Q : ผมทำงานในองค์กรแห่งหนึ่งมา 30 ปีแล้ว เมื่อต้นปีได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นผู้บริหารหน่วยงานที่สำคัญ ซึ่งเป็นงานที่เคยทำมาก่อน แต่เมื่อเข้ามารับงาน กลับมีทั้งความสุขและความทุกข์ สุขที่ได้ทำงานที่ชอบ รวมทั้งเป็นงานสำคัญ ที่สามารถโชว์ความสามารถได้ แต่มีความทุกข์ตรงที่ ตัวเองเป็นคนไม่มี "ความสามารถ" ให้โชว์ และความ "ไม่เก่ง" นั้น ได้นำความทุกข์และ ความกังวลใจมาให้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมเป็นคน ไม่เก่ง ไม่ฉลาด ขี้ลืม ไม่รอบคอบ นำเสนอไม่เป็น ฯลฯ แต่ก็คิดว่าตัวเองมีข้อดีอยู่บ้าง คือ เป็นคนขยัน รับผิดชอบ ทุ่มเท มีอัธยาศัยดี และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เนื่องจากผมเป็นคนคิดมาก ขณะนี้รู้สึกทุกข์ใจและ กังวลอย่างมากจนเริ่มระแวงว่า จะเกิดวิกฤติศรัทธาจากลูกน้อง
A: ก่อนอื่นขอชื่นชมสัก 3 - 4 เรื่อง คือ
1. ชื่นชมที่กล้าเปิดใจ เล่าเรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ให้ฟัง
2. ชื่นชมที่กล้า วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง อย่างตรงไปตรงมา
3. ชื่นชมที่ยอมรับว่า ปัญหามาจากตนเอง โดยไม่ตีโพยตีพายโทษคนอื่น
4. สุดท้าย ชื่นชมที่เชื่อว่าตัวเอง ก็มีดีบางอย่าง
ผมทำงานกับผู้บริหารระดับสูงหลายคน ในหลายองค์กรและพบว่า มีลักษณะบางอย่างที่น่าสนใจคล้ายๆ กัน ดังนี้
1. ไม่มีใครเลยที่ไม่มีข้อเสีย
2. บางคนมีข้อเสีย มากกว่าข้อดีด้วยซ้ำ เพียงแต่ข้อดีนั้น ดีมากจนกลบข้อเสียไปหมด
3. ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ส่วนใหญ่เก่งสักอย่างสองอย่าง แต่เก่งมากจริงๆ
4. หลายคนเก่งงานสู้ลูกน้องไม่ได้ แต่รู้จักใช้คน
ดังนั้นผมขอแนะนำดังนี้ครับ
1. จะบอกให้หยุดคิดมาก ก็คงยาก ที่สำคัญเชื่อว่า คุณคงเคยพยายามทำมาแล้วในอดีต แต่ดูเหมือนไม่ค่อยเวิร์ค เพราะฉะนั้นแนะนำให้ไปซื้อหนังสือชื่อ "หนังยางล้างใจ" ของคุณวิสูตร แสงอรุณเลิศ มาอ่าน เผื่อจะช่วยทุเลาอาการเครียด เพราะคิดมากลงได้บ้าง หนังสือเล่มนี้ดีจริงๆ แนะนำให้ผู้บริหารหลายท่าน ที่ผมมีโอกาสโค้ช ได้อ่านแล้ว ไม่มีใครบอกผมว่า "ผิดหวัง" เลยแม้แต่คนเดียว
2. อย่าพยายามแข่งความเก่งกับลูกน้อง เพราะนอกจากจะมีโอกาสชนะยาก และต้องใช้เวลานานแล้ว ยังอาจทำให้คุณ ไม่ได้ใช้เวลาในการทำหน้าที่ ที่หัวหน้าควรทำอีกด้วย
3. พยายามพัฒนาจุดแข็ง ในเรื่องความเป็นคนอัธยาศัยดี เป็นกันเองและ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้โดดเด่นขึ้น อาจเริ่มต้นจาก อ่านหนังสือของเดล คาร์เนกี้ ซึ่งเป็นกูรูด้านการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ชื่อ "วิธีชนะมิตรและ จูงใจคน" แล้วนำเอาหลักการบางอย่าง ที่รู้สึกว่าพอทำได้ มาลองทำดู
4. จุดอ่อนส่วนใหญ่ ต้องใช้เวลานานในการแก้ไขและ ที่สำคัญจุดอ่อนหลายอย่าง ทำให้หมดไปได้ยากซะด้วย งานวิจัยของแกลลอป (Gallup) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก แนะนำแนวทางในการจัดการกับจุดอ่อน 4 วิธีได้แก่
4.1 พยายามพัฒนาความรู้และ ทักษะในเรื่องนั้นๆ ให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็อีกสักนิด
4.2 ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือแบบฟอร์มบางอย่างมาช่วย
4.3 หาคนที่มีจุดแข็ง หรือทำเรื่องนั้นได้ดีกว่ามาแบ่งเบา
4.4 เปลี่ยนงานไปทำอย่างอื่นที่มีโอกาสได้ใช้จุดแข็งมากขึ้น
ดังนั้น ลองเลือกแนวทางที่เหมาะสม มาใช้แก้ปัญหาเรื่องที่คุณยังทำได้ไม่ดี เช่น ยอมควักเงินส่วนตัว ไปอบรมทักษะการนำเสนอ ให้ลูกน้องที่ทำงานละเอียด ช่วยกรองงานบางอย่างให้ หรือ ทำเช็คลิสท์ (Checklist) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขึ้ลืม เป็นต้น
ลองดูนะครับ หวังว่าจะช่วยได้บ้าง