หลังจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น จำกัด (มหาชน) ซื้อกิจการของบริษัท เอ็มดับเบิลยูแบรนด์ (MW Brands) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลชั้นนำในยุโรป ภายใต้แบรนด์ John West, Petit Navire, Parmentier และ Mareblu เมื่อปี 2010 ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทียูเอฟกรุ๊ปได้ประกาศแผนการเติบโตของธุรกิจโดยวางนโยบายว่าในปี 2020 บริษัทฯ จะมีรายได้รวม 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อลิซาเบธ ฟลูเรียต ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มแอนด์ดับเบิ้ลยู แบรนด์ (MW Brands) ซึ่งดูแลธุรกิจของทียูเอฟในสหภาพยุโรป กล่าวถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารทะเลในยุโรปของทียูเอฟ เพื่อให้เห็นกระบวนทัพที่แข็งแกร่งอีกส่วนหนึ่งว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 แบรนด์ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในอันดับต้นๆในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป เช่น John West มีส่วนแบ่ง 33.5 เป็นอันดับ 1 ในอังกฤษ รวมทั้ง ไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ , Petit Navire มีส่วนแบ่ง 32% เป็นอันดับ 1 ในฝรั่งเศส , Mareblu มีส่วนแบ่ง 7.4% เป็นอันดับ 2 ในอิตาลี โดยในปี 2014 MW Brands มียอดขาย 646 ล้านยูโร เติบโตจากปีก่อน 6% ขณะที่ภาพรวมตลาดอาหารทะเลกระป๋องของยุโรปมีการเติบโตติดลบเนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว
นอกจากนี้ การซื้อกิจการบริษัทเมอร์อัลไลแอนซ์ (MerAlliance) ผู้ผลิตปลาแซลมอนรมควันชั้นนำของยุโรป และบริษัทคิงออสการ์ (King Oscar) ผู้ผลิตปลาซาร์ดีนระดับพรีเมี่ยม แบรนด์อันดับ 1 ในนอร์เวย์ และส่งออกไปครองตลาดอันดับ 1 ในสหรัฐฯและออสเตรเลีย โดยทั้ง 2 บริษัทจะเข้ามาอยู่ภายใต้ MW Brands ทำให้มียอดขายรวมเพิ่มขึ้น 200 ล้านยูโร แบ่งเป็น MerAlliance 150 ล้านยูโร และ King Oscar 50 ล้านยูโร
ทั้ง 3 บริษัทมีพนักงานรวมกันมากกว่า 7,000 คน มีโรงงานผลิตทั้งหมด 9 แห่ง อยู่ในประเทศต่างๆ ได้แก่ ฝรั่งเศส โปแลนด์ โปรตุเกส กานา สาธารณรัฐเซเชลส์ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย อังกฤษ และนอร์เวย์ มีกองเรือประมงขนาดใหญ่และมีการบริหาร 12 หน่วยธุรกิจ ใน 10 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ไอร์แลนด์ เยอรมนี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และดูไบ
สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายคือ 1,200-1,300 ล้านยูโรหรือ 1 เท่าตัวในปี 2020 หรือ 5 ปี จาก 646 ล้านยูโร มี 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ หนึ่ง- กลยุทธ์การเติบโตด้านการเงินทีดี สอง-กลยุทธ์การเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สาม-กลยุทธ์การสร้างฐานธุรกิจโดยมีแพลทฟอร์มที่ดี สี่-กลยุทธ์การมีบุคลกรเก่งๆ ร่วมงาน และห้า-กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน
โดยต้องสร้างความเป็นผู้นำในเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน การมีผลิตภัณฑ์ที่ดีออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าสนใจและตอบรับอยู่เสมอ ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น การนำเสนอ ส่วนใดของธุรกิจที่มีการเติบโตมากต้องเพิ่มทรัพยากรต่างๆ ทั้งคนและเงินเพื่อให้เติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น สร้างศักยภาพซัพพลายเชนให้ดีที่สุด และเน้นการบูรณาการธุรกิจที่ซื้อมาแล้วให้ลงตัวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคมองว่า MW Brands เป็นสินค้าที่ค่อนข้างดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และส่วนผสมมีความใกล้เคียงกับความเป็นธรรมชาติมาก ขณะที่ไลฟ์สไตล์การบริโภคของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่นวัตกรรมยังทำให้การบริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นอยู่ประจำหรือเป็นการเปิดโลกใหม่ในการบริโภค
การเน้นนวัตกรรมในตัวสินค้า ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงกลับไปที่ไทยยูเนี่ยนจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันของกลยุทธ์ ที่สำคัญมีนวัตกรรมที่พลิกโฉม หรือ breakthrough สำหรับ Petit Navire ที่ฝรั่งเศส ด้วยปลาทูน่าและแซลมอนแบบร้อน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก จากเดิมที่มีแต่แบบเย็นเท่านั้น ทำให้สามารถเจาะเข้าถึงตลาดอาหารเย็นของคนฝรั่งเศสซึ่งรับประทานอาหารแบบร้อน ส่วน John West ที่อังกฤษพยายามใช้ศักยภาพของกลุ่มที่มีอยู่คือนำโปรดักต์ที่มีแพลทฟอร์มคล้ายกันไปเปิดตลาดในหลายๆ ประเทศ เช่น ทูน่าสเปรดรสชาติต่างๆ นอกจากนี้ มีนวัตกรรมพลิกโฉม แป้งสาลีใส่น้ำร้อนแล้วทิ้งไว้ 5 นาที รับประทานกับทูน่าได้ทันที นับว่านวัตกรรมช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมและขยายฐานตลาดในเวลาเดียวกัน
