xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เร่งผลิตนักวิจัย-งานวิจัยระดับชาติ มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ แข่งเวทีโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกว.เร่งผลิตนักวิจัยและงานวิจัยระดับชาติ เดินหน้าให้ทุนสนับสนุนต่อเนื่อง เผยปี 2557 คัดเลือกศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น 4 รายและเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 12 ราย หวังผลมุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในเวทีโลก

งานวิจัยถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยเพียง 9 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีจำนวนนักวิจัยมากกว่าประเทศไทย 10 เท่า
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.
ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. เปิดเผยว่า จากเหตุผลดังกล่าว สกว.จึงมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดงานวิจัย และบุคลากรทางด้านงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบงานวิจัย และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคต รวมถึง ต้องการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อที่จะต่อยอดและขยายผลเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการของประเทศให้ทัดเทียมและสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

สกว.ให้การสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย โดยยกย่องให้ผู้รับทุนดังกล่าวเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” และ “ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น” ทั้งนี้ สำหรับ “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.”ไม่ได้เปิดให้มีการสมัคร แต่ใช้วิธีการสรรหา และเสนอชื่อโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะพิจารณาจากรายชื่อกลุ่มต่างๆ เช่น รายนามศาสตราจารย์ในประเทศไทย รายนามนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รายนามนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รายนามผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของวิทยาลัยต่าง ๆ รายนามคณาจารย์ที่มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ รวมทั้ง การเสนอชื่อจากคณบดีทุกมหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทั่วประเทศ

หลังจากนั้น สกว.จะเชิญให้เขียนข้อเสนอโครงการฉบับเต็มเพื่อส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินก่อนทำสัญญารับทุน สำหรับในปี พ.ศ. 2557 มีผู้ได้รับการยกย่องเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จำนวน 12 ท่าน

ขณะที่ “ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น” จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น ให้ได้มีโอกาสพัฒนาและผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูง หรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติ หรือสร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ สนับสนุนศาสตราจารย์ระดับแนวหน้าที่มีผลงานวิจัยระดับชาติหรือระดับนานาชาติ ให้สามารถพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2557 มีผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น จำนวน 4 ท่าน

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวอีกว่า คุณสมบัติของ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. นั้นสำคัญที่สุดคือ ต้องมีการสร้างทีมวิจัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ หรือจดสิทธิบัตร รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาและ/หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและมีทิศทางที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เกิดงานวิจัยแบบมุ่งเป้า (Target-based Research) ที่นำไปสู่การแก้โจทย์ที่เป็นปัญหาเร่งด่วนและ/หรือเป็นความได้เปรียบของประเทศมากขึ้น และเพิ่มการเชื่อมโยงกับนักวิจัยทั้งภายในและภายนอก

สำหรับศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น เป็นศาสตราจารย์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว และปฏิบัติงานเต็มเวลาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย เป็นผู้ที่มีผลงานที่มีคุณภาพสูงสามารถสร้างผลกระทบต่อวงการวิชาการหรือสังคม มีผลงานด้านการวิจัยในสาขาที่เชี่ยวชาญในระดับแนวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติหรือระดับนานาชาติ และมีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ที่สำคัญควรได้รับรางวัลในระดับชาติหรือนานาชาติ หรือผ่านการรับทุนวิจัยหลักอื่น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นนักวิจัยในระดับแนวหน้าในสาขานั้นอย่างแท้จริง รวมถึงต้องเป็นผู้ที่มีประวัติอันดีงามในด้านของจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ไม่มีตำแหน่งบริหารตั้งแต่ระดับคณบดีขึ้นไปในขณะรับทุน และไม่รับทุนวิจัยหลักอื่นๆ เพื่อให้มีเวลาที่จะทุ่มเทให้กับงานวิจัยในโครงการอย่างเต็มที่มีประสบการณ์ในด้านบัณฑิตศึกษา สามารถสร้างกลุ่มวิจัย และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ เป็นต้น

“วันนี้ประเทศไทย ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนักวิจัยเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลควรมองในแง่ของการลงทุนบุคคลากรระดับหัวกะทิ ซึ่งเป็นมันสมองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้า เทียบเท่านานาชาติ ซึ่งความเป็นจริงประเทศไทยมีนักวิจัยเก่งๆ จำนวนมาก และพร้อมที่จะคิดค้นศึกษาองค์ความรู้ใหม่ต่างๆ เพื่อประเทศจำนวนมาก เพียงแต่รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เป็นหัวเรือในการนำพาประเทศให้เจริญรุดหน้า จะต้องช่วยกันในการส่งเสริมสนับสนุน สร้างองค์ความรู้ เพื่อนำพาประเทศไปสู่การแข่งขันกับต่างประเทศในอนาคตได้อย่างภาคภูมิใจ ”

ผู้อำนวยการ สกว. เชื่อมั่นว่าทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและเมธีวิจัยอาวุโส สกว. จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลิตองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางวิชาการ นำไปต่อยอดหรือก่อประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะสร้างความแข็งแรงให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ปี 2557 มี 4 ท่าน ได้แก่ 1.ศ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกวิทตรพงศ์ สาขาประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 2.ศ.ดร.นทรทิพย์ กฤษณามระ สาขาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 3.ศ.นพ.ภิเศก ลุมภิกานนท์ สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา 4.ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ สาขาเคมีอินทรีย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมธีวิจัยอาวุโส กลุ่มงานวิจัย ปี 2557 มี 12 ท่าน ได้แก่ 1.ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล สาขาเคมีวิเคราะห์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ สาขาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน สาขาประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.ศ.ดร.ประยุทธ อัครเอกฒาสิน สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 5.ศ.ดร.สุเมธ ชวเดช สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6.ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

7.ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล สาขาไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล 8.ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ สาขาชีวเคมีทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 9.ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10.รศ.น.สพ.ดร.อลงกร อมรศิลป์ สาขาสัตวแพทยสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 11.รศ.ดร.พูนสุข ประเสริฐสรรพ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 12.ศ.ดร.นพ.นรัตพล เจริญพันธุ์ สาขาสรีรวิทยา
กำลังโหลดความคิดเห็น