Q : เคยอ่านปัญหาต่างๆที่อาจารย์ตอบใน manger online ดิฉันมีปัญหาเกี่ยวกับตัวเองค่ะ คือเวลาที่ตั้งใจทำอะไรไปแล้ว สิ่งที่ทำลงไปจะผิดทุกครั้ง ไม่เคยถูกใจหัวหน้าเลย จนรู้สึกแย่ไม่อยากจะทำงานต่อไปแล้วค่ะ อาจารย์มีคำแนะนำให้ไหมคะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
A : คำถามนี้ตอบยากนะครับ เพราะไม่รู้ว่าที่ทำผิด นี่ผิดอะไร และที่สำคัญผิดเพราะไม่รู้ ผิดเพราะทำไม่เป็น หรือผิดเพียงเพราะไม่ถูกใจหัวหน้าเท่านั้น เอาเป็นว่าตอบแยกทีละปัญหาแล้วกัน
1. ถ้าผิดเพราะไม่รู้ - งั้นผมแนะนำว่าให้กล้าที่จะสอบถาม ไม่ต้องกลัวโง่ ถามคำถามโง่ๆ ดีกว่าทำผิดแบบโง่ๆ เมื่อถามแล้วให้จด จดแล้วนำกลับไปทบทวน ถ้าจำไม่ได้ ใหม่ๆ คงต้องใช้วิธีการท่อง เหมือนสมัยเรียนที่ถูกบังคับให้ท่องสูตรคูณ สมัยนั้นก็ไม่รู้ว่าจะท่องไปทำไม แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่าเป็นประโยชน์อย่างหาค่ามิได้เลยทีเดียวเชียว นอกจากนั้นจงเปิดใจให้กว้าง อย่าคิดว่า "รู้แล้วทุกเรื่อง" ผมมีพี่คนหนึ่งที่รู้จักกัน ทุกครั้งไม่ว่าใครพูดอะไร แกจะพูดคำว่า "รู้แล้วรู้แล้ว" จนติดปาก ระยะหลังๆ หลายคนเลยรู้สึกหมั่นใส้ ไม่มีใครอยากบอกอะไรแกอีก ครั้นพอพี่เขาเอ่ยปากสอบถาม ก็มีคนแซวว่า "อ้าว รู้แล้ว ไม่ใช่เหรอ" กลายเป็นคนทำผิดเพราะคิดว่าตัวเองรู้ แต่จริงๆ ไม่รู้ ไปเสียฉิบ
2. ผิดเพราะทำไม่เป็น - ความรู้เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เราทำงานได้ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เราใช้ "ทักษะ" มากกว่า "ความรู้" ในการทำงาน การสอน การบอก การอบรม ให้แค่ "ความรู้"กับเราเท่านั้น แต่ความรู้นั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็น "ทักษะ" ได้เลย หากขาดการฝึกฝนจนชำนาญ ยกตัวอย่างง่ายๆ ทำไมคนไทยเรียนภาษาอังกฤษมา 10 กว่าปี (ตั้งแต่ป.1 ถึง ม.6) แต่พูดภาษาอังกฤษไม่เอาถ่าน เพราะเราเน้นเพียงความรู้ในห้อง แต่ขาดการฝึกฝนอย่างจริงๆภายหลังจากการเรียนรู้ ดังนั้นหากทำผิดเพราะทำไม่เป็น นอกจากใฝ่หาความรู้แล้ว จงฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญจนกลายเป็นทักษะ
3. ผิดเพราะไม่ถูกใจหัวหน้า - ในชีวิตการทำงานต้องยอมรับว่า "ความถูกต้อง" กับ "ความถูกใจ" เป็นเรื่องใกล้เคียงกันมาก แยกลำบาก เรื่องนี้จึงยากเพราะค่อนข้างเป็นนามธรรมและขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน เอาเป็นว่าเราคงเปลี่ยนวิธีการและความเชื่อของเจ้านายไม่ได้ กลับมาคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ถูกใจนายคนนี้ (โดยไม่ผิดศีลธรรมและจรรยาบรรณ) น่าจะดีกว่า ข้อแนะนำคือเอาอคติของเรากองไว้ข้างๆ หยุดตั้งคำถามว่า "มันถูกต้องไหม" ศึกษาแนวทางและวิธีคิดของหัวหน้า เช่น เขาเป็นคนชอบฟังรายละเอียดก่อนข้อสรุปหรืออยากได้ยินข้อสรุปก่อนรายละเอียด เขาชอบที่จะฟังหรือชอบที่จะดูเอกสาร เขาต้องการข้อมูลมากหรือเอาแต่เนื้อๆ เป็นต้น ศึกษาสไตล์ของหัวหน้าแล้วปรับจูนให้ตรงกัน ใหม่ๆ อาจยอมโดนด่าบ้าง แต่ทุกครั้งที่ถูกต่อว่า ต้องได้เรียนรู้ เหมือนสมัยเด็กๆ ที่ผมเริ่มต้นทำงาน หัวหน้าคนแรกในชีวิตสอนว่าในการทำงาน "No Pain, No Gain" แปลว่า "ไม่เจ็บก็ไม่ได้เรียนรู้" แกยังพูดต่อไปอีกว่า "But someone always pain, never gain" หมายความความ แต่บางคนเจ็บตลอดเวลา (แปลว่าโดนด่าบ่อยๆ) แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นเมื่อทำผิด ถูกตำหนิ ต้องเรียนรู้และอย่าทำผิดซ้ำ สำหรับผม คิดว่าคนทำอะไรไม่ผิดเลยคงไม่มี ยกเว้นคนไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นการทำผิดไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่สิ่งที่รับไม่ได้คือทำผิดซ้ำๆ โดยไม่มีการแก้ไขอะไรนี่ซิ "รับไม่ได"้ ดังนั้นหากทำได้ไม่ถูกใจ ก็ศึกษาดูว่าสิ่งที่เรียกว่า "ถูกใจ"สำหรับหัวหน้า เป็นอย่างไร แล้วก็ทำตามนั้น จบ ง่ายๆ จริงไหมครับ
ลองดูครับ ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่อง อย่าลืมส่งข่าว
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
apiwut@riverorchid.com