาสจะถูกว่า หรือตำหนิต่อหน้าคนอื่น ก็ลดน้อยลงไปด้วย นับว่าเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเลยทีเดียว
3. หัวหน้าแต่ละคน มีสไตล์การบริหารลูกน้อง ที่ไม่เหมือนกัน หากพยายามทุกอย่างแล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ให้มองข้ามวิธีการพูด และคำพูดของเขาไปซะ สนใจ และให้ความสำคัญกับเจตนาดีที่มีต่อเรา เท่านั้นพอ
ลองดูครับ เหมือนพูดง่ายทำยาก ... แต่ไม่ลอง ไม่รู้ ใหม่ๆ อาจยาก ทำไปๆ ง่ายเอง !
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
apiwut.p@slingshot.co.th