จุฬาฯ เดินหน้าเปิดแนวคิดโครงการ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” มุ่งสืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สร้างสู่ความยั่งยืน เชิญชวนศิษย์เก่าและผู้สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนการก่อสร้างเพื่อเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ให้สังคม
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ ประธานในงานแถลงข่าวโครงการ “อุทยานจุฬาฯ 100 ปี” พร้อมคณาจารย์ร่วมด้วยรองศาสตราจารย์ นาวาเอก นายแพทย์ เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ จามรี อาระยานิมิตสกุล ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายศิลปชัย วัชระ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยเปิดเผยว่า “อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า ๓๐ ไร่ บริเวณจุฬาฯ ซอย ๙ จรดถนนบรรทัดทอง ภายใต้แนวคิด “สืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สรรสร้างสู่ความยั่งยืน”
โครงการฯ จะเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นของขวัญทรงคุณค่าที่จุฬาฯ จะมอบให้แก่สังคมและชุมชน ในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนา ในปี ๒๕๖๐ ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจะเสด็จฯ ทรงปลูกต้นจามจุรี ๖ ต้น และทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการ“อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” ในวันครบรอบ ๙๙ ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๔๕ น.
แนวคิดหลักในการออกแบบ“อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” เพื่อตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนรวม “อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” จะเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการเรียนรู้ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ เชื่อมต่อแนวแกนสีเขียว ตามผังแม่บทของมหาวิทยาลัย มีการปลูกพืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิด ด้วยแนวคิด “ป่าในเมือง”
มีอาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรม พร้อมพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วยห้องเรียนรูปแบบต่างๆ พื้นที่ชุ่มน้ำประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและนันทนาการ จัดสร้างสวนซึมน้ำ และพื้นที่แก้มลิงบริเวณทางเข้าอุทยาน นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนจุฬาฯ ซอย ๕ ให้เป็นถนนสีเขียว ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายตลอดแนวถนน อำนวยความสะดวกแก่คนเดิน เสริมเลนจักรยาน และการสัญจรด้วยรถโดยสารสาธารณะเชื่อมโยงความสุขของชุมชนเข้าสู่ “อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” โดยคาดว่าโครงการฯ จะก่อสร้างสร็จในเดือนมีนาคม 2560
นอกจากโครงการ “อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลองในวาระที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะก้าวเข้าสู่ ๑๐๐ ปีแห่งการสถาปนา ในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๐ รวมทั้งได้จัดทำของที่ระลึกในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปีจุฬาฯ ได้แก่ แสตมป์ ๑๐๐ ปี จุฬาฯ ภาพอาคารหอประชุมจุฬาฯ และแสตมป์ชุด ๒๐ ดวง ภาพอาคารสำคัญ ในจุฬาฯ บัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS Rabbit Card ภาพอาคารหอประชุมจุฬาฯ นอกจากนี้ ยังมีของที่ระลึกอื่นๆ เช่น เนคไท ผ้าพันคอ เสื้อแจ็คเก็ต เสื้อยืด เข็มกลัดประดับเพชร แฟ้มพลาสติก แก้วมัค กระเป๋าสปันบอนด์ พวงกุญแจ พัด Power Bank , Flash Drive ฯลฯ โดยจะวางจำหน่าย ณ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป
ขอเชิญชาวจุฬาฯ และผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบของขวัญอันทรงคุณค่าโครงการ”อุทยานจุฬาฯ ๑๐๐ ปี” แก่ชุมชน เชิญร่วมสมทบเงินทุนจุฬาฯ 100 ปี ภายใต้กองทุนจุฬาลงกรณ์บรมราชสมภพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์พัฒนกิจและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-3359 - 60, 02-218-3370 หรือ www.facebook.com/alumni.cu