เฮยกรุ๊ป เผยกลยุทธ์สร้างผลกำไรธุรกิจสายการบิน ต้องผสมผสาน 3 องค์ประกอบ ทั้งเชื้อเพลิง เครื่องบิน และทรัพยากรบุคคล
หากถามว่า “การบริหารทรัพยากรบุคคล” สำคัญหรือไม่คงไม่มีใครตอบว่าไม่สำคัญ เพราะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถ้าไม่มีคนเครื่องจักรก็ตั้งอยู่เฉยๆ แต่หากถามว่าสำคัญกับธุรกิจอย่างไร อาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน เนื่องจากแต่ละบริษัทหรือแต่ละธุรกิจมีปัจจัยที่แตกต่างกัน รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ด้านอื่นๆ ระดับการเข้าถึงหรือใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี เครื่องจักร และความรู้ที่แตกต่างกัน เป็นต้น
ทั้งนี้จากประสบการณ์ทำงานที่ปรึกษาในธุรกิจสายการบิน นายอริยะ ฝึกฝน ที่ปรึกษาบริหารของบริษัท เฮย์กรุ๊ป พบว่าธุรกิจสายการบินสามารถนำมาเปรียบเทียบความแตกต่างในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ชัดเจน เนื่องจากความคล้ายคลึงกันของเครื่องบิน(Boeing หรือ Airbus) การอยู่ภายใต้กฎการบินสากลที่เหมือนกัน รวมทั้งมาตรฐานต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน เป็นต้น ทำให้สามารถแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารทรัพยากรบุคคลในสนามการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมนี้ทั่วโลกได้
นายอริยะ เปิดเผยถึงความสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลของธุรกิจสายการบินว่า จากข้อมูลของ IATA พบว่าสายการบินที่มีประสิทธิภาพคือสายการบินที่สามารถปรับปรุงประสิทธิผลของต้นทุนหลัก 3 ส่วน ได้แก่ เชื้อเพลิง เครื่องบิน และทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ใน 40 กว่าปีที่ผ่านมาพบว่าจากข้อจำกัดในเชิงวิศวกรรม ประสิทธิภาพด้านเชื้อเพลิงและเครื่องบินสามารถปรับปรุงได้น้อยกว่า ในขณะที่การบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างสายการบินต่างๆ อย่างแท้จริง
จากการแข่งขันที่รุนแรงของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ส่งผลให้ผลประกอบการที่วัดโดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (%EBIT Margin) ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2552 มีค่าเฉลี่ยไม่ถึง 1% แต่ยังมีหลายสายการบินที่สามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถทำกำไรเฉลี่ยระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวเฉลี่ยมากกว่า 8% ทั้งนี้ ในปี 2557 มี 2 สายการบิน คือ Southwest Airlines และ Singapore Airlines ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน 1 ใน 20 บริษัทที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดในโลกหรือ World’s Most Admired Companies (WMAC) ซึ่งทำการสำรวจโดยบริษัท เฮย์กรุ๊ป ร่วมกับนิตยสาร Fortune
WMAC คือบริษัทที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการที่ดี 9 ด้าน คือ ความสามาถในการดึงดูดและรักษาผู้มีศักยภาพ คุณภาพการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ความมีนวัตกรรม คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ การใช้สินทรัพย์ของบริษัทอย่างชาญฉลาด สถานะทางการเงินที่เหมาะสม มูลค่าการลงทุนระยะยาว และประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในระดับโลก จนได้รับการชื่นชมจากพนักงาน
รวมทั้งผู้คนในบริษัทอื่นๆ รอบข้างทั่วโลก ซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารที่ดีดังกล่าวทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีตามไปด้วย ในตอนหน้านายอริยะจะเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจของสายการบินว่าแข่งขันกันด้วยอะไร ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบกับสายการบินต้นทุนต่ำจึงออกแบบระบบงาน และมีวิธีการบริหารทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกัน อันส่งผลต่อประสิทธิภาพการสร้างผลกำไรที่แตกต่างกันด้วย