xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทกำลังจะเลิกกิจการ จะทำยังไงดี โดย อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหาร สลิงชอทกรุ๊ป
Q : เมื่ออาทิตย์ก่อน มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท แล้วมีมติปิดกิจการ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ยังไม่แจ้งพนักงานและ ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปเหมือนปกติ ดิฉันในฐานะผู้บริหารระดับสูง รู้สึกงงกับการตัดสินใจครั้งนี้ จริงอยู่ ตนเองอยู่ในการประชุมครั้งนั้นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ ของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากบริษัทปิดตัว ทั้งในแง่กับพนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า

ส่วนตัวสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด ตอนนี้คือพนักงาน บางคนเพิ่งแต่งงาน กำลังสร้างครอบครัว บางคนเพิ่งคลอดลูก บางคนเพิ่งไปจองรถ บางคนเพิ่งซื้อบ้าน บางคนมีภาระเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัวที่ต้องดูแล ฯลฯ ดิฉันไม่รู้ว่าจะช่วยพนักงานเหล่านี้ได้อย่างไรดี ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

A : สถานการณ์เช่นนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะองค์กร ที่เป็นบริษัทข้ามชาติ หรือกรณีที่ธุรกิจหดตัว แม้จะฟังดูโหดร้าย แต่ก็อยากบอกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นกับบริษัทของคุณเท่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้ มีบริษัทลูกค้าของผมอีก 2-3 ราย ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้เช่นกัน

อยากให้คุณแยกอารมณ์ กับ เหตุผล ออกจากกัน ในส่วนของอารมณ์ ผมเข้าใจความรู้สึกของคุณและ พนักงานดี เพราะเคยอยู่ในสถานการณ์ ที่ต้องทำหน้าที่เลิกจ้าง พนักงานมาก่อน มันเศร้าและ สะเทือนใจมากอย่างบรรยายไม่ถูก

นอกจากนั้นก็ไม่อยากให้คุณ รู้สึกโกรธแค้นองค์กร เพราะเชื่อว่าผู้บริหารและ บอร์ดต้องพิจารณาและ ไตร่ตรองอย่างรอบครอบแล้วเช่นกัน ผมไม่ได้เข้าข้างองค์กร แต่เข้าใจความรู้สึกของเจ้าของกิจการและบอร์ดบริหารเป็นอย่างดี อยากให้ถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งบทเรียนของชีวิตการทำงาน หากตลอดชีวิตคุณ ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้เลย ก็จะไม่สมบูรณ์แบบ เจอเหตุการณ์แปลกๆ ที่หลากหลาย มีทั้งร้ายและ ดีจะทำให้คุณแกร่งและเก่งขึ้นครับ

คำถามสำคัญคือ จากนี้ไปควรทำอย่างไรดี

1. สำหรับเพื่อนๆ น้องๆ พนักงาน ที่พวกเขาต้องประสบชะตากรรม

- อย่าแสดงความเศร้าโศกเสียใจ กับพวกเขามากเกินไป คนเหล่านั้นตกอยู่ในสถานการณ์ “จิตตก”อยู่แล้ว หากคุณแสดงอารมณ์ให้เห็นอีก จะเป็นการตอกย้ำความช้ำใจ ดีที่สุดคือรับฟังและ ให้กำลังใจ

- หาโอกาสแนะนำงาน ในองค์กรอื่นให้พวกเขา เท่าที่จะเป็นไปได้

- แนะนำให้พวกเขา “เจียด” เงินที่ได้มาจากการเลิกจ้าง สักเล็กน้อยเพื่อลงทุนให้กับตัวเอง ด้วยการซื้อหนังสือหาความรู้ หรือเข้าสัมมนาเพื่อพัฒนาเรื่องใหม่ๆ จะได้เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อโอกาสมาถึง

- แนะนำให้พวกเขาติดต่อบริษัทที่ทำ Outplacement (บริษัทที่ช่วยคนถูกเลิกจ้างให้หา งานได้ โดยไม่ได้หางานให้ แต่แนะนำวิธีการและให้ความรู้) โดยพิมพ์คำว่า “บริษัท Outplacement ในประเทศไทย” ลงไปใน Google แล้ว ติดต่อไป

- แนะนำให้พวกเขา ติดต่อบริษัทจัดหางาน โดยพิมพ์คำว่า “บริษัทจัดหางานในประเทศไทย” ใน Google แล้วส่ง Resume ไปให้บริษัทเหล่านั้นช่วยหางานให้

- บอกพวกเขาว่า หลายคนที่ตกงาน กลับได้ชีวิตใหม่ที่สดใสและ ประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม ถ้าไม่รู้จะหาตัวอย่างจากใคร ให้อ่านเรื่องราวของคุณศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ (เจ้าของศิริวัฒน์แซนวิช) ที่ http://thaipublica.org/2012/11/series-15-year-crisis-siriwat-1/

2. สำหรับตัวคุณเอง

- อย่าคิดว่างานใดๆ จะมั่นคง ปัจจุบันแม้ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นตำรับของการจ้างงาน ตลอดชีวิต (Lifetime Employment) ยังเลิกจ้างพนักงานเลย นับประสาอะไรกับเรา คุณทราบไหมครับว่า 'ความมั่นคงในการทำงาน' ถูกลบอออกจากพจนานุกรมของลูกจ้างไปนานแล้ว

- เตรียมตัวให้พร้อมไว้เสมอ หาความรู้ใส่ตัวเป็นประจำ อย่างที่ทำอยู่นี้ ดีมากๆ แล้ว ขอชมเชย หากมีโอกาส สละเงินสักเล็กน้อยในทุกๆ ไตรมาส ไปซื้อหาคอร์สอบรมที่ตนเองสนใจ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทำให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

- นำ Resume ของตนเองมาปัดฝุ่น เขียนบางอย่างเพิ่มเติมเข้าไป ทำให้เป็นเอกสารที่พร้อมใช้ในทันที

- ในเวลาที่ยังเหลืออยู่นี้ ตั้งใจทำงานให้เต็มที่ เรื่องบางเรื่องกังวลมากไป ก็ทำอะไรกับมันไม่ได้ เวลาจะค่อยๆ บอกเราเองว่า “ควรทำอะไร” และ “ควรทำอย่างไร”

- รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนเก่าและนายเก่าไว้บ้าง หากระยะหลังๆ รู้สึกว่าชักห่างเหินเกินไป ก็ถือโอกาสโทรไปหาหรือกลับไปเยี่ยมเยียนบ้าง บางทีเวลาคับขันอาจได้ใช้

- เมื่อเวลาของเรามาถึง กลับไปดูคำแนะนำที่ให้กับคนอื่นข้างต้น เลือกบางข้อที่พอเป็นไปได้ มาทำ

แนะนำได้เท่านี้ หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์นะครับ

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com
กำลังโหลดความคิดเห็น