สำหรับคิงออสการ์ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมซาร์ดีนจะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มเราได้มากในการเป็นจุดแข็งจากการมีแหล่งปลา เพราะกลุ่มไทยยูเนี่ยนฯ มีซาร์ดีนเป็นกลุ่มสำคัญแต่ยังไม่มีพรีเมี่ยมซาร์ดีน นอกจากนี้ ยังมีปลาคอต และปลาแมคเคอแรล ส่วนเมอร์อัลลายแอนซ์เชี่ยวชาญเรื่องแซลมอนรมควันกับอาหารแช่เย็นรมควัน หรือ chill smoke ซึ่งเดิม MW Brands มีแต่สินค้าประเภท shelf stable
นอกจากนี้ ยังมีการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยดูแลทั้งซัพพลายเชนในการหาวัตถุดิบมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สามารถดูรหัสข้างกระป๋องของจอห์นเวสต์แต่ละกระป๋อง ซึ่งมีข้อมูลว่าปลาในนั้นมาจากที่ไหนเพื่อเป็นการตรวจสอบย้อนกลับได้จริงๆ ยิ่งกว่านั้นคือการที่ MW Brands ต้องการเน้นเรื่องความยั่งยืน จึงจับมือกับ WWF ที่ฝรั่งเศส ทำสัญญา 4 ปีเพื่อคัดสรรซัพพลายเชนของกลุ่มอาหารทะเล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดูแลปลาไม่ให้สูญพันธุ์และมีความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล
ปัจจุบัน MW Brands มียอดขายรวม 846 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของทียูเอฟซึ่งมีรายได้รวม 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไรเพิ่มขึ้น 10% ส่วนในปี 2015 คาดว่าจะมียอดขายเติบโตเพียง 1-2% เพราะการส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรและเงินบาท ราคาวัตถุดิบปลาที่มีความผันผวน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในธุรกิจนี้ทุกปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในยุโรปมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ขณะที่ เกอร์ อานเน่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิง ออสการ์ จำกัด ผู้ผลิตปลากระป๋องในประเทศนอร์เวย์ ภายใต้แบรนด์คิงออสการ์ แบรนด์อันดับหนึ่งในผลิตภัณฑ์ปลาซาร์ดีนระดับพรีเมียมในนอร์เวย์, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่มีอายุกว่า 140 ปี กล่าวว่า คิงออสการ์เป็นผู้ผลิตปลาซาร์ดีนคุณภาพสูงจำหน่ายใน 18 ประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนานจึงผูกพันกับลูกค้าอย่างมาก มีโรงงานทันสมัยอยู่ในโปแลนด์และนอร์เวย์ และเป็น 1 ใน 10 แบรนด์อาหารทะเลที่แข็งแกร่งของโลก
โดยตลาดหลัก 1 ใน 3 ของยอดขายหรือ 33% อยู่ในสหรัฐอเมริกา รองลงมามีสัดส่วน 20% ในโปแลนด์ และ17% ในนอร์เวย์ และส่วนที่เหลืออยู่ที่ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้, ยุโรปตะวันออก, ฝรั่งเศส และเบลเยียม สำหรับสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีซาร์ดีน 56% แมคเคอแรล 18% ตับปลาคอด 10% และทูน่า 7% และอื่นๆ 9% คิงออสการ์ผลิตภายใต้แบรนด์ตัวเอง 60% อีก 37% รับจ้างผลิตและติดแบรนด์ของลูกค้า ที่เหลือ 3% ผลิตให้เฮาส์แบรนด์ของห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เช่นWalmart ,Costco ,DKSH ,Carrefour ,TESCO เป็นต้น 6 เดือนที่ผ่านมามียอดขายเติบโต 6% ความท้าทายในวันนี้คือหนึ่ง-จะหาสินค้าอะไรที่ถูกใจผู้บริโภค และทำให้ซื้อ สอง-จะทำอย่างไรให้สินค้าของคิงออสการ์ที่ขายมาแล้วร้อยกว่าปียังขายได้ในอนาคต
การควบรวมกิจการกับไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จะก่อให้เกิดผลดีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความคล่องตัวมากขึ้นในการจัดหาวัตถุดิบต่างๆ ร่วมกันเพื่อลดต้นทุน เช่น น้ำมัน กระป๋อง ปลา มะเขือเทศ เป็นต้น การเชื่อมโยงด้านซัพพลายเชน การตลาด การขาย การกระจายสินค้า ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการหาตลาดใหม่ๆ เช่น นำสินค้าของทียูเอฟที่ขายในไทยมาติดแบรนด์คิงออสการ์ และเปิดตลาดนำร่องในนอร์เวย์ ขณะเดียวกัน จะนำผลิตภัณฑ์ของคิงออสการ์มาเปิดตลาดในเอเชีย เช่น กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ในต้นปีหน้า
คิงออสการ์เติบโตมาอย่างยาวนานด้วยการบริหารธุรกิจและทรัพยากรต่างๆ รวมทั้ง วัตถุดิบในการผลิต โดยใช้หลักการบริหารอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น วิธีการหาปลา ฯลฯ ส่วนการที่คิงออสการ์มีการเปลี่ยนเจ้าของหลายครั้งตลอดเส้นทางธุรกิจกว่าร้อยปี เพราะหลักยึดขององค์กรอยู่ที่การได้อยู่กับเจ้าของที่ต้องการทำให้แบรนด์เติบโต เช่นเดียวกับการได้มาอยู่ภายใต้ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปในวันนี้ และมั่นใจว่าหลังจากได้ร่วมกันผนึกกำลังอย่างเต็มที่ ใน 3 ปีข้างหน้า รายได้ของคิงออสการ์จะเติบโตอย่างน้อยปีละ 15% และจะเติบโตเป็นเท่าตัวตามนโยบายของไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปภายในปี 2020