มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เดินหน้าผลักดันเรื่องสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว โดยมีการตั้งศูนย์ hatch ขึ้นมาเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและโปรเจ็คของนักศึกษาสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เผยทำมาแล้ว 3 ปี จดทะเบียนบริษัทไปแล้วกว่า 5 บริษัท
รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในการเปิดศูนย์hatch อย่างเป็นทางการ ณ Science Learning Space อาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ มจธ. ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มจธ.มีความชัดเจนมากในการดำเนินการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของท่านอธิการที่มุ่งเป้าจะผลักดันให้นักศึกษาอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,800 คนในแต่ละปี ได้มีการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักศึกษาอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย (KMUTT Student Entrepreneurship Program) ขึ้นในปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่นักศึกษา ควบคู่ไปกับการผลักดันผลงานนวัตกรรมและงานวิจัยต่างๆของนักศึกษาให้มีการเชื่อมต่อสู่ตลาดผู้ใช้จริง ซึ่งที่ผ่านมา จะเน้นรูปแบบของการจัดให้มีการประกวด startup pitching ขึ้นทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดสู่นักลงทุน
รศ.ดร.ธีรณี กล่าวอีกว่า มจธ.นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากที่มีศักยภาพในการนำมาผลักดันต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้กับสังคมประเทศชาติได้ ดังนั้น ในช่วงสามปีที่ผ่านมา มจธ.จึงมีการทำงานอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาทักษะและบ่มเพาะผู้ประกอบการระดับนักศึกษาและบุคลากร โดยมีทีมที่ผ่านการบ่มเพาะไปแล้วกว่า 23 ทีม และมีทีมที่จดบริษัทไปแล้ว และอยู่ระหว่างการรอจดทะเบียนอีกกว่า 7 บริษัท โดยในปี 2559 นี้ มหาวิทยาลัยจะผลักดันให้เกิดการเดินหน้าเรื่องการส่งเสริมผู้ประกอบการใน มจธ.อย่างเต็มที่ อันเป็นที่มาของการเปิดตัว “ศูนย์ hatch” ซึ่งมีการจ้างทีมปฏิบัติงานจากภายนอกที่มีประสบการณ์เข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มตัว
โดย hatch ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่แบบครบวงจร จึงมีการออกแบบโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นในระดับไอเดียและกลุ่มที่พร้อมจะพัฒนาเป็นธุรกิจ ในปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินการอย่างเต็มตัวของ hatch นักศึกษาจะได้พบกับกิจกรรมและการให้บริการด้านการพัฒนาผู้ประกอบการต่างๆ มากมาย อาทิเช่น กิจกรรม hatch meetup ที่จะเป็นการแนะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบการในมุมที่หลากหลาย ผ่านการชวนผู้ประกอบการหรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละโจทย์มาพูดคุยแลกเปลี่ยนในบรรยากาศสบายๆ, กิจกรรม co-creation lab ซึ่งจะมีการตั้งโจทย์ร่วมกับ partner ของมหาวิทยาลัย เพื่อชวนกันมาร่วมคิดค้นนวัตกรรมเพื่อมารับมือความท้าทายในประเด็นต่างๆ รวมถึงไฮไลต์ของปีนี้ คือ การเปิดตัว hatch startup bootcamp 2016 ซึ่งเป็นโปรแกรมบ่มเพาะเข้มข้น 4 เดือนสำหรับนักศึกษาที่พร้อมเดินหน้าสู่การเป็น startup
โดยในโปรแกรมดังกล่าว นักศึกษาจะได้สิทธิ์ในการได้รับเงินทุนสนับสนุนตั้งต้นจากมหาวิทยาลัย ได้รับคำแนะนำจากทีมเมนเทอร์ โค้ช และวิทยากรที่มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้จากผู้ประกอบการตัวจริงผ่าน hatch workshop series รวมถึงได้รับโอกาสในการระดมทุนจากภายนอกผ่านกิจกรรม demo day ไปจนถึงการเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมเวทีระดับโลกอย่าง VT Knowledge Works ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา