Q : หลังจากที่ลูกเรียนจบปริญญา ตามที่ตั้งใจ ดิฉันก็ให้ลูกมาทำงาน กับพ่อของเขาในบริษัทของครอบครัว เพื่อวางแผนให้สืบทอดธุรกิจในอนาคต แต่ลูกกลับไม่สนใจ พอพ่อสั่งงานไป ก็เอื่อยเฉื่อย ไม่สนใจเรียนรู้และ ทำงานให้ทันกำหนดส่ง แต่ละวันจบลงด้วยเสียงบ่นของพ่อ หลังเลิกงาน บรรยากาศในบ้านก็แย่ บริษัทก็อึมครึม มีคำแนะนำมั้ยคะ
A : น่าเห็นใจครับ ต้องยอมรับว่า เรื่องแบบนี้เป็นปัญหาหนักอก ของหลายครอบครัว ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเพียง 30% อยู่รอดได้ถึงรุ่นที่ 2 และ ลดลงเหลือ 12% ที่รอดถึงรุ่นที่ 3 ส่วนที่ไปได้ถึงรุ่นที่ 4 มีเพียงแค่ 3% เท่านั้น
เชื่อไหมครับว่า ลูกจ้างหลายคน อยากเป็นเถ้าแก่ แต่ลูกเถ้าแก่หลายคน ไม่อยากทำงานที่บ้าน
ธุรกิจครอบครัวหลายแห่ง ไม่ได้มีปัญหาเรื่อง “มองไปข้างหน้า ธุรกิจไม่มีอนาคต” แต่เป็นปัญหาเรื่อง “มองไปข้างหลัง ไม่มีใครอยากทำต่อ”
อันที่จริง การปลูกฝังให้ลูกๆ หลานๆ และ ทายาทธุรกิจ รักและอยากสืบทอดกิจการ ต้องทำตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยอาศัยวิธี น้ำซึมบ่อทราย ให้มาคลุกคลีและ ช่วยทำงานทุกช่วงที่มีโอกาส เช่น ปิดเทอม เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรักและ ผูกพันชนิดค่อยๆ ซึมเข้าไปในสายเลือด
สำหรับกรณีที่ปรึกษามา ผมมีข้อแนะนำดังนี้
1. หาโอกาสพูดคุยกับลูก อย่างตรงไปตรงมา รับฟังความเห็นและ ความรู้สึกของเขา หลายครั้งพบว่า การที่เด็กรุ่นใหม่ ไม่อยากกลับมาทำงานที่บ้าน ไม่ใช่เพราะไม่อยากช่วย แต่เป็นเพราะรู้สึกว่าพ่อกับแม่ ยังเห็นตัวเองเป็นเด็กอยู่วันยันค่ำ ไม่มีอิสระในการคิดและ ทำอย่างที่ตัวเองเชื่อมั่น ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ให้เกิดประโยชน์ ฯลฯ ลองทำความเข้าใจปัญหาจากมุมมองของเขาและ หาทางปรับจูน วิธีการทำงานร่วมกัน ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้ว ลูกๆ ทุกคนก็อยากช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ถ้าทำได้
2. บางที การให้ลูกกลับมาช่วยกิจการที่บ้านเร็วเกินไป อาจกลายเป็นข้อไม่ดี เพราะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้งานและ วิธีคิดใหม่ๆ จากโลกภายนอก ได้แต่อาศัยเรียนรู้ จากพ่อแม่ซึ่งอาจไม่ทันสมัยแล้ว ลองตัดใจส่งไปเป็นลูกจ้างคนอื่นดูสัก 3 - 4 ปี ผมเชื่อว่า นอกจากจะได้ประสบการณ์ที่มากขึ้นแล้ว อาจทำให้ทัศนคติ ต่อการทำงานที่บ้าน เปลี่ยนไป ปล่อยให้พบกับความลำบากซะบ้าง อาจทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า “สบาย” เป็นอย่างไร
3. มองหามืออาชีพ มาช่วยงานก่อนสักพัก แล้วให้ทายาทเรา ไปเป็นลูกน้องของเขา บางทีเพราะความเป็นพ่อแม่ลูก การที่เห็นกันมานาน ความเชื่อฟังอาจมีน้อยลง ลองปล่อยให้เป็นลูกน้องคนอื่นบ้าง เขาอาจจัดการลูกเราได้ดีกว่า
4. แบ่งงานส่วนเล็กๆ ให้ทำ โดยให้ตัดสินใจได้เองและ ลองทำอย่างที่ตัวเองคิด อาจทำให้รู้สึก “มันส์ สนุก และอยากทำต่อ” ก็เป็นได้
5. ให้โอกาสทำในสิ่งที่สนใจและ อยากทำ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า ต้องช่วยงานที่บ้านด้วย หาทางตกลงกันได้แบบ Win-Win ก็ไม่ต้องบังคับฝืนใจและ ไม่มีใครต้องผิดใจกับใคร
ลองดูครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut.p@slingshot.co.th