มจธ.เดินหน้าคัดเลือกสตาร์ทอัพ สายเลือดไทย สู่เวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพระดับโลก ทีมพัฒนาหุ่นยนต์ช่วยพัฒนาการเด็กออทิสติกจาก มจธ. ทำผลงานชนะ pitching ในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ เป็นตัวแทนเด็กไทยเข้าร่วมแข่งขันเวที VT Knowledge Works ที่สหรัฐอเมริกา
ในงานสตาร์ตอัพไทยแลนด์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับโอกาสจากคณะผู้จัดงาน ให้ยกเวที pitching สำหรับเข้าร่วม Hatch Startup Program 2016 มาไว้ภายในงาน โดยในปีนี้ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือก 11 ทีมมานำเสนอผลงานในรูปแบบ pitching เพื่อเฟ้นหาทีมที่ดีที่สุดเพียง 1 ทีมที่จะได้รับโอกาสไปแข่งขัน VT Knowledge Works ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผศ.ดร.ทิพวรรณ ปิ่นวนิชย์กุล รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า การจัดแข่งขัน idea pitching ปีนี้เป็นปีที่ 4 ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มจธ. สามารถส่งเสริมให้นักศึกษาออกไปตั้งเป็นบริษัทได้แล้ว 7 บริษัท โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและการตลาด รวมถึงการช่วยหาพาร์ทเนอร์ในการร่วมลงทุน โครงการนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการเรียนการสอนของ มจธ.ได้เปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นการนำทักษะและความรู้มาประยุกต์ใช้จริง ไม่ใช่แค่มุ่งให้เรียนในตำรา และได้ใบปริญญาออกไปเท่านั้น
“วันนี้หัวใจสำคัญ คือ เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วจะต้องทำงานเป็น มจธ. มีความมุ่งมั่นว่านักศึกษาทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝังให้มีหัวใจเป็นผู้ประกอบการ มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ มองเห็นสิ่งใหม่ๆ มี passion ที่จะให้งานวิจัยของตนได้นำไปใช้จริง เป็นสินค้าออกสู่ตลาด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการบ่มเพาะธุรกิจให้กับนักศึกษาได้ เห็นการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อพัฒนาโปรดักส์ของตัวเอง วันนี้มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่ได้มีส่วนช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า”
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เปิดเผยว่า Hatch Startup Program 2016 เป็นโปรแกรมบ่มเพาะ Startup แบบเข้มข้นที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่มีชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) พร้อมไอเดียในการต่อยอดเป็นธุรกิจ สามารถเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Journey) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยได้คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบ Final Pitch จำนวน 11 ทีม มา pitching ในรอบสุดท้ายในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ซึ่งแต่ละทีมได้มีการนำเสนอไอเดียนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น iNoid - platform และ wearable สำหรับผู้สูงอายุ, Yortz - แอพพลิเคชั่น carpool สำหรับการใช้งานแท็กซี่, Cripple Fix - wheelchair อัจฉริยะที่ช่วยให้สุนัขพิการสามารถเดินและลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง, zbear - สื่อการเรียนรู้ด้วย augment reality และ smart question engine, COCO - แพลตฟอร์มวิเคราะห์การใช้งานโซเชียลมีเดียในที่ทำงาน, BotTherapist หุ่นยนต์เสริมพัฒนาการสำหรับเด็กออทิสติก, Penfriend - ตุ๊กตาอัจฉริยะที่สามารถตอบโต้กับเด็กได้ผ่านเสียงและภาพ, Wordbox - ของเล่นไม้ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่รวมระบบ analog และ digital เข้าด้วยกัน, Insaphere - project management tool ที่ออกแบบมาให้เอื้อกับการทำงานของ freelance, KipTRAK - อุปกรณ์ติดตามตัวแบบ indoor ป้องกันปัญหาเด็กหาย และ Foodo - เครื่องพิมพ์อาหารสามมิติสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปในครัวเรือน
ทั้งนี้ ภายหลังการ pitching ครบทั้ง 11 ทีม กรรมการทั้ง 5 ท่าน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้าน startup จากสาขาต่างๆ ได้แก่ คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้ง Wecosystem, อาจารย์นิกม์ พิศลยบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา Sasin Entrepreneurship Center (SEC), คุณอัครา อุดมศิลป์ ที่ปรึกษาและนักลงทุนอิสระ, อาจารย์อภิทาน ลี รองผู้อำนวยการ Research and Design Service Center KMUTT (REDEX) และ ดร.สารินทร์ ภูมิรัตน ผู้ร่วมก่อตั้ง startup EpiBone จากสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินให้ทีม “BotTherapist” หุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาควบคู่กับการเรียนรู้ด้านอารมณ์สำหรับเด็กออทิสติก เป็นทีมที่ได้คะแนนสูงสุด และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม pitching ในเวทีระดับโลก VT Knowledge Entrepreneurship Challenge ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคม 2559 นี้
รศ.ดร.ธีรณี เปิดเผยว่า VT Knowledge Entrepreneurship Challenge ก่อตั้งในปี 2553 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย เวทีดังกล่าวมีทีมเข้าร่วมแข่งขันจากประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา แคนาดา ออสเตรีย เม็กซิโก คิวบา อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ซึ่งที่มาผ่านมีเพียงประเทศอินโดนีเซียเท่านั้นจากภูมิภาคเอเชียที่เคยเข้าร่วม อย่างไรก็ดี ในปี 2558 เป็นปีแรกที่ประเทศไทย นำโดยมจธ. ได้รับการทาบทามให้ส่งผลงานเข้าร่วม และครั้งนั้น ทีม “Visionear” นักศึกษาปริญญาตรี มจธ. ได้นำผลงานอุปกรณ์สวมใส่เพื่อช่วยในการมองเห็นสำหรับผู้พิการทางสายตา คว้ารางวัลชนะเลิศในเวที VT Knowledge entrepreneurship มาครอง รับเงินรางวัลเฉียดล้านบาท
“สำหรับปีนี้ ทีมชนะเลิศ “BotTherapist” ซึ่งเป็นทีมลูกผสมระหว่างนักศึกษามจธ.จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และภาควิชาวิศวคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จะได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขันจากมหาวิทยาลัย และจะเข้าร่วมการเตรียมการเพื่อพัฒนาผลงานก่อนถึงวันแข่งขันจริงในช่วงเดือนสิงหาคม ขณะที่ทีมอื่นๆ จะได้เข้าร่วมบ่มเพาะใน Hatch Startup Program เพื่อเริ่มต้นสู่เส้นทางการเป็นผู้ประกอบการต่อไป”
หุ่นยนต์ BotTherapist เป็นหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ด้านสติปัญญาควบคู่กับการเรียนรู้ด้านอารมณ์ให้กับเด็กออทิสติก หรือแม้แต่เด็กทั่วไป โดยหุ่นยนต์นี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งด้านลักษณะอารมณ์ และการควบคุมตนเองผ่านปฏิกิริยาของหุ่นระหว่างการเล่นเกมส์ต่างๆ โดยเกมส์นี้สามารถเล่นร่วมกันได้มากกว่า 1 คน ซึ่งจะเป็นการสอดแทรกให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย