xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แนวโน้มผู้บริหารหญิงในอาเซียนเพิ่มขึ้น เหตุเป็นใหญ่ในบ้าน-ดูแลเรื่องเงินมาตลอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แกรนท์ ธอนตัน เผยผลสำรวจจำนวนผู้บริหารหญิง ชี้แนวโน้มยังคงเติบโต พบอาเซียนมี 3 ประเทศติด 6 อันดับแรกของโลก เพราะหญิงเอเชียเป็นใหญ่ในครอบครัวและดูแลเรื่องการเงินของบ้านมาตลอด ทั่วโลกเดินหน้าสนับสนุนผู้หญิงขึ้นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง
รายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติประจำปีของแกรนท์ ธอนตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) เผยผลสำรวจทั่วโลกถึงบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้บริหารพบว่า แม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก แต่ยังคงมีการสนับสนุนให้คณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการหลายอย่างในองค์กรที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเส้นทางอาชีพของผู้หญิง
ในปี 2557 นี้ สัดส่วนของนักบริหารหญิงทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 24 ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับปี 2556, 2552 และ 2549 และมีเพียงร้อยละ 5 ของประเทศที่เข้าร่วมสำรวจ มีจำนวนนักบริหารหญิงสูงกว่าร้อยละ 19 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 10 ปีก่อนหรือในปี 2547 โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ละภูมิภาคทั่วโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทีละน้อย
สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยมีถึง 3 ประเทศที่อยู่ใน 6 อันดับแรกของโลก ซึ่งประเทศอินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 2 มีสัดส่วนของนักบริหารหญิงถึงร้อยละ 41 ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 4 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 38 เพิ่มจากปีก่อนเล็กน้อย
“ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับประเทศไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้หญิงจะอยู่ในบทบาทของผู้บริหารระดับสูง ชาวเอเชียล้วนให้ความสำคัญกับครอบครัวอย่างมาก และผู้หญิงมักจะมีบทบาทสำคัญในบ้านมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน”
“ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป โลกธุรกิจมีการเติบโตขึ้น บทบาทเหล่านี้ได้กลายเป็นความคุ้นเคยสำหรับผู้หญิง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้หญิงในบทบาทของผู้บริหารในไทยจึงกลายเป็นข้อพิสูจน์ และสิ่งเหล่านี้ยังคงแผ่ขยายไปทั่วอาเซียน เช่นเดียวกับที่เราเห็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการในการจ้างงานมากขึ้น รวมถึง ความจำเป็นในการเพิ่มความคิดเห็นที่หลากหลายในที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง”นางสุมาลี โชคดีอนันต์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย ให้ความเห็น

ขณะที่ นางฟรานเชสก้า ลาเกอร์เบิร์ก หัวหน้าสายงานบริการด้านภาษีทั่วโลก แกรนท์ ธอนตัน กล่าวว่า คงไม่มีใครปฎิเสธว่าการแสดงความเห็นที่หลากหลายมากขึ้นจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในโลกธุรกิจการตัดสินใจที่ดีย่อมหมายถึงการเจริญเติบโตที่แข็งแกร่ง ดังนั้น องค์กรควรใส่ใจในการปูทางเพื่อส่งเสริมผู้หญิง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่กำลังศึกษาอยู่ไปจนถึงการก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหาร
ผลการสำรวจฯ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า กำลังมีการสนับสนุนให้มีสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 45 หรือเกือบ 1 ใน 2 ของผู้บริหาร อยากเห็นสัดส่วนคณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้หญิงในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ มากกว่าผลสำรวจในปี 2556 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 37 หรือ 1 ใน 3 เท่านั้น
จุดที่น่าสนใจคือการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยในสหภาพยุโรป จากร้อยละ 33 เป็นร้อยละ 41 ในปีนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRIC) ที่เพิ่มจากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 72 ขณะที่ ประเทศในแถบลาตินอเมริกา การสนับสนุนยังคงสูงคือร้อยละ 68 และเอเชียแปซิฟิคือร้อยละ 57 ส่วนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G7 มีผู้ให้การสนับสนุนร้อยละ 33
นางจุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการวาณิชธนกิจ แกรนท์ ธอนตัน ประเทศไทย กล่าวย้ำว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความสมดุลของสัดส่วนผู้บริหารระหว่างผู้ชายและผู้หญิง แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนของผู้บริหารหญิงเพียงร้อยละ 9 และอยู่ในอันดับสุดท้ายของผลสำรวจ
เห็นได้ว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้ถูกสำรวจต่างสนับสนุนการเพิ่มอัตราส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริหารหรือมีแผนจะส่งเสริมให้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูง ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับทีมบริหารที่มีความหลากหลาย

“เรื่องสัดส่วนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยังต้องถกเถียงกัน แต่อาจเป็นเรื่องดีที่เราได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงนี้ และองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีการผลักดัน โดยสามารถออกมาตรการที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง”
"จากผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1 ใน 5 ของนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าทำงานทั่วโลกเป็นผู้หญิง หากต้องการจะเห็นสัดส่วนจำนวนที่เหมาะสมของผู้บริหารหญิงในอนาคตจากนักศึกษาเหล่านี้ ควรเพิ่มโอกาสในการรับเข้ามาทำงานให้มากขึ้น ซึ่งก็มองว่าเป็นข้อดีสำหรับธุรกิจ เพราะการมีตัวเลือกผู้สมัครจำนวนมาก ย่อมหมายถึงโอกาสที่มากขึ้นในการจ้างผู้ที่มีความสามารถ ตลอดจนสิ่งอื่นที่อาจทำได้ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พนักงานที่อาจมีครอบครัวและกลายเป็นแง่ดี แม้ในอนาคต เช่น การยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงาน เป็นต้น แต่แม้จะเป็นสิ่งที่ดีก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เราอาจต้องพิจารณาการให้การสนับสนุนที่ชัดเจนสำหรับการช่วยดูแลเด็กด้วย หากยังอยากจะรักษาพนักงานผู้หญิงที่มีความสามารถเอาไว้”นางฟรานเชสก้า ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของนักธุรกิจในบริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับผลสำรวจในหัวข้อนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวน 6,700 รายทั่วโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2556 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 ที่ผ่านมา ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มตัวอย่างคือผู้บริหารระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส
สำหรับรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) เป็นการนำเสนอทัศนคติและความคาดหวังของกว่า 12,500 ธุรกิจจาก 45 กลุ่มประเทศเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยเป็นการสำรวจที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการนำผลการสำรวจจากปีที่ผ่านๆ มา รวมถึง 22 ปีจากหลายประเทศในยุโรปและ 11 ปีจากหลายประเทศนอกจากในทวีปยุโรป โดยนำมาจัดทำแนวโน้มข้อมูล
โดยบริษัทวิจัย Experian เป็นผู้จัดทำผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นหลัก ซึ่งแบบสอบถามซึ่งแปลเป็นภาษาของแต่ละประเทศ และนอกเหนือจากคำถามหลักแล้ว แต่ละประเทศสามารถเพิ่มเติมคำถามที่สำคัญหรือเจาะจงเกี่ยวกับประเทศตนเองได้ โดยการเก็บข้อมูลได้จัดทำทุกไตรมาส
กำลังโหลดความคิดเห็น