@ เผยโอกาสทองแจ้งเกิดสินค้ารักษ์โลก
@ Universal Design ตอบโจทย์ทุกคนใช้ชีวิตง่ายขึ้น
@ แนะเร่งพัฒนาสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการของทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย
ย้อนอดีตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงเรื่องประหยัดพลังงาน เรื่องรักษ์โลก ผู้บริโภคจะไม่สนใจ ไม่เชื่อ ไม่เลือกใช้ แต่ในช่วงนี้กระแสรักษ์โลกที่มาแรง ทำให้บริษัทรับสร้างบ้านไม่ต้องพูดถึงข้อดีของการพักอาศัยในบ้านเย็นให้ผู้บริโภคเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เพราะเจ้าของบ้านจะถามหาและเลือกใช้วัสดุเอง เช่น เลือกใช้วัสดุที่ช่วยให้บ้านไม่ร้อน ใช้กระจกกันแสง รวมถึงเลือกใช้เครื่องไฟฟ้าที่ได้ฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 ทำให้บริษัทรับสร้างบ้านหันมาออกแบบบ้านแบบประหยัดพลังงานมากขึ้น
ศิริพร สิงหรัญ รองเลขาธิการ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และสถาปนิก บริษัท ลีอาคีเทค จำกัด ให้สัมภาษณ์ว่า แนวโน้มความต้องการที่พักอาศัยประหยัดพลังงานมีมากขึ้น ซึ่งเพราะกระแสรักษ์โลกมาแรง ประกอบกับราคาวัสดุอุปกรณ์มีราคาถูกลง ส่งผลให้ผู้บริโภคสนใจเลือกก่อสร้างบ้านแบบประหยัดพลังงาน แม้ว่าการก่อสร้างจะมีราคาสูงกว่าบ้านปกติก็ตาม แต่ปัจจุบันราคาลดลงมาก และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก รวมถึงผู้บริโภคจำนวนมากยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ทำให้ความต้องบ้านแบบดังกล่าวขยายตัวมากขึ้น
นอกจากความต้องการบ้านประหยัดพลังงานแล้ว ยังต้องการบ้านที่ออกแบบสำหรับทุกคน ทุกวัยด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการออกแบบจะตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค ตามลักษณะครอบครัวที่ขยายในแนวดิ่ง คือ จะมีทั้งรุ่นคุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ และลูกๆ พักอาศัยในบ้านหลังเดียวกัน แต่จะอยู่กันคนละชั้น ซึ่งห้องผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องพักอาศัยชั้นล่างเสมอไป เพราะสามารถติดลิฟท์ภายในบ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถขึ้นลงได้สะดวก
"เทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สามารถติดลิฟท์ภายในบ้าน เพราะลิฟท์มีราคาถูกลง ทำให้เจ้าของบ้านตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ บางครอบครัวอาจจะออกแบบให้ห้องชั้นล่างเป็นห้องสันทนาการที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนลักษณะสำหรับผู้สูงอายุได้ทันที หากคนในครอบครัวก้าวเข้าสู่ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สามารถที่จะเดินขึ้นลงได้สะดวก"ศิริพร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทรับสร้างบ้านควรปรับตัวด้วยการออกแบบบ้านภายใตัคอนเซ็ปต์รักษ์โลก เลือกใช้วัสดุที่ทำให้บ้านเย็นลง ซึ่งอาจจะใช้ฉนวนกันความร้อน กระจกกันร้อน รวมถึงออกแบบให้บ้านมีลมพัดผ่านเข้าบ้าน ลดความร้อนเข้าสู่อาคาร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
ขณะที่ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรเกือบทุกรายหันมาใช้คุณสมบัติดังกล่าวมาเป็นจุดขายเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากทำเลที่ตั้ง แบบบ้าน และราคา เช่น บริษัท ศุภาลัย บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ บริษัท เอสซี แอสเสท รวมถึง SCG HEIMเป็นบ้านสำเร็จรูปพร้อมระบบเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปภายในบ้านจากญี่ปุ่น ที่ทาง SCG นำเข้ามาในประเทศไทย สร้างด้วยระบบ Modular System ผลิตในโรงงานและยกมาประกอบในเนื้อที่ มีทั้งแบบบ้านสั่งสร้าง และขายในโครงการ เช่น Perfect Masterpiece โดยจะสร้างตามแบบและระบบที่ออกแบบมาอย่างดี เพื่อให้อยู่อาศัยสบาย ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน HEIM
