xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้าเป็นคนมีอัตตาสูง จะอยู่กับคนแบบนี้อย่างไรดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป
Q : ผมเป็นหัวหน้าระดับกลาง หัวหน้าโดยตรงของผม เป็นคนมีอัตตาสูง เมื่อลูกน้องมีความคิดเห็นโต้แย้ง จะพูดเสียงดังกลบและ จะดังขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าลูกน้องจะหยุดพูด เขาเป็นคนที่เกิดในยุค Baby Boomer ใกล้เกษียณแล้ว ไม่ค่อยสื่อสาร เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงาน ต้องอาศัยถามจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องประชุมเดียวกันแทน เวลาคุยกันเรื่องงาน ก็มักไม่มีความเห็นอะไร แต่พอเข้าที่ประชุม เพื่อเสนอผู้บริหาร ก็จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้งและ ตำหนิลูกน้อง ต่อหน้าผู้บริหารอยู่บ่อยครั้ง ระยะหลังๆ ผู้บริหารระดับสูงหลายท่าน ก็ข้ามมาสั่งงานโดยตรงกับผม ซึ่งทุกครั้ง ก็พยายามรายงาน ให้หัวหน้าทราบ แต่ถ้าไม่จำเป็น ผมจะไม่คุยเลย อะไรที่ผมไม่เห็นด้วย ถ้าเขาอยากให้ทำ ผมก็ทำตามนั้น เพราะเขาต้องเป็นคนนำเสนอ

ตอนนี้ไม่พยายามหาเหตุผล ว่าทำไมหัวหน้า จึงเป็นคนเช่นนั้น แต่อยากได้คำแนะนำ ว่าจะอยู่กับคนแบบนี้อย่างไร ให้ได้งาน ก่อนที่เขาจะเกษียณไปในสิ้นปีหน้า

A: คงเคยทราบบ้างแล้วว่า สมองของมนุษย์มี 4 ส่วน คือ นอกจากสมองด้านซ้ายและ สมองด้านขวา ยังมีสมองด้านหน้า กับด้านหลังอีกด้วย

สมองด้านหน้า มีขนาดเล็กและ มีกำลังน้อยกว่า ทำหน้าที่คิดและ ใช้เหตุผล ส่วนสมองด้านหลัง มีขนาดใหญ่และ มีกำลังมากกว่า ทำหน้าที่จำและ ใช้อารมณ์ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น สมองด้านหลัง จะควบคุมการทำงาน ของสมองส่วนหน้า จึงทำให้ส่วนที่ใช้เหตุผล ไม่ทำงาน ดังนั้นข้อแนะนำแรก คือ ระหว่างที่หัวหน้ากำลังใช้อารมณ์ อย่าพยายามอธิบายเหตุผล เพราะสมองส่วนนั้นไม่ทำงาน ให้เงียบๆ เฉยๆ ไม่ต้องตอบรับ หรือปฏิเสธ ปล่อยให้เวลา ช่วยสงบสติอารมณ์ของเขา หากต้องการอธิบายเหตุผล จงรอให้สมองส่วนหน้า เริ่มต้นทำงานเสียก่อน

เท่าที่เล่ามา ฟังดูแล้วคงเปลี่ยนนิสัย หรือพฤติกรรมของหัวหน้าคนนี้ได้ยาก ดังนั้นเห็นด้วยว่า โฟกัสที่การอยู่ร่วมกับเขา ให้เรามีความสุขมากขึ้นและ ทำงานได้สำเร็จ ก็พอแล้ว (ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป ก็คงไม่ค่อยแฮปปี้ กับพฤติกรรมของหัวหน้าท่านนี้ เท่าใดนัก แต่คงเห็นว่าอีกไม่นานก็เกษียณ จึงได้แต่รอเวลา)

ทำตามนี้ละกัน

1. หาโอกาสพูดคุยกับหัวหน้า ลำดับถัดไปให้มากขึ้น บอกความรู้สึก อย่างที่เล่าให้ผมฟัง แล้วขอคำแนะนำว่า ควรวางตัวอย่างไรดี

2. ประเด็นเรื่องไม่สื่อสารข้อมูล ที่ได้จากการประชุม คงต้องสอบถาม จากเพื่อนรอบข้างหรือหัวหน้างานท่านอื่นๆ แทน หากเป็นไปได้ สอบถามจากหัวหน้า ลำดับถัดไปด้วยก็จะเป็นการดี

3. ไม่ต้องคุยกับเขามากก็ดีแล้ว การที่เขาเป็นอย่างนี้กับทุกคน (ถึงแม้จะเป็นกับคุณมากหน่อย) ย่อมแสดงให้เห็นว่า “นี่คือตัวตนของเขา” ดังนั้นไม่ต้องกลุ้มใจ เขาเป็นของเขาอย่างนี้แหละ

4. หากคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ให้คนอื่นไปคุยแทนบ้าง บางทีปัญหาเรื่อง “ศรศิลป์ไม่กินกัน” ก็ยากจะอธิบายด้วยเหตุผล เพราะมันเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ

5. อย่ายุติที่จะสื่อสาร แต่ให้ใช้การเขียนอีเมล์และ สำเนาผู้ที่เกี่ยวข้อง (cc) แทนการพูดคุยด้วยวาจา

6. อย่าพยายามคิด ที่จะเอาชนะเขา เพราะคนอย่างนี้ คงไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี ให้กับใครง่ายๆ อัตตาของเขาใหญ่มาก หากเสนอความคิดเห็นแล้ว หัวหน้าไม่ฟัง จะเอาตามที่ตนเองคิด ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เขาต้องรับผิดชอบ ก็ทำไปเลยตามนั้น แต่หาทางบอกผู้ที่เกี่ยวข้องแบบอ้อมๆ โดยเฉพาะหัวหน้าลำดับถัดไปว่า ความคิดของเราแตกต่างจากของเขาตรงไหน อย่างไรก็ตามบอกด้วยว่า ที่ทำตามเพราะคิดว่าเป็นเรื่อง "วินัยที่ผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งแม้ไม่เห็นด้วย” จะได้ดูดี

7. ถ้าจำเป็นต้องพูด พูดกับเขาดีๆ แสดงให้คนอื่นเห็นว่า เรามีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ที่เป็นผู้ใหญ่กว่า แม้หัวหน้าจะมีอายุมากกว่าก็ตาม อย่าทะเลาะ หรือโต้เถียงกับเขา เพราะไม่นานหัวหน้าคนนี้ก็เกษียณ แต่ภาพพจน์ของเราจะอยู่ไปอีกนาน คิดซะว่าเขาเป็นคนแก่ ที่น่าสงสาร เพราะกำลังรู้สึกว่า ตนเองจะหมดอำนาจ เลยต้องเรียกร้องความสนใจและ แสดงให้เห็นว่าตนเองสำคัญ

ลองดูนะครับ ขอให้อดทน

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut.p@slingshot.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น