Q: ถ้าต้องเลือกระหว่าง การกลืนเลือดยอมเป็นผู้รับผิด เพื่อรักษาเจ้านายและ หน่วยงาน กับ ยืนหยัดในความถูกต้อง โดยอาจมีผลเสียกับเจ้านาย (ผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นความจริงคนละชุดกัน) จะมีแนวคิดและ แนวปฏิบัติอย่างไรดีครับ
A: ผมคิดว่าการจะตอบคำถามนี้ได้ดี จำเป็นต้องนำปัจจัยอย่างน้อย 2 อย่างนี้ มาพิจารณา
1. เรื่องที่ต้อง "กลืนเลือด" คือเรื่องอะไร หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ การกระทำที่ผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือหลักศีลธรรมจรรยาบรรณ อันดีงามของสังคม การยืนหยัดในความถูกต้องเป็นเรื่องที่สมควรทำ แม้จะมีผลเสียกับใครก็ตาม เพราะหากเราไม่ยึดความถูกต้อง ผลเสียอาจตามมามากกว่าในภายหลัง ก็เป็นได้ แนวทางแบบนี้มีให้เห็นมากมาย ตัวอย่างเช่น อดีต CEO ของบริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่นนาม Olimpus ออกมาเปิดโปงความไม่โปร่งใส ของคณะกรรมการบริษัท จนเป็นเหตุให้ตัวเองต้องถูกไล่ออก แต่สุดท้ายกลับชนะคดี ส่วนทีมกรรมการบริษัททั้งหมด ถูกกฎหมายเล่นงาน เป็นต้น ภาษาอังกฤษ เรียกวิธีการของคนเหล่านี้ว่า Whistle Blower หรือ "คนเป่านกหวีด" ในบ้านเมืองเรา ก็เริ่มมีคนใจกล้า ที่ตัดสินใจออกมา "เป่านกหวีด" เพื่อความถูกต้อง มากขึ้นเรื่อยๆ
2. ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเจ้านาย หากต้องยืนหยัดตามความถูกต้อง มันร้ายแรงเพียงใด และผลกระทบที่จะมีต่อคุณ หากยอมเป็นผู้รับผิดเอง มันมากมายขนาดไหน หากผลเสียที่มีต่อคุณ ไม่มากนัก ถ้ายอมรับผิด แต่ผลกระทบอาจมีมากกว่า ถ้าเจ้านายเป็นฝ่ายผิด แบบนี้การยอมรับผิดไปก่อน ก็อาจเป็นการ "สร้างบารมี" อย่างหนึ่งกับเจ้านาย แต่ถ้าผลกระทบมันกลับกัน เช่น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับคุณใหญ่โตมาก ในขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับเจ้านายไม่มากนัก แบบนี้การตัดสินใจเปิดเผยความจริง ก็อาจเป็นวิธีการที่เหมาะสม
หลังจากพิจารณาปัจจัยทั้ง 2 อย่างข้างต้นแล้ว จากนั้นจึงพิจารณาทางเลือกที่มี
1. ทางเลือกที่ 1 ยืดหยัดในความถูกต้อง ข้อดี คือ เป็นคนที่มีภาพลักษณ์ "ยึดมั่นในหลักการ" ไม่โอนเอียงไปตามกระแส เพราะเชื่อว่า "คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" แต่ข้อเสีย คือ คนอื่นอาจมองว่าเอาตัวรอด แปลกแยกจากเพื่อนฝูง และเป็นการสร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัว
2. ทางเลือกที่ 2 ยอมเป็นผู้รับผิด ข้อดี คือ ได้ใจคนที่ทำงานด้วย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยชีวิต ข้อเสีย คือ คนที่ทำผิดอาจไม่สำนึกและ ไม่คิดว่าการที่เรายอมรับผิด อันที่จริงเป็นการ "ออกรับแทน" เลยกลายเป็นทำบุญไม่ขึ้น ไปเสียฉิบ
3. ทางเลือกที่ 3 ซื้อเวลาไปก่อน โดยยังไม่พูดอะไร แล้วค่อยออกมาพูดคุย กับผู้ที่เกี่ยวข้องนอกรอบ ข้อดี คือ มีเวลาคิดไตร่ตรองให้รอบครอบและ มีโอกาสปรึกษาหารือกัน เพราะ "หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว" ข้อเสีย คือ เรื่องบางเรื่องอาจไม่สามารถซื้อเวลาได้ จำเป็นต้องตอบ "รับ" หรือ "ปฏิเสธ" ณ เวลานั้นเลย
4. ทางเลือกที่ 4 รับผิดคนละส่วน โดยยอม "กลืนเลือด" สักครึ่งอึกและ ชี้แจ้งเหตุผลเพื่อยืนยันในความถูกต้องบางส่วน ข้อดี คือ คนอื่นจะไม่รู้สึกเกลียดมากจนเกินไป เพราะไม่ได้เอาตัวรอดเพียงคนเดียว แต่มี ข้อเสีย คือ ข้อมูลบางอย่างถ้าไม่เปิดเผยให้หมด ยิ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปกันใหญ่
เรื่อง แบบนี้ มีทางออกอย่างน้อย 4 วิธีให้เลือก ไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งดีที่สุด สังเกตได้ว่าทุกๆ วิธีมีทั้ง "ข้อดี" และ "ข้อเสีย" ดังนั้นจงพิจารณาเลือก ทางเลือกที่ดีที่สุด ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ และ เมื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกใดแล้ว ก็ต้องยอมทั้งข้อดีและ ข้อเสียของทางเลือกนั้นๆ
ขอให้โชคดีครับ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com