xs
xsm
sm
md
lg

การจัดการองค์กรยุคใหม่ ต้องสร้างคุณค่าให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.อุตสาหกรรมโฉมใหม่ เปิดตัว“ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมกระทรวงอุตสาหกรรม” ปี 2557 ชูนโยบายการบริหารเชิงรุกมากกว่าตั้งรับกับปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ยึดหลักทำตามกฎหมาย มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม หนุนผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งเป้าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
ในช่วงที่มาบริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ระหว่างโรงงานและชาวชุมชน ทั้งเรื่องมลพิษทางน้ำ ทางเสียง ทางอากาศ และขยะมีพิษ ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่ดูแลโรงงานอุตสาหกรรมต้องเข้าไปเป็นคนกลาง เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงจึงต้องการให้โรงงานและชาวชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม โดยการจัดทำโครงการ“ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมกระทรวงอุตสาหกรรม” ปี 2557 โดยมีเป้าหมายให้โรงงานและชาวชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และมีความสุขอย่างยั่งยืน
การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมจะให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยดำเนินนโยบายทั้งในเชิงรุก และการป้องกันมากกว่าการตั้งรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ด้วยวิธีการส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมดำเนินการตามกฎหมาย มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ถูกต้องให้แก่ชุมชน สนับสนุนการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โดยมีหลัก“ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม”ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้สถานประกอบการและชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยการกำกับ ดูแล สนับสนุน รณรงค์ให้สถานประกอบใช้หลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปใช้ให้อย่างแพร่หลาย
ภายใต้กิจกรรมสร้างความยั่งยืนสถานประกอบการผ่านระบบธรรมาภิบาล พ.ศ. 2557 เป็นหัวใจในการบริหารจัดการองค์กรของธุรกิจสมัยใหม่ ที่เน้นการสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ ไม่มองผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือผลกำไรเพียงด้านเดียว แต่ต้องเน้นถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ตามหลักปรัชญาธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 7 หลักการ ได้แก่ 1.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน 2.การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของประชาชน 3.ความโปร่งใส 4.การรับผิดชอบต่อสังคม 5.หลักนิติธรรม 6.ความยุติธรรม และ7.ความยั่งยืน
ดร.วิฑูรย์ กล่าวว่า สำหรับในปี 2557 มีสถานประกอบการได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจำนวน 262 ราย จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปีนี้ ให้มีผู้ผ่านเกณฑ์รายใหม่ จำนวน 150 แห่ง จากรายเดิม จำนวน 1,000 แห่ง ประกอบด้วยจังหวัดในภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคเหนือ 11จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด
ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,250 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.75 ของจำนวนสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ และผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม นับเป็นตัวอย่างของการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริงระหว่าง 3 ภาคส่วนสำคัญ ทั้งจากภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
นอกจากนี้ ตั้งเป้าว่าจะให้หลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมได้มีการขยายผลไปสู่การปฏิบัติในสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำไปบูรณาการให้เข้ากับแนวทางปฏิบัติต่างๆ ซึ่งการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมไปใช้ในสถานประกอบการได้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะเป็นหลักประกันให้องค์กรสามารถอยู่ร่วมกันกับสังคม และชุมชนได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ จาก 54 จังหวัด ซึ่งแนวทางการดำเนินโครงการปี 2557 จะขยายผลการดำเนินงาน ภายใต้ชื่อ “ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม” เพื่อดำเนินการทั้งในพื้นที่เดิมและพื้นที่ใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การเริ่มดำเนินการ มีการเปิดเผยข้อมูล การเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การดูแลโรงงานและเฝ้าระวังภาคอุตสาหกรรมให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น