xs
xsm
sm
md
lg

Review: Sony Xperia Z Ultra บิ๊กเบิ้ม สเปกแรง แบตฯอึด หน้าจอเขียนได้ด้วยดินสอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ไม่น่าเชื่อว่าตลาดแฟบเล็ต (Phablet) หรือสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอใหญ่เกือบเท่าเท็บเล็ต (ขนาดหน้าจอเริ่มต้นตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ญี่ปุ่นอย่างโซนี่ก็กระโดดเข้าสู่ตลาดแฟบเล็ตกับเขาด้วย กับการส่ง Sony Xperia Z Ultra ลงมาสู้ศึกแฟบเล็ตกับขนาดหน้าจอ 6.4 นิ้วและสเปกสุดเทพ แรงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ณ ปัจจุบันนี้

การออกแบบ




Sony Xperia Z Ultra ถูกออกแบบตามแนวทาง OmniBalance Design คือเป็นสมาร์ทโฟนทรงแท่งสี่เหลี่ยมเรียบหรู วัสดุทั้งหน้าจอและด้านหลังตัวเครื่องทั้งถูกประกบด้วยกระจก Tempered glass แบบเดียวกับ Xperia Z ที่วางขายไปก่อนหน้านี้



สำหรับหน้าจอ Xperia Z Ultra มีขนาด 6.4 นิ้ว เป็นจอ TRILUMINOS Display แบบเดียวกับทีวีโซนี่รุ่นใหม่ๆ ส่วนพาเนลเป็น OptiContrast มาพร้อมเทคโนโลยีการแสดงผลภาพ X-Reality for mobile และ Sony Mobile BRAVIA Engine 2 ซึ่งโซนี่เครมว่าให้สีสดใสเหมือนจริงกว่าจอคู่แข่งทุกราย พร้อมความละเอียดหน้าจอ 1080p (342ppi) สามารถนำดินสอมาขีดเขียนใช้งานแทน Stylus เฉพาะได้ ส่วนกล้องหน้ามาพร้อมความละเอียด 2 ล้านพิกเซล (1080p)



ด้านปุ่มกดต่างๆ จะมาพร้อมกับระบบแอนดรอยด์ (ไม่ใช่ปุ่ม Touch Sensor หรือปุ่มสัมผัสจริง) ได้แก่ ปุ่มย้อนกลับ ปุ่มโฮม และปุ่มเรียก Recent Apps



ส่วนกล้องหลังจะมีความละเอียด 8 ล้านพิกเซล (3,104x2,328 พิกเซล) ไม่มีไฟแฟลชติดตั้งมาให้ เลนส์กล้องมีออโต้โฟกัส สามารถถ่าย HDR ได้ทั้งวิดีโอและภาพนิ่ง อีกทั้งยังมาพร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหว และเซ็นเซอร์รับภาพที่ใช้จะเป็น Sony Exmor RS for mobile

นอกจากนั้นบริเวณด้านหลังของ Xperia Z Ultra ยังเป็นที่อยู่ของระบบรับส่งข้อมูล NFC ด้วย




ด้านความบางของตัวเครื่องอยู่ที่ 6.5 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนัก 212 กรัม และตัวเครื่องสามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IP55/58 (พวกพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ สามารถปิดได้เมื่อไม่ใช้งาน) โดยสามารถกันน้ำลึก 1.50 เมตรเป็นเวลานาน 30 นาที




ด้านพอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่องจะพลิกดูรอบๆ ตัวเครื่องจะเห็นว่าทุกพอร์ตถูกปิดกันน้ำเข้าไว้ทุกพอร์ต ทำให้เวลาต้องการใช้งานพอร์ตต่างๆ หรือต้องการใส่ซิมการ์ดจะต้องแกะที่ปิดกันน้ำเข้าก่อน ยกเว้นช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรที่ไม่มีพลาสติกหรือจุกยางปิดกันน้ำเข้าไว้เพราะโซนี่บอกว่า "พอร์ตหูฟังน้ำสามารถเข้าออกได้ไม่มีปัญหากับระบบเครื่อง

สำหรับตำแหน่งพอร์ตต่างๆ เริ่มจากขวามือต่อจากช่องหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์และช่องใส่ MicroSD สำหรับเพิ่มความจุของพื้นที่เก็บข้อมูลภายในตัวเครื่อ (สูงสุด 64GB) ถัดมาเป็นสวิตซ์ปิด-เปิด-Sleep-Awake เครื่อง ถัดลงมาอีกบริเวณที่มือจับถืออยู่ในภาพจะเป็นปุ่มเพิ่ม-ลด ระดับเสียงเมื่อใช้งานทั่วไป ส่วนเมื่ออยู่ในโหมดถ่ายภาพปุ่มดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็น Digital Zoom สูงสุด 16 เท่า มาถึงด้านล่างสุดจะเป็นช่องใส่สายคล้องข้อมือ




มาอีกด้านหนึ่งด้านบนสุดจะเป็นช่องเชื่อมต่อ MicroUSB สำหรับชาร์จแบตเตอรีจากอะแดปเตอร์ไฟบ้าน/คอมพิวเตอร์รวมถึงใช้เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อโอนถ่ายข้อมูลต่างๆ ส่วนตรงกลางจะเป็นขั้วสำหรับเชื่อมต่อกับ Docking (ขายแยก)

ส่วนลำโพงกระจายเสียงจะถูกติดตั้งอยู่ตัวเดียวที่บริเวณสันเครื่องด้านล่างบริเวณที่ใส่สายคล้องข้อมือ

สเปก



ถือเป็นไม้ตายเด็ดพิชิตตลาดไฮเอนด์ได้อย่างดี เพราะ Sony Xperia Z Ultra เลือกใช้หน่วยประมวลผลที่ขึ้นชื่อเรื่องความแรงติดอันดับต้นๆของโลกตอนนี้กับ Qualcomm Snapdragon 800 (MSM8974) แบบ Quad-Core ความเร็ว 2.2GHz บนสถาปัตยกรรม Krait 400 พร้อมกราฟิกชิป Adreno 330 แรม 2GB (ใช้ได้จริงประมาณ 1.8GB) พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 16GB รันบนระบบปฏิบัติการ Android Jelly Bean 4.2.2 และแบตเตอรีขนาดใหญ่ถึง 3,050 mAh



ในส่วนการรองรับเครือข่ายโทรศัพท์สำหรับรุ่นที่ขายในไทยจะรองรับ 3G ทุกเครือข่าย (850/900/1,700/1,900/2,100MHz) ส่วนรุ่นที่รองรับ 4G LTE ทรูมูฟ เอชจะนำเข้ามาขายในอนาคต และคาดว่าจะมีสเปกรองรับ 4G LTE แบบเดียวกับโมเดลที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ (LTE 700/850/900/1,700/1,900/2,100/2,600)

สำหรับสเปก Xperia Z Ultra อื่นๆ จะรองรับการเชื่อมต่อ WiFi (สามารถใช้งาน WiFi Hotspot ได้), NFC, Bluetooth 4.0, DLNA, MHL และรองรับ GPS GLONASS และ aGPS

UI และฟีเจอร์เด่น




โฮมสกรีน Xperia Z Ultra ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นโซนี่ UI ยุคใหม่ไว้ทั้งหมด แต่ด้วยหน้าจอความละเอียด FullHD1080 ทำให้มีพื้นที่วางไอคอนแอปฯ ต่อหนึ่งหน้าโดยเฉพาะโฮมสกรีนเหลือพื้นที่ให้จัดวางไอคอนแอปฯ ได้ตามสะดวกสบาย


แอปฯ Notes


แอปฯ Sketch

ส่วนในหน้าแอปพลิเคชัน แอปฯที่ติดตั้งมาจากโรงงานก็มีให้เลือกใช้ถึง 1 หน้าครึ่งไม่ว่าจะเป็น Sociallife, Facebook, OfficeSuite รวมถึงเกม Temple Run 2 และแอปฯ เฉพาะสำหรับ Xperia Z Ultra ก็คือ Sketch และ Notes สำหรับไว้นำคุณสมบัติดินสอจริงเขียนหน้าจอได้มาใช้วาดรูปผ่านแอปฯ Sketch ส่วน Notes ก็ไว้ใช้จดบันทึกสำคัญต่างๆ รวมถึงความสามารถในการบันทึกเสียงและอัปโหลดเข้าสู่ Evernote ได้ด้วย

นอกจากนั้นในหน้ารวมแอปฯ เมื่อผู้ใช้ปาดนิ้วจากขอบจอซ้ายมาขวาจะเป็นการเรียกเมนูลัดเช่น ค้นหาแอปฯ ที่ต้องการโดยใช้การพิมพ์ตัวอักษรลงไป ลบแอปฯ ที่ไม่ต้อง จัดเรียงแอปฯ ตามการใช้งาน เช่น เรียงตามตัวอักษร จัดเรียงแบบเลือกแอปฯ ที่ใช้งานบ่อยสุดไว้อันดับต้นๆ หรือเลือกชมเฉพาะแอปฯ ที่ติดตั้งเพิ่ม รวมถึงยังมีปุ่มลัดสำหรับถอนการติดตั้งแอปฯ ได้ด้วย



มาดูในหน้า Notifications ที่มาพร้อมปุ่ม Quick Settings ตามสมัยนิยมและสามารถเลือกเพิ่มปุ่มคำสั่งอื่นๆ เพิ่มเติมได้จาก Settings ตามต้องการ




ในส่วนหน้า Settings ถูกจัดหมวดหมู่พร้อมไอคอนมาอย่างชัดเจนเรียบร้อย อีกทั้งการเชื่อมต่อร่วมกับพีซี ทางโซนี่ได้ใส่ซอฟต์แวร์ไว้ในตัวสมาร์ทโฟน ทำให้เมื่อวินโดวส์เรียกหาไดร์ฟเวอร์ก็สามารถกดเรียกใช้งานและติดตั้งได้ทันที

นอกจากนั้นทางโซนี่ยังมีระบบ my Xperia ที่สามารถติดตามพิกัดเครื่อง ลบข้อมูล สั่งล็อคเครื่องได้เมื่อผู้ใช้ทำสมาร์ทโฟนหายผ่านหน้าเว็บ myxperia.sonymobile.com



และสำหรับสาวกโซนี่ที่มีอุปกรณ์มัลติมีเดียเสริมไว้ในครอบครองต้องถูกใจออปชัน Xperia Connectivity ที่อยู่ในหน้า Settings เพราะในส่วนนี้จะมาพร้อมความสามารถในการเชื่อมต่อร่วมกับอุปกรณ์โซนี่ที่มีอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็น Bravia Smart TV ก็สามารถใช้ความสามารถ Throw ในการโยนไฟล์จากสมาร์ทโฟนไปสู่หน้าจอทีวีได้ผ่าน DLNA รวมถึงคนที่มีสายต่อ MHL ของโซนี่ก็สามารถเชื่อมต่อ Xperia Z Ultra กับทีวีได้ผ่าน Screen mirroring

และผู้ชื่นชอบการเล่นเกมผ่าน Xperia Z Ultra ก็สามารถนำจอย DUALSHOCK 3 ของ PlayStation 3 มาเชื่อมต่อกันได้ผ่าน USB Adapter (ขายแยก)



ซึ่งเมื่อ Xperia Z Ultra เป็นแบรนด์โซนี่เต็มตัวเพราะฉะนั้นโซนี่ก็ขาดไม่ได้ที่จะใส่แหล่งรวมเกมของโซนี่ในชื่อ PlayStation Store มาให้ แต่น่าเสียดายรุ่นที่ทีมงานทดสอบยังมีปัญหาไม่สามารถเข้าใช้งานได้อยู่



มาถึง STAMINA Mode หรือโหมดจัดสรรพลังงานเพื่อความประหยัดและยืดอายุการใช้งานของสมาร์ทโฟน แน่นอนว่าโหมดนี้จะทำการปิด WiFi และ DATA Internet เมื่ออยู่ในโหมด Stand by แต่ผู้ใช้ก็สามารถสั่งเลือกให้เปิดใช้งานดาต้าเฉพาะแอปฯ ได้ ซึ่งก็มีบางแอปฯ ที่เมื่อเปิด STAMINA Mode แล้วเกิดปัญหา เช่น Tunein Radio ที่จะมีปัญหาแอปฯ ปิดตัวเองเมื่อฟังวิทยุไปได้สักพักหรือแอปฯ อื่นๆ ที่มีปัญหาจุกจิกอยู่บ้างต้องรอการอัปเดตแก้ไขต่อไป



มาดูในส่วนระบบปรับแต่งเสียงที่มาพร้อมแอปฯ WALKMAN กันบ้าง โดยความสามารถของแอปฯ Walkman ก็คือระบบปรับแต่งเสียงเพลง (Sound Enhancements) ที่ยกหน่วยประมวลผลเสียงจาก WALKMAN มาไม่ว่าจะเป็น ClearAudio+, Clear Phase หรือ xLOUD ใส่มาให้แบบจัดเต็มกันเลยทีเดียว




ส่วนแอปฯ Movies สำหรับใช้เล่นไฟล์วิดีโอที่ถึงแม้จะดูไม่มีลูกเล่นหวือหวาด้านการปรับแต่งระบบใดๆ ก็ตามแต่การแสดงผลของ UI เมื่อกดเข้าสู่หน้าแอปฯ Movie ก็มีความเก๋แบบหรูหรา เพราะแถบด้านบนที่เป็นส่วนหัวของแอปฯ จะมีการเรียกวิดีโอพรีวิวสั้นๆ ของแต่ละคลิปที่กดเล่นให้ดูก่อนเป็นภาพเคลื่อนไหว



มาดูในส่วนความสามารถที่ซ้อนเอาไว้บ้างกับ Small Apps ที่เป็นเหมือนการเรียกใช้งานแอปฯ แบบ Multitasking หลายๆ แอปฯ ในหน้าเดียวกัน โดยความสามารถนี้ถูกซ่อนไว้ที่ Recent Apps ตามภาพประกอบ อีกทั้งด้วยความรวดเร็วของซีพียู Snapdragon 800 การเปิด Small Apps จำนวนมากไม่มีอาการกระตุกให้เห็นแต่อย่างใด





มาถึงฟีเจอร์กล้องถ่ายภาพยังคงมีฟีเจอร์เด่นอย่าง Superior auto แบบเดียวกับ Xperia Z ไว้เหมือนเดิม นอกจากนั้นด้วยความสามารถของการถ่าย HDR ทั้งวิดีโอและภาพนิ่งทำให้การถ่ายภาพย้อนแสงได้รายละเอียดของภาพที่ชัดเจนขึ้น ส่วนการถ่ายวิดีโอก็รองรับระบบป้องกันภาพสั่นไหว สามารถถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุด 1080p



อีกทั้งการถ่ายภาพนิ่งยังรองรับ Picture effect แบบเรียลไทม์เช่น Nostalgic, Miniature, Vivid, Filter, Fisheye, Sketch, Partial color, Harris shutter และ Kaleidoscope



และนอกจากนั้นเมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกตกแต่งภาพได้ส่วน Editor ใน Gallery เช่น การปรับแสง สี คอนทราสต์ Curves ครอปรูปอัตราส่วนต่างๆ ไปถึงการใส่เพิ่ม Filter Effect สีสันแปลกตา



ในส่วน Gallery รูปจะเน้นการแสดงผลหลากหลายรูปแบบได้แก่ แบบที่ 1 เป็นภาพทั้งหมดโดยจะแสดงผลแบ่งเป็นวัน เดือน ปี แบบที่ 2 Maps จะแสดงภาพบนพิกัดแผนที่ที่เราไปถ่ายภาพมา แบบที่ 3 Globe หรือเป็นการแสดงภาพที่ถ่ายมาบนรูปโลก 3 มิติ สามารถหมุนเพื่อดูว่าภาพที่เราไปถ่ายมานั้นมีอยู่ที่ประเทศใดบ้าง สุดท้ายกับ Faces หรืออัลบั้มภาพที่ใช้ระบบตรวจจับใบหน้าวิเคราะห์ภาพบุคคลและจัดหมวดหมู่แยกเป็นแต่ละบุคคลให้อัตโนมัติ





สำหรับแอปฯ อื่นๆ ที่โซนี่ติดตั้งมาให้ภายในเครื่องก็ค่อนข้างครอบคลุมทุกการใช้งานอย่าง Sociallife ก็ช่วยรวม Social Network ของผู้ใช้เช่นเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันและเรียกเปิดอ่าน Timeline ต่างๆ ได้จากแอปฯ เดียวทันทีหรือแม้แต่ในส่วนของ TrackID ที่ทำงานคล้ายแอปฯ Shazam ซึ่งช่วยค้นหาเพลงที่เราไม่รู้จักจากการฟังเพลงนั้นร้องและแชร์ไปให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ผ่าน Social ต่างๆ เป็นต้น



มาถึงฟีเจอร์สำคัญก็คือหน้าจอที่สามารถนำดินสอไปขีดเขียนได้จริงไม่ต้องพึ่ง Stylus แบบแฟบเล็ตแบรนด์อื่น ซึ่งตรงจุดนี้ทีมงานได้ทดลองใช้งานแล้วพบว่าทำได้จริง แต่มีข้อแม้ว่าหัวดินสอที่จะทำการเขียนหน้าจอได้นั้นจะต้องไม่แหลมจนเกินไป (ยิ่งเป็นดินสอไส้ 2B ขึ้นไปยิ่งดี) ไม่เช่นนั้นหน้าจอจะจับการเขียนของดินสอไม่ได้

ในส่วนการตอบสนองต่อแรงเขียนรูปแบบต่างๆ ถือว่าทำได้แค่พอใช้เท่านั้น แน่นอนการใช้ปากกาในการกดแทนสัมผัสทำได้ดีแม่นยำ แต่เมื่อต้องใช้ร่วมกับการเขียนภาพจริงๆ พบว่าการตอบสนองจะดีเลย์และไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร โดยเฉพาะการลงน้ำหนักดินสอไปที่หน้าจอแล้วหน้าจอจับแรงกดได้ไม่ดีทำให้เกิดอาการลายเส้นที่กำลังขีดเขียนอยู่ขาดหายไปบ่อยครั้ง

สุดท้ายกับคีย์บอร์ดภาษาไทยเจ้าปัญหา 3 แถวในแบบของโซนี่ก็ยังคงถูกเลือกใช้ใน Xperia Z Ultra เหมือนเดิมพร้อมสร้างปัญหาสำหรับผู้ใช้งานหน้าใหม่ ถึงแม้ด้วยหน้าจอที่ใหญ่โตจนทำให้ต้องมีฟังก์ชันย่อคีย์บอร์ดให้มาอยู่ด้านในด้านหนึ่งของหน้าจอเพื่อสะดวกต่อการใช้งานมือเดียวก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วด้วยรูปแบบการวาง layout ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยน ทีมงานขอแนะนำให้ผู้ใช้ที่ไม่อยากให้ชีวิตลำบากจงไปหาดาวน์โหลดคีย์บอร์ดไทยใหม่เสียเถอะ

ทดสอบประสิทธิภาพ

ทีมงานเชื่อเหลือเกินว่าเพียงแค่ได้ยินชื่อของซีพียูที่ Xperia Z Ultra เรียกใช้หลายคนที่กำลังอ่านบทความรีวิวฉบับนี้อยู่ก็คงอยากเห็นประสิทธิภาพของ Snapdragon 800 ความเร็วแตะหลัก 2GHz กันแล้วว่ารวดเร็วขนาดไหน เพราะฉะนั้นทีมงานก็เลยถ่ายวิดีโอการทดสอบประสิทธิภาพ Xperia Z Ultra กับแอปฯ 3DMark แบบ Extreme มาให้ชมเพื่อจะได้ไขข้อข้องใจกันเสียที





ทดสอบที่ความละเอียดหน้าจอ FullHD1080 แบบ Extreme ผลสรุปออกมาว่าลื่นไหลยอดเยี่ยมครับนำติดอันดับ 1 แถมคะแนนยังนำ NVIDIA Shield ที่ขับเคลื่อนด้วย Tegra 4 ไปด้วยคะแนน 11,558 คะแนนสำหรับชุดทดสอบ Ice Storm Extreme ส่วน Ice Storm ธรรมดาทำคะแนนได้ 17,047 คะแนน




มาดูการทดสอบอื่นๆ กันบ้างไล่ตั้งแต่ Quadrant Standard กับคะแนนอันดับ 1 เช่นเดิม 21.028 คะแนนหรือแม้แต่ Vellamo ก็ทะลุเพดานติดอันดับ 1 เช่นกัน รวมถึงการทดสอบมัลติทัชหน้าจอก็ทำได้คะแนนสูงสุด 10 จุดพร้อมกัน

หรือการทดสอบผ่าน AnTuTu V3 เองก็ทำคะแนนได้สูงเวอร์ถึง 27,783 คะแนน เรียกได้ว่าซีพียู Qualcomm รุ่นนี้มีพลังเหลือเฟือที่จะใช้งานแอปฯ หรือเล่นเกม 3 มิติกราฟิกโหดๆ ในปัจจุบันได้แบบไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใด (ยกเว้นบั๊กของซอฟต์แวร์ที่ทำให้เกมเด้งออกเอง แฮะๆ)



อีกทั้งด้วยหน้าจอความละเอียดสูงคู่กับหน้าจอขนาดใหญ่ทำให้การอ่านข้อความในเว็บไซต์หรือ ebook สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา อย่างเช่นการรับชมเว็บ manager.co.th ที่ปกติจะมีปัญหาเรื่องฟอนต์มีขนาเล็ก แต่เมื่อเปิดรับชมผ่าน Xperia Z Ultra กลับพบว่าไม่เจอปัญหาดังกล่าง ตัวหนังสือค่อนข้างคมชัดและได้ขนาดตัวอักษรกำลังพอดี





มาลองทดสอบกล้องหลังกันบ้าง จากภาพจะเห็นว่าคุณภาพภาพนิ่งของ Xperia Z Ultra ทำได้แค่พอใช้เท่านั้น รายละเอียดของภาพไม่ค่อยดีเพราะภาพออกแนวภาพแตกๆ และถูกซอฟต์แวร์ทำให้คมชัด อีกทั้งการไม่มีไฟแฟลชติดตั้งมาให้ก็เหมือนเป็นนัยบอกว่า "โซนี่ Xperia Z Ultra ไม่เน้นกล้องถ่ายรูปเท่าใดนัก" ผู้อ่านที่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนผมว่าถึงขนาดผิดหวังกับคุณภาพแน่นอน



ส่วนการถ่ายวิดีโอ 1080p ส่วนนี้ยังถือว่าใช้ได้ ภาพมีความคมชัดพอสมควร และสำหรับคนชอบถ่ายวิดีโอใต้น้ำ ในรุ่น Xperia Z Ultra จะมีระบบช่วยแช่แข็งหน้าจอเมื่ออยู่ใต้น้ำ (หมายถึงหน้าจอจะไม่ตอบสนองใดๆ เมื่อถูกน้ำสัมผัส อารมณ์ประมาณเครื่องค้าง) ทำให้สามารถถ่ายวิดีโอได้ต่อเนื่อง และการออกจากโหมดถ่ายภาพดังกล่าวให้กดปุ่มถ่ายวิดีโอรัวๆ หรือกดปุ่มปิดเปิดหน้าจอย้ำๆ ระบบจะกลับเป็นเหมือนเดิม (แปลกดีแฮะ)



มาถึงการทดสอบช่วงสุดท้ายกับการทดสอบการบริโภคพลังงานแบตเตอรีที่หลายคนคงอยากทราบว่า แบตเตอรีใหญ่ 3,050mAh จะช่วยให้แฟบเล็ตหน้าจอ 6.4 นิ้วทำงานได้นานแค่ไหน ผมสงสัยคุณผู้อ่านสงสัย ผมจึงลงทุนนำซิมของผมมาใส่ใช้งานจริงร่วม 2 อาทิตย์ (เปิด STAMINA Mode ตลอด) ผลสรุปก็เป็นไปตามกราฟด้านบน

ปกติในหนึ่งวันผมจะเข้าใช้งาน Social Media ต่างๆ ค่อนข้างมาก และอาจมีเข้าเกมพวก Minion Rush เล่นบ้าง รวมถึงระหว่างทำงานทั้งวันผมจะเปิด Tunein Radio ทิ้งไว้เพื่อฟังเพลง (ปิด STAMINA Mode เพราะทำให้แอปฯ หยุดทำงาน) ก่อนจะจบตอนเย็นด้วยการไปนั่่งเล่น 4G LTE แถวๆ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เปิด STAMINA Mode) และทุกๆ ครั้งที่ผมกลับบ้านแบตเตอรีจะเหลือประมาณ 10-20% พร้อมเวลาที่ทำได้อยู่ที่ประมาณ 10 ชั่วโมง จะมีบางวันที่ผมขับรถบ่อยๆ ทำให้ไม่ค่อยได้เล่นอะไรนัก วันนั้นเวลาที่ทำได้จะพุ่งทะลุ 11-12 ชั่วโมงได้อย่างสบาย

สรุปเรื่องแบตเตอรีทน ถึก ใช้งานได้นานถึงหนึ่งวันแบบไม่ต้องชาร์จ ส่วนคนที่ชอบชาร์จไฟผ่าน Power Backup ผมขอแนะนำให้ใช้ขนาดเกิน 10,400mAh ครับ ไม่เช่นนั้นชาร์จครั้งหนึ่ง Power Backup หมดพลังแน่นอน

จุดขาย

- สเปกแรง Snapdragon 800 เป็นซีพียูขั้นเทพ ณ ปัจจุบัน
- จอสีสวย สีดำเป็นดำ และสีสันที่ได้ค่อนข้างธรรมชาติ แถมยังใช้ดินสอเขียนหน้าจอได้จริงๆ
- กันน้ำ กันฝุ่น
- มี NFC
- รุ่นรองรับ 4G LTE ถ้ารุ่นทรูขายเป็นไปตามสเปกที่ทีมงานนำเสนอ ถือว่า เป็นสมาร์ทโฟนที่รองรับเครือข่ายโทรศัพท์ที่ครอบคลุมที่สุดในตลาดไฮเอนด์
- วัสดุกระจกทั้งสองด้านให้ความหรูหราและดูดีมาก

ข้อสังเกต

- ถึงหน้าจอจะเป็นกระจกที่โซนี่บอกว่ากันรอยขีดข่วนได้ดีแต่จริงๆ แล้วเป็นรอยได้
- ลำโพงในตัวเครื่องให้เสียงที่แหลมๆ ไม่มีมิติ ไม่มีเบสและไม่เป็นสเตอริโอ
- กล้องหลังสเปก ซอฟต์แวร์ดูดี แต่คุณภาพธรรมดา
- ดินสอเขียนหน้าจอทำได้แค่ใช้เล่นๆ เท่านั้น ใช้งานจริงตอบสนองไม่ดี

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป



ถ้าจะบอกว่างานนี้พระเอกมันคือสเปกเทพ ซีพียู Snapdragon 800 กับการออกแบบตามแนวทางโซนี่คือ "พระเอกตัวจริง" ก็คงไม่ผิด เพราะมันลงตัวและแรงชนิดลื่นไหลแบบเดียวกับที่แอปเปิลทำกับสมาร์ทดีไวซ์ของแอปเปิลเองอย่างใดอย่างนั้น (ผมไม่ได้พูดเวอร์นะครับ) แถมดีไซน์ยังคงล้ำสุด และหน้าจอที่ให้สีสันสดใส เหมือนจริง สเปกและฟีเจอร์จัดเต็มก็ช่วยให้ Xperia Z Ultra มีสิ่งที่น่าค้นหาในตัวเองมากมาย

แน่นอนสำหรับขาแฟบเล็ตที่ชอบสมาร์ทโฟนขนาดใหญ่เพื่อเน้นใช้งานด้านมัลติมีเดีย เช่น เล่นเกม รับชมภาพยนตร์หรือแม้แต่อ่าน ebook หรือคิดจะซื้อมาใช้คู่กับเลนส์เทพโซนี่ผ่าน NFC (Lens-Style Cameras QX10 กับ QX100) คุณจะถูกใจ Sony Xperia Z Ultra ได้ไม่ยากเพราะสเปกระดับนี้แรงเกินทุกเกมทุกแอปฯ แน่นอนครับ

แต่ถ้าคิดจะซื้อมาเพื่อใช้งานในการวาดเขียนหรือจดบันทึกด้วยลายมือจริงๆ เพราะหน้าจอสามารถใช้ดินสอจริงเขียนได้ ส่วนนี้ผมต้องยอมรับตามตรงครับว่า "อย่าดีกว่าครับ" เพราะการตอบสนองอย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่ามันติดขัดเกินจะรับไหวสำหรับใช้งานจริงๆ จังๆ ณ ตอนนี้กับเป็นเฟริมแวร์ปัจจุบัน


สำหรับราคาขาย Sony Xperia Z Ultra (รุ่นรองรับเฉพาะ 3G อย่างเดียว) อยู่ที่ 21,990 บาท ส่วนรุ่น 4G LTE ต้องรอทรูมูฟ เอชนำเข้ามาขาย และอาจมีการบวกราคาเพิ่มประมาณ 1 พันบาท

Company Related Link :
Sony Mobile

CyberBiz Social



Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket Photobucket













กำลังโหลดความคิดเห็น