รอยเตอร์/MGRออนไลน์ – มนุษย์เงินเดือนในภาคการผลิตร่วม 137 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 56% จากไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย อยู่ในความเสี่ยงสูงที่จะตกงานในอีก 20 ปีข้างหน้า หลังจากการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization)หรือ ILO ของสหประชาชาติ ชี้ว่า ตำแหน่งงานเหล่านี้จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร และหุ่นยนต์ กระทบหนักสุดในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนไทยพบพนักงานเงินเดือนกว่า 70%ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนรถได้รับผลกระทบ
รอยเตอร์รายงานวันนี้(7 ก.ค)เดโบราห์ ฟรานซ-มัสซิน(Deborah France-Massin) ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization)หรือ ILO ตัวแทนแรงงานทรัพยากรมนุษย์สากลให้ความเห็นว่า “ประเทศที่ต้องอยู่ด้วยการแข่งขันในภาพแรงงานค่าแรงต่ำจำเป็นต้องปรับตัว” ซึ่งจากการศึกษาของ ILO ล่าสุดชี้ว่า พนักงานเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการอบรมเพื่อสามารถที่จะทำงานร่วมกับเครื่องจักรระบบดิจิตอลและหุ่นยนต์ได้
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีประชากรกว่า 630 ล้านคน และเป็นฮับของภาคอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ซึ่งรวมไปถึง อุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตรถ และฮาร์ดดิสค์คอมพิวเตอร์
และนอกจากนี้จากทั้งหมด 9 ล้านคนที่ทำงานในภาคการผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า การวิจัยพบว่า 64% ของแรงงานอินโดเซียเสี่ยงที่จะต้องเสียงานให้กับการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาแทนที่ และสูงถึง 86% ในเวียดนาม และสูงที่สุด 88% ในกัมพูชา
รอยเตอร์รายงานว่า ฐานการผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชาที่ได้รับออร์เดอร์มาจากลูกค้าต่างชาติเช่น อาดิดาส มาร์กแอนด์สเปนเซอร์ รวมไปถึงวอลมาร์ต มีแรงงานการผลิตราว 600,000 คน
ในขณะที่ประเทศที่มีรั้วติดกันเช่นเวียดนาม ได้เห็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรองเท้าและสิ่งทอของประเทศด้วยอานิสงค์ของข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกับตลาดหลัก ที่รวมไปถึงข้อตกลง TPP ของสหรัฐฯ โดยพบว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกไปยังตลาดสหรัฐฯ รองลงมาจากจีน
ทั้งนี้หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติด้านแรงงานกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวมไปถึง เครื่องพิมพ์แบบ 3 มิติ อุปกรณ์ไฮเทคที่สวมใส่ได้ (wearable technology) นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคการผลิต และกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ในภาคนี้ “หุ่นยนต์จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกลง และสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้” รายงานของ ILO ชี้
และในรายงานวิจัยฉบับนี้ยังชี้ต่อว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า เป็นภาคการผลิตที่เสี่ยงต่อการเข้ามาแทนที่ของจักรกลมากที่สุดจากใน 5 ภาคการผลิต ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกและไฟฟ้า อุตสาหกรรมกิจการธุรกิจรับจ้างบริหารระบบธุรกิจ BPO (เช่น ธุรกิจ Call Center เป็นต้น)และอุตสาหกรรมค้าปลีก
ทั้งนี้ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน พบว่าพนักงานเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 60% ของภาคอุตสาหกรรมนี้ในอินโดนีเซียมีความเสี่ยงที่ต้องตกงาน และในส่วนของไทย รายงานของยูเอ็นชี้ว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยพบว่าพนักงานเงินเดือนกว่า 70% มีความเสี่ยงต้องตกงาน
รอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกในปี 2015 และมีแรงงานการผลิตในภาคนี้ไม่ต่ำกว่า 800,000 คน
สำหรับไทยถือว่าเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์การผลิตรถยนต์และส่งออกรถติดอันดับโลก ซึ่งพบว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศ และมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของแรงงานทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้การใช้หุ่นยนต์ทในภาคการผลิตยานต์ยนต์ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งในศตวรรษนี้ เป็นต้นว่าโรงงานของบริษัทเทสลา(Tesla)ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯเลือกใช้หุ่นยนต์( robotic automation)ในการผลิตรถ เป็นต้นว่า รถรุ่นซีดานที่หรูหราโมเดล S ที่มีราคาเริ่มต้นก่อนภาษีอยู่ที่ 57,400 ดอลลาร์นั้นถูกผลิตในโรงงานในฟรีมองต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจากเว็บไซต์ด้านยานยนต์ คาร์แอนด์ไดรเวอร์ ในเดือนตุลาคม 2011 พบว่า โรงงานแห่งใหม่ของเทศลา อดีตโรงงานนิวยูไนเตดมอเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อิงค์(New United Motor Manufacturing, Inc.) หรือ(NUMMI) เป็นโรงงานสำหรับการผลิตรุ่นอิเล็กทริกคาร์โมเดล s ในช่วงเริ่มต้นของสายการผลิต ทางเทสลาใช้พนักงานแค่ 100 คนเท่านั้น และอีก 300–350 คนในส่วนของงานการเชื่อม การติดชิ้นส่วนโครงรถยูนิบอดีที่เป็นอลูมิเนียมเข้าด้วยกัน