ในที่สุดก็ถึงวันนี้ วันที่ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วโลกคงที่ไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า สถิติล่าสุดจากบริษัทวิจัยไอดีซี (IDC) พบว่า เหล่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนโลกจัดส่งสินค้าไปจำหน่ายช่วงไตรมาสแรกของปี 2016 ทั้งหมด 334.9 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วนเติบโตเพียง 0.2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับปี 2015
อัตราเติบโตต่ำที่สุดที่บันทึกได้นี้สะท้อนว่า ยุคทองของโลกสมาร์ทโฟนอาจกำลังสิ้นสุดลง แอปเปิล (Apple) ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นตัวแม่ยังส่อแววแย่เพราะยอดขายไอโฟน (iPhone) ลดลงถึง 16% ในไตรมาสที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข่าวดังทั่วโลก เพราะนี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ไอโฟนถูกเปิดตัวในปี 2007
แม้จะมีเหตุผลมากมายอธิบายว่า ทำไมหนอตลาดสมาร์ทโฟนจึงนิ่งสนิทเพียงนี้ แต่เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกคนที่อยากมีสมาร์ทโฟนนั้นหาซื้อมาในครอบครองสำเร็จแล้ว และสมาร์ทโฟนที่มีในมือนั้นมีคุณภาพดีจนยังไม่อยากซื้อหามาเพิ่ม หรือเปลี่ยนใหม่บ่อยนัก แน่นอนว่าผู้ผลิตต่างรู้สถานะนี้ และพยายามต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้สามารถขยายธุรกิจได้ในภาวะที่ยากลำบาก
แต่ผลคือ ผู้ผลิตบางรายพ่ายแพ้ท่ามกลางบางรายที่ได้รับชัยชนะ โดยแบรนด์อันดับ 4 และ 5 ในปีที่แล้ว อย่างเสี่ยวหมี่ (Xiaomi) และเลอโนโว (Lenovo) ทำยอดขายได้น้อยจนไม่ติดอันดับ 5 แบรนด์สูงสุด ขณะที่แบรนด์จีนอย่างออปโป้ (Oppo) และวีโว่ (Vivo) สามารถแทรกตัวเป็นน้องใหม่ในตารางได้อย่างน่าสนใจ
***ซัมซุงยังอยู่
ไม่ว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป แต่แบรนด์อันดับ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนยังเป็นซัมซุง (Samsung) ซึ่งมียอดจำหน่าย และส่วนแบ่งตลาดเทียบเท่าปีก่อนหน้า นำโด่งเมื่อเทียบกับอันดับ 2 คือ แอปเปิล (Apple) ที่ยอดจำหน่ายหายไปนับ 10 ล้านเครื่อง
ซัมซุง สามารถขายสมาร์ทโฟนมากกว่า 81.9 ล้านเครื่องในช่วง 3 เดือนต้นปี ตัวเลขนี้ถือว่าโดดเด่นมากเมื่อคำนวณแล้วพบว่า ซัมซุงสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้มากกว่ายอดจำหน่ายของแบรนด์อันดับ 2 และ 3 รวมกัน นั่นคือ แอปเปิล และหัวเว่ย (Huawei)
เคล็ดลับความสำเร็จของซัมซุงถูกมองว่าเป็นเพราะการเสนอสินค้าทางเลือกที่หลากหลายรุ่น ทั้งรุ่นราคาประหยัด ถึงรุ่นราคาแพงซูเปอร์พรีเมียม จุดนี้ทำให้ซัมซุงสามารถเข้าได้หมดทั้งตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต และตลาดที่มีอยู่แล้ว เช่น สมาร์ทโฟนรุ่น Galaxy S7 และ S7 Edge ที่สามารถทำยอดขาย “ถล่มทลาย” ในเดือนมีนาคม ขณะที่รุ่นซีรีส์ J ดึงดูดผู้ใช้กลุ่มเน้นงบประมาณ และกลุ่มผู้ใช้เครื่องแรก
ความสำเร็จนี้ทำให้แอปเปิลหันมาใช้นโยบายเดียวกัน ด้วยการเปิดตัวไอโฟนรุ่นเล็กกว่าในราคาต่ำลงอย่าง iPhone SE โดยจับคุณสมบัติเครื่องที่มีใน iPhone 6S รุ่นปัจจุบันมารวมไว้ในตัวเครื่องขนาด iPhone 5s บนความหวังว่าจะเข้าถึงตลาดกลางได้ดีขึ้น แน่นอนว่า ทุกคนจะได้รู้ว่าแผนนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่เมื่อแอปเปิลประกาศผลประกอบการไตรมาสหน้า
สำหรับไตรมาสที่ผ่านมา ยอดจำหน่ายไอโฟนนั้นลดลงจาก 61.2 ล้านเครื่อง เหลือ 51.2 ล้านเครื่อง ลดลงถึง 16.3% ครองส่วนแบ่งตลาด 15.3%
***“จีน” เกินคาดเดา
ในขณะที่ไอดีซีรายงานว่า แบรนด์อันดับ 3 ของโลกสมาร์ทโฟนล่าสุดคือ หัวเว่ย (สถิติยอดขาย 27.5 ล้านเครื่อง เติบโต 58.4% ครองส่วนแบ่งตลาด 8.2%) แบรนด์ที่โลกไม่ค่อยรู้จักอย่างออปโป้อิเล็กทรอนิกส์ และวีโว่ กลับครองอันดับที่ 4 และ 5 ของตารางได้แทนเลอโนโว และเสี่ยวหมี่
ภาวะ “แปลกใหม่” นี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากจีนคือ ตลาดสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อัตราการเติบโตในตลาดจีนจึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมสมาร์ทโฟนอย่างชัดเจน แม้รายงานจากไอดีซีจะชี้ว่า ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนในจีนมีอัตราเติบโตเพียง 2.5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอัตราเติบโต 62.5% ที่เคยบันทึกได้เมื่อปี 2013
เรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงแรกทุกคนคาดว่า ผู้บริโภคจีนต้องการสมาร์ทโฟนราคาประหยัด และเป็นแอนดรอยด์โฟนที่ชาวจีนด้วยกันพัฒนาขึ้นเองในประเทศ คุณสมบัติทั้งหมดนี้ตรงกับที่เสี่ยวหมี่เป็น จนทำให้เสี่ยวหมี่กลายเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในจีนอยู่ช่วงหนึ่ง
เวลานั้น แอปเปิลตัดสินใจส่ง iPhone 5c รุ่นราคาประหยัดไปเฉือนเค้กส่วนแบ่งตลาดจีน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มาตรฐานของคนจีนสูงขึ้น เรียกว่าคนจีนไม่ได้ต้องการสินค้าราคาถูกเท่านั้น เห็นได้จากราคาจำหน่ายสมาร์ทโฟนเฉลี่ยในจีนช่วงปีที่แล้วเพิ่มขึ้นจาก 207 เหรียญสหรัฐ ในปี 2013 มาเป็น 257 เหรียญ
นี่เองอาจเป็นที่มาของความสำเร็จของหัวเว่ย ออปโป้ และวีโว่ ซึ่งจำหน่ายสมาร์ทโฟนในระดับราคา 250 เหรียญขึ้นไป อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาวุโสไอดีซี “เมลิสสา ชาว” (Melissa Chau) เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ได้การันตีว่าตลาดจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต โดยเฉพาะการรักษาส่วนแบ่งตลาดที่แบรนด์จีนมักทำได้ยาก
เรียกว่าขึ้นเร็ว ลงเร็ว เกินคาดเดา
***ไอโฟนขายน้อยลง ทำแอปเปิลรายรับหด
ปลายเดือนเมษายน แอปเปิลประกาศตัวเลขยอดขายไอโฟนขาลงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ส่งให้ยอดรายรับรวมของแอปเปิลลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยหุ้นแอปเปิลร่วงลงทันที 8% ทำให้มูลค่าหุ้นแอปเปิลต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ตลอด 3 เดือนต้นปีนี้ แอปเปิลระบุว่า สามารถจำหน่ายไอโฟนได้มากกว่า 51.2 ล้านเครื่อง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ถือว่าสูงกว่านักวิเคราะห์ที่พยากรณ์ว่า แอปเปิลจะจำหน่ายไอโฟนได้ 50 ล้านเครื่องเท่านั้น
เหตุที่ทำให้นักวิเคราะห์รู้อยู่แล้วว่า ไอโฟนจะจำหน่ายไอโฟนได้น้อยลงเป็นเพราะยอดขายของไอโฟนหน้าจอยักษ์ที่ทำเงินให้แอปเปิลถล่มทลาย เรื่องนี้ ลูคา เมสตริ (Luca Maestri) ประธานฝ่ายการเงินของแอปเปิลให้สัมภาษณ์ว่า iPhone 6 คือ ไอโฟนรุ่นขายดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งให้เป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบยอดขายไอโฟนรุ่นอื่นกับไอโฟนรุ่นนี้
สรุปแล้ว แอปเปิลมีกำไรเฉลี่ย 1.90 เหรียญต่อหุ้นในไตรมาสที่ผ่านมา บนรายรับรวม 5.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทำได้ 2 เหรียญต่อหุ้น บนรายได้รวม 5.19 หมื่นล้านเหรียญ โดยรายรับรวม 5.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนี้น้อยกว่าที่เคยทำได้ 5.8 หมื่นล้านเหรียญในปีที่แล้ว
เท่ากับเม็ดเงินจากยอดขายรวมทั่วโลกที่แอปเปิลได้รับนั้นลดลง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบจากปี 2015 ตัวเลขนี้คิดเป็นสัดส่วนลดลง 26% ในจีน และลดลง 10% ในสหรัฐอเมริกา
*** ซัมซุงกำไรพุ่ง GalaxyS7พระเอกตัวจริง
ในการประกาศผลกำไรช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซัมซุง ระบุว่า สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากความร้อนแรงของยอดจำหน่าย Galaxy S7 และ S7 Edge
ก่อนหน้านี้ ซัมซุงแสดงความไม่มั่นใจด้วยการคาดว่า บริษัทจะทำกำไรได้ 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ตัวเลขกำไรที่แท้จริงกลับสูงถึง 5.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ บนยอดขายรวม 4.48 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
เฉพาะกลุ่มธุรกิจสมาร์ทโฟน ซัมซุง ระบุว่า มีกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 42% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว เรียกว่าธุรกิจโทรศัพท์มือถือของซัมซุงไม่เคยทำกำไรเท่านี้นับตั้งแต่ปี 2014 หรือช่วง 9 ไตรมาสที่ผ่านมา
น่าเสียดายที่ซัมซุงไม่เปิดเผยรายละเอียดยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟน ระบุเพียงว่า สมาร์ทโฟนรุ่นกลาง และเล็กอย่าง Galaxy S หรือ Galaxy J รวมถึง Galaxy A จะทำเงินให้ซัมซุงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปีนี้ เช่นเดียวกับสินค้าอื่นอย่างแท็บเล็ต และสินค้าสวมใส่ได้ (wearable) ที่จะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 90 ล้านชิ้น