ด้านซาโตชิ นาคากาว่า นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และผู้ก่อตั้งบริษัท ไตรพอด ดีไซน์ (ประเทศญี่ปุ่น) ผู้ริเริ่มและส่งเสริมแนวคิด Universal Design หรือ การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม ให้เป็นที่แพร่หลายในทวีปเอเชีย กล่าวว่า การออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม (Universal Design หรือ UD) คือการออกแบบผลิตภัณฑ์รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เอื้อให้ทุกคน ทุกกลุ่มสามารถใช้ได้อย่างเสมอภาคกัน โดยที่ไม่ต้องปรับแต่ง ดัดแปลง หรือออกแบบใหม่เป็นพิเศษ แนวคิดของงานออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม ทำให้มั่นใจได้ว่า ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายต่างๆ รวมถึง สตรีมีครรภ์ ก็สามารถใช้สิ่งของต่างๆ และดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น
"เบื้องหลังของงานออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม คือ ถ้าคุณออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้คนอย่างแท้จริง ก็จะไม่ต้องปรับแต่งหรือดัดแปลงงานออกแบบนั้นในภายหลังเลย งานออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคมจะทำให้ผู้คนที่กำลังประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้มีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ลดการพึ่งพาคนอื่น และมีโอกาสที่จะทำตามความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งแนวคิดด้านการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคมมีความสำคัญยิ่งกับการเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุของไทยกำลังจะมาถึง"นาคากาว่า กล่าว
จากข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์ พบว่า ปัจจุบันประชากรสูงอายุของไทยมีจำนวนกว่า 8 ล้านคนแล้ว นับเป็น 13% ของประชากรทั้งหมด และในอนาคตอีก 20 กว่าปีข้างหน้า หรือ ในปี 2583 มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรสูงอายุของไทยจะมีมากถึง 17 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ
ขณะที่สันติ ศรีวิชาญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.ไอ.ที. จำกัด กล่าวว่า คูโดสผู้ผลิตอุปกรณ์ในห้องน้ำในประเทศไทย มีนโยบายที่จะพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของผู้ผลิตและอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบรับความต้องการของผู้สูงวัย รวมไปถึงเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายต่างๆ ด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรเป็นโอกาสในการขยายตลาด กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการให้ครอบคลุมถึงคนเหล่านี้ด้วย
หลักการออกแบบเพื่อทุกคนทุกสภาพ(UD)
· ความเสมอภาคเพื่อให้ทุกคนเข้าถึง (Equitable Use) งานออกแบบนั้นจะไม่กีดกันคน ไม่ว่ากลุ่มใดๆ ออกจากการใช้งาน
· ความยืดหยุ่น (Flexibility in Use) งานออกแบบนั้นตอบสนองต่อความสามารถและความถนัดในการใช้งานที่หลากหลายน
· ความเรียบง่าย (Simple and Intuitive Use) ผู้ใช้สามารถเข้าใจการใช้งานสิ่งนั้นๆ ได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ความรู้ หรือทักษะทางภาษาขั้นสูง
· การรับรู้ข้อมูลแบบมีทางเลือก (Perceptible Information) งานออกแบบนั้นให้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นแก่ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำกัดว่าสภาวะแวดล้อม หรือประสาทสัมผัสในการรับรู้ของผู้ใช้งานเป็นอย่างไร
· สามารถทนต่อการใช้งานที่ผิดพลาด (Tolerance for Error) งานออกแบบนั้นได้เตรียมพร้อมลดความอันตรายหรือลดผลกระทบจากการใช้งาน ในกรณีที่เกิดความผิดพลาด อุบัติเหตุ หรือการกระทำที่ไม่คาดคิด
· ใช้แรงน้อยและไม่เกิดภาระในการใช้งาน (Low Physical Effort) ผู้ใช้สามารถใช้งานสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสะดวกสบายและไม่เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
· ขนาดและพื้นที่ที่จะให้เราเข้าไปใช้งานได้อย่างเหมาะสม (Size and Space for Approach and Use) งานออกแบบนั้นมีขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการใช้งานและการจัดการ ไม่ว่าขนาดตัว บุคลิกภาพ ท่าทาง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของผู้ใช้จะเป็นอย่างไร