xs
xsm
sm
md
lg

เผยผลสำรวจแนวโน้มการขึ้นเงินเดือน - การจ่ายโบนัสปี 2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนและการจ่ายโบนัสในปี 2557 ชี้โดยเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย พบพนักงานระดับ Supervisory/Junior Professional มีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนสูงกว่าระดับอื่น คาดกลุ่มสาธารณูปโภคจ่ายโบนัสอันดับหนึ่ง 4.73 เดือน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม “น้ำมันและก๊าซ -สินค้าอุปโภคบริโภค - เคมีภัณฑ์”จ่ายเงินเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก ขณะที่อัตราการลาออกพอๆ กับปีก่อน โดยพนักงานระดับปฏิบัติการมากที่สุด

บริษัท เฮย์กรุ๊ป สำรวจองค์กรชั้นนำในประเทศไทยกว่า 200 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อศึกษาถึงนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน อัตราการขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัส และการคาดการณ์แนวโน้มในปีหน้า จากผลสำรวจพบว่า

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนแต่ละอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มโดดเด่นในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนในปีพ.ศ. 2557 สูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ร้อยละ 7.08 ตามมาด้วยกลุ่มสาธารณูปโภค (พลังงานไฟฟ้า) อยู่ที่ร้อยละ 6.91 และกลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่ที่ร้อยละ 6.64 เนื่องด้วยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสายอาชีพเฉพาะทาง

ทั้งนี้ แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในปี 2557 โดยเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย โดยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.13 ในขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ร้อย 6.18 ดังรายละเอียดในข้อมูล ตารางที่ 1

แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนตามระดับของพนักงาน

หากพิจารณาการขึ้นเงินแยกตามระดับของพนักงาน พบว่าพนักงานระดับล่างจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับบน โดยในปี 2557 กลุ่มพนักงานที่มีประสบการณ์ (Supervisory/Junior Professional) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับอื่น โดยอยู่ที่ร้อยละ 6.21 ดังรายละเอียดในข้อมูล ตารางที่ 2

แนวโน้มการจ่ายโบนัสในแต่ละอุตสาหกรรม

ในส่วนของการจ่ายโบนัสรวมประจำปี 2556 มีแนวโน้มว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับโบนัสสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค โดยอัตราการจ่ายอยู่ที่ 4.73 เดือน ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ 3.91 เดือน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ 3.66 เดือน ดังรายละเอียดในข้อมูล ตารางที่ 3

เปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละอุตสาหกรรม

จากผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมที่จ่ายเงินเดือน (Basic Salary) สูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ดังรายละเอียดในรูปภาพ ตารางที่ 4

อัตราการลาออกตามระดับของพนักงาน

อัตราการลาออกของพนักงานโดยเฉลี่ยในปี 2556 นั้นไม่แตกต่างจากปี 2555 โดยอัตราการลาออกของพนักงานยังคงอยู่ที่ร้อยละ 13 และพนักงานระดับปฏิบัติการ (Clerical/ Operations) ก็ยังคงมีอัตราการลาออกสูงที่สุด (ร้อยละ 13 ในปี 2555 และร้อยละ 14 ในปี 2556) ดังรายละเอียดในข้อมูล ตารางที่ 5

นโยบายการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน

หากพิจารณาการบริหารโครงสร้างเงินเดือนพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ ยังคงใช้โครงสร้างค่าตอบแทนรูปแบบเดียวสำหรับทุกตำแหน่งในองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรหลายแห่งเริ่มมีแนวโน้มการบริหารโครงสร้างค่าตอบแทนมากกว่า 1 โครงสร้างมาใช้ในองค์กร เช่น การบริหารเฉพาะสายงาน โดยเฉพาะสายงานที่มีการแข่งขันสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ องค์กรส่วนมากยังใช้เงินเดือนพื้นฐาน (Basic Salary) ในการบริหารค่าตอบแทน แต่ก็มีแนวโน้มว่าหลายองค์กรจะเปลี่ยนจากการมองแค่เงินเดือนพื้นฐาน มาเป็นการมองค่าจ้างค่าตอบแทนแบบโดยรวม (Total Remuneration)

เมื่อพิจารณาด้านนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทน แม้องค์กรส่วนมากจะกำหนดนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่ากลางเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด (P50) แต่พบว่าองค์กรหลายแห่งมีแนวโน้มกำหนดนโยบายการจ่ายมากกว่าค่ากลาง (P50 - P75) เนื่องจากตลาดการแข่งขันด้านอัตราค่าตอบแทนมีการแข่งขันสูงขึ้น ฉะนั้นหลายองค์กรจึงต้องการจะจ่ายค่าตอบแทนพนักงานสูงกว่าค่ากลางของตลาดเพื่อจะดